วธ.ร่วมกับดีไซเนอร์ไทย แถลงเปิดตัวผลงานการออกแบบเครื่องแต่งกายผ้าไทย ในโครงการ “Contemporary Southern Batik by OCAC”

0
1290

จากความสำเร็จของโครงการผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้ เมื่อปี พ.ศ. 2561 กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ร่วมกับเหล่าแฟชั่นดีไซเนอร์ผู้มีชื่อเสียงของไทย ได้แก่ เอก ทองประเสริฐ, ธีระ ฉันทสวัสดิ์ และ ศรันรัตน์ พรรจิรเจริญ และนักออกแบบผลิตภัณฑ์ชาวไทยอีก 3 ท่าน ได้แก่ หิรัญกฤษฏิ์ ภัทรพิบูลย์กุล, ทรงวุฒิ ทองทั่ว และปฏิพัทธ์ ชัยวิเทศ ซึ่งเล็งเห็นถึงความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยในงานฝีมือและงานหัตถกรรมท้องถิ่นแถบชายแดนใต้ จึงได้เดินหน้าสานต่อจนเกิดเป็น ‘โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และออกแบบลายผ้าไทยร่วมสมัย ชายแดนใต้’ (Contemporary Southern Batik by OCAC) ขึ้นในปี พ.ศ. 2562

เพื่อต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นผ่านกระบวนการคิดสร้างสรรค์ มุ่งยกระดับผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาสู่ระดับสากล พร้อมจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวผลงานการออกแบบเครื่องแต่งกายผ้าไทยคอลเลกชั่นล่าสุดจากความร่วมมือของเหล่าแฟชั่นดีไซเนอร์รุ่นใหม่จากแบรนด์ EK Thongprasert (เอก ทองประเสริฐ), T-ra Chantasawasdee (ธีระ ฉันทสวัสดิ์), Sarunrat Panchiracharoen (ศรันรัตน์ พรรจิรเจริญ) และยังได้รับเกียรติจากดีไซเนอร์ผู้มีชื่อเสียงจากประเทศเพื่อนบ้านอีก 2 ท่าน ได้แก่ Eric Choong (เอริค ชุง) จากประเทศมาเลเซีย และ Edwin Ao (เอ็ดวิน อาว) จากประเทศฟิลิปปินส์ ร่วมกับนักออกแบบผลิตภัณฑ์อีก 2 ท่าน ได้แก่ Daniel Tseu (แดเนียล ซู) จากประเทศมาเลเซีย และ Nonita Respati (โนนิตา เรสปาตี) จากประเทศอินโดนีเซีย ผ่านการออกแบบที่เน้นความเรียบง่ายแต่พิถีพิถันในรายละเอียดของเทคนิค โดยถือเอาความงามและความละเมียดละไมของงานบาติกบนผืนผ้าทั้งหลายเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งคอลเลกชั่นนี้รังสรรค์ลวดลายบาติกบนผืนผ้าร่วมกับผู้ประกอบการบาติก 15 ชุมชน จาก 4 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส และสงขลา

อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม มอบหมายให้ นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานงานแถลงข่าวแทน และได้กล่าวว่า “จากความสำเร็จของ ‘โครงการผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้’ ทางกระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ได้เดินหน้าต่อยอดภูมิปัญญา ด้วยการจัดแสดงผลงานการออกแบบเครื่องแต่งกายผ่านนิทรรศการเชื่อมวัฒนธรรม วิถีชีวิต และอัตลักษณ์ของคนท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็น‘โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และออกแบบลายผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้’ (Contemporary Southern Batik by OCAC) ขึ้นในปีนี้ ซึ่งโครงการดังกล่าวได้ส่งนักออกแบบชาวไทย 6 ท่าน และนักออกแบบอาเซียนจำนวน 4 ท่าน ลงพื้นที่ศึกษาบริบทชุมชน การทำงาน และสร้างความคุ้นเคยกับผู้ประกอบการท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนใต้ โดยตลอดระยะเวลาของโครงการได้ผลักดันให้เกิดการพัฒนาลวดลายผ้าใหม่ๆ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคที่มีความหลากหลาย และออกแบบผลิตภัณฑ์จากผ้าร่วมกับกลุ่มชุมชนในพื้นที่ เพื่อให้ได้ชุดผลงานออกแบบเครื่องแต่งกาย ออกมาเป็น 51 ชุดผลงาน และผลิตภัณฑ์ 36 ชิ้น จากการพัฒนาลายผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้นี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย รู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสทำโครงการนี้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและประชาชนในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ อีกทั้งโครงการนี้ยังสามารถช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันยังขยายตลาดผ้าไทยออกสู่กลุ่มลูกค้าต่างชาติ จนผ้าบาติกไทยได้รับความนิยมในพื้นที่แถบอาเซียน รวมถึงญี่ปุ่น ฮ่องกง และไต้หวัน ถือเป็นการยกระดับผ้าบาติกสู่ตลาดสากลมากยิ่งขึ้น และสำหรับผลงานการออกแบบในครั้งนี้เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกัน ระหว่างผู้ประกอบการบาติก 15 ชุมชน จากกลุ่มผู้ผลิตผ้า 4 จังหวัดชายแดนใต้ และดีไซเนอร์ชื่อดังของไทย 3 ท่าน ได้แก่ เอก ทองประเสริฐ, ธีระ ฉันทสวัสดิ์ และ ศรันรัตน์ พรรจิรเจริญ สร้างสรรค์เป็นผลงานที่มีความร่วมสมัยแต่ยังคงอัตลักษณ์ผ้าไทยชุมชนชาวใต้ไว้อย่างงดงาม”

หนึ่งในดีไซเนอร์ที่ลงพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ เอก ทองประเสริฐ ผู้สร้างแบรนด์ EkThongprasert กล่าวถึงการทำงานในครั้งนี้ว่า “ความร่วมมือในครั้งนี้อาศัยการเดินทางลงพื้นที่เพื่อทำความรู้จักและศึกษา จนเกิดความเข้าใจอัตลักษณ์และคุณค่าของแต่ละพื้นที่ แต่ละกลุ่มผู้ประกอบการ ซึ่งการเข้าถึงชุมชนทำให้เห็นรายละเอียดที่สามารถนำมาใช้ในการออกแบบลวดลาย และได้รับแรงบันดาลใจที่ลึกซึ้งกว่า ซึ่งสามารถใส่เข้าไปในผลงาน จนเกิดเป็นผลงานลวดลายผ้าใหม่ๆ ที่ถูกนำมาใช้ในการออกแบบและตัดเย็บเครื่องแต่งกาย และออกแบบผลิตภัณฑ์ผ่านมุมมองและเทคนิคของดีไซเนอร์ทั้ง 3 ท่านจนเกิดเป็นผลงานที่มีความร่วมสมัย โดยคงความซื่อตรงต่ออัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ไว้อย่างงดงาม และผ้าบาติกมีความโดดเด่นตรงที่เหมาะกับการสวมใส่ในประเทศไทย และยังเป็นผ้าที่มีความสนุกสนานสะท้อนถึงสีสันของธรรมชาติ ซึ่งสามารถเป็นตัวแทนให้ชาวต่างชาติรู้จักประเทศไทยมากขึ้นผ่านผืนผ้า”

ด้าน ธีระ ฉันทสวัสดิ์ ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ T-ra กล่าวว่า “จริงๆ การใช้ผ้าไทยในงานออกแบบ เป็นโปรเจกต์ที่เรามีส่วนร่วมมานานแล้ว และเมื่อทางกระทรวงวัฒนธรรมมีโครงการที่เน้นส่งเสริมผ้าไทยที่นอกเหนือไปจากผ้าไหมที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายอยู่ในปัจจุบัน จึงเป็นที่มาของการนำเสนอชิ้นงานที่สื่อถึงวิถีชีวิตของผู้คนในปัจจุบันถ่ายทอดผ่านผ้าบาติกจาก 4 จังหวัดชายแดนใต้ ลวดลายอันซับซ้อน โทนสีร้อนแรง ล้วนเป็นอัตลักษณ์เด่นของงานผ้าบาติก ซึ่งจากการลงพื้นที่เข้าไปเรียนรู้กระบวนการทำงานเกี่ยวกับผ้าบาติกตั้งแต่ต้นกับกลุ่มผู้ผลิต ทำให้เราทราบขั้นตอนการทำผ้าบาติกแบบดั้งเดิมของชาวบ้านว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก จึงได้เข้าไปแนะนำพัฒนาผลงานร่วมกันกับผู้ประกอบการท้องถิ่น ทำเป็นบาติกรูปแบบใหม่ ทำให้ดูร่วมสมัยเพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้า และทำให้ขั้นตอนในการผลิตลวดลายง่ายยิ่งขึ้น จนเกิดเป็นผลงานลวดลายผ้า ต่างจากลายเดิมที่มักเป็นลายดอกไม้ หรือสัตว์ต่างๆ ในท้องทะเล และการจับคู่สีใหม่ๆ เปลี่ยนเฉดสี การไล่โทนสีที่กลมกลืนและอยู่ในกระแสแฟชั่น เช่น การออกแบบลวดลายคลื่น มีการผสมสีแบบไล่โทนสีของน้ำทะเล อย่างสีกรมท่า น้ำเงิน ฟ้า เทา ในบาติกผืนเดียวกัน แทนรูปแบบเดิมๆ ที่มักเน้นสีสดๆ ทำให้ดูมีมิติ มีค่ามากยิ่งขึ้น และสามารถส่งออกไปผลิตเป็นชุดกิโมโน ที่ประเทศญี่ปุ่น สร้างรายได้ต่อชุดเป็นหลักแสน เรารู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก เพราะสิ่งเหล่านี้สร้างรายได้เลี้ยงปากท้องของชุมชนชายแดนใต้ และที่เป็นความภูมิใจของเรานอกเหนือจากการช่วยเหลือในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เรายังได้ช่วยให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทุกคนในครอบครัวได้อยู่พร้อมหน้า ลูกหลานคนรุ่นใหม่กลับมาช่วยครอบครัว กลับมาพัฒนาบ้านเกิด ผู้สูงอายุก็รุ้สึกมีคุณค่าในการได้ถ่ายทอดประสบการณ์ ความรู้ที่มีให้แก่ลูกหลาน”

ด้าน อานี ชูเมือง ผู้ประกอบการร้านรายาบาติก จังหวัดปัตตานี เปิดใจว่า “ชาวบ้านมีความเชี่ยวชาญและพรสวรรค์ในการทำผ้าบาติก แต่การร่วมโครงการนี้ทำให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ เปิดมุมมองใหม่จากสิ่งที่เขาคุ้นชิน ดีไซเนอร์ไม่ได้เข้ามาเปลี่ยน แต่นำสิ่งที่มีอยู่มาเพิ่มความน่าสนใจ โดยดีไซเนอร์คอยแนะนำเรื่องการสร้างลวดลาย เทรนด์สีในกระแสแฟชั่น และการเลือกใช้วัตถุดิบ โดยนำสิ่งที่เราถนัดมาปรับให้ตรงกับความนิยม ซึ่งการทำงานกับดีไซเนอร์ทำให้เราได้เห็นว่า บางสิ่งที่เรามีอยู่และอาจมองข้ามไป กลับเป็นสิ่งที่น่าสนใจและตรงกับความต้องการของตลาด ที่สำคัญคือผู้ประกอบการแต่ละคนสามารถนำลายผ้าบาติกที่คิดร่วมกันไปต่อยอดในสินค้าของตัวเองได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวบ้านที่ไม่ได้เรียนดีไซน์มาเริ่มคิดตามและทำตาม และกลายเป็นเรื่องสนุกมากกว่าแค่ทำธุรกิจ”

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามการจัดการแสดงผลงานการออกแบบเครื่องแต่งกายและผลิตภัณฑ์ จากโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และออกแบบลายผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้ (Contemporary Southern Batik by OCAC) โดยเหล่าแฟชั่นดีไซเนอร์ไทยทั้ง 3 ท่าน ได้ในรูปแบบแฟชั่นโชว์ ในวันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2562 เวลา 16.00 น. ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และในรูปแบบนิทรรศการแสดงผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์ของนักออกแบบผลิตภัณฑ์ชาวไทยทั้ง 3 ท่าน ร่วมกับ นักออกแบบชาวต่างชาติทั้ง 4 ท่าน ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม – วันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2562 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์เช่นเดียวกัน

สั่งจองนิตยสาร Howe โดยไม่ต้องรอหาตามแผงสั่งได้ที่
Line : Howemagazine
  Fanpage : Howemagazine
รายละเอียดการสั่ง (คลิ๊ก)

  อ่านนิตยสาร Howe Magazine ออนไลน์ได้ที่

Ookbee-Logo
LOGO-MEB-2017
Facebook Comments

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.