THE 50 INFLUENTIAL PEOPLE 2023 “ม.ล. ปุญยนุช เกษมสันต์ ดุลยจินดา” ยิ่งแบ่งปัน ยิ่งเปี่ยมสุข

0
427

หากพูดถึงเจ้าของ “พิพิธภัณฑ์ชาโตว์ เดอ ลา พอร์ซเลน” สุดอลังการ “คุณดาว- ม.ล.ปุญยนุช เกษมสันต์ ดุลยจินดา” เธอก็ถือเป็นอีกหนึ่ง Collector ที่สะสมเครื่องใช้ และกระเบื้องยุโรปโบราณเบอร์ต้นๆ ของเมืองไทย รวมทั้งเธอยังเป็นนักสะสมผ้าไทยตัวยงเช่นกัน ด้วยความชื่นชอบในศิลปะ งานหัตถศิลป์ต่างๆ ทำให้เธอได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และสืบสานเรื่องราวผ่านตัวอักษร และเรื่องเล่างานศิลป์ให้กับผู้ที่เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ของเธออยู่เสมอ

“ใครๆ มักพูดว่าโชคดีที่ได้อยู่ชาโตว์ ดิฉัน จะตอบว่าที่นี่ไม่ใช่ชาโตว์ของดิฉัน แต่เป็นของเครื่องกระเบื้องเหล่านี้ต่างหาก ซึ่งปัจจุบันดิฉันเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ชาโตว์ เดอ ลา พอร์ซเลน อยู่ที่ถนน ประเสริฐมนูญกิจ 29 ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเครื่องพอร์ซเลนโบราณ ซึ่งมีตั้งแต่ของแต่งบ้านชิ้นเล็ก ชุดชา กาแฟ จานชาม ไล่เรียงไปจนถึงของแต่งบ้านที่มีขนาดใหญ่ทั้งจากยุโรปและเอเชีย และถ้าคุณมาเยี่ยมชมที่นี่จะต้องเงยหน้าชมตั้งแต่เพดาน ไล่มาจนถึงผนังและบนหลังตู้ ใต้ตู้ พื้น และตามขั้นบันได”

“ที่นี่ไม่ได้มีแค่พอร์ซเลน แต่ยังมีรถม้า เสลี่ยงฝรั่ง ปืนใหญ่ เฟอร์นิเจอร์ กรอบรูป จิวเวลรีแอนธีค ทั้งกล้องส่องทางไกล พัดยุควิกตอเรียน อัลบั้มภาพ เครื่องเงินและเครื่องแก้ว ถาดเครื่องสำอาง กระโถน โดยเราใช้พื้นที่บ้านทำพิพิธภัณฑ์ หลังจากที่ได้คุยกับสามี (คุณสุรัศม์พรรณ ดุลยจินดา) สามีก็สนับสนุนเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการศึกษา และน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้คน ซึ่งเปิดมา 5 ปี ในช่วง ปีที่ 2 หลังได้รับรางวัลจากมิวเซียมสยาม ไม่นานก็เกิดการระบาดของโควิด ปิดๆ เปิดๆ ทำให้เราพักงานพิพิธภัณฑ์มาทำเรื่องผ้าไทยแทน ตอนนี้เรากลับมาบริการอีกครั้ง ก็มีแผนที่จะขยายงานในส่วนของบริการให้มีความหลากหลายมากขึ้น”

“ปัจจุบันดิฉันวางแผนจะเปิดให้บริการเช่าสถานที่เพื่อการ ถ่ายภาพและจัดงานอีเวนต์ ที่มีเสื้อผ้า Costume สไตล์ยุโรป โบราณให้เช่าถ่ายรูปในพิพิธภัณฑ์ มีคาเฟ่สัตว์เลี้ยงที่มี สัตว์น่ารักหลายๆ ชนิด เช่น สุนัข แมว กระต่าย และนกยูง เป็นต้น รวมทั้งจะแบ่งพื้นที่บางส่วนสำหรับตั้งเป็น ‘ชมรมเพลินไทยสมัยนิยม’ ซึ่งเป็นชมรมสังคมสงเคราะห์ที่ดิฉันได้เริ่มดำเนินการมาแล้วเป็นปีที่ 3 ซึ่งงานของชมรมคือการทำเพื่อประเทศชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และการอนุรักษ์วัฒนธรรม ซึ่งนำเสนอกิจกรรมผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น จัดประกวดเครื่องแต่งกายผ้าไทยแบบออนไลน์ ได้รับเกียรติจาก ดร.จรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรีมาเป็นประธานในการมอบรางวัล งานของชมรมเริ่มมีกิจกรรมมากขึ้น ดิฉันเลยตั้งใจว่าจะแบ่งพื้นที่สัก 1 ชั้นไว้เป็นที่ทำการ และจัดนิทรรศการในอนาคต”

“งานล่าสุดคือการร่วมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้า สิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในวาระมงคลสมัยทรงเจริญพระชนมายุครบ 90 ชันษา โดยได้จัดทำหนังสือขึ้น 2 เล่ม คือ ใต้ร่มพระบารมีสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติและพระราชกรณียกิจ จัดพิมพ์ 1,000 เล่ม เป็นอภินันทนาการให้กับหน่วยงานราชการ เอกชน สถานบันการศึกษา หอจดหมายเหตุ และประชาชนทั่วไปที่สนใจก็สามารถติดต่อเข้ามาที่พิพิธภัณฑ์ได้ และอีกเล่มจะเป็นหนังสือเกี่ยวกับสารคดีแฟชั่น ผ้าไทยทั้ง 4 ภูมิภาค มีชุดไทยพระราชนิยม มีเรื่องผ้ายกอินเดียสู่แดนสยาม ชื่อว่า ‘เพลินพัสตรา ภูษาแห่งสยาม’ ซึ่งหนังสือเล่มนี้มีความหนา 240 หน้า ปกแข็ง เนื้อหาในเล่มน่าอ่าน น่าสนใจตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย จัดทำทั้งสิ้น 3,000 เล่มค่ะ”

“ถ้าถามถึงเรื่องการเปิดให้บริการพิพิธภัณฑ์ ในฐานะนักสะสม การได้เปิดพิพิธภัณฑ์ถือเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจ เพราะพิพิธภัณฑ์ทำให้เรากลายเป็นส่วนหนึ่งในการมอบความรู้แก่ผู้คน วัตถุประสงค์หลักของชาโตว์ เดอ ลา พอร์ซเลน คือเราอยากให้ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ ในฐานะเจ้าพิพิธภัณฑ์ เราเองอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงศึกษาธิการสนับสนุน โดยมีการบรรจุการทัศนศึกษาพิพิธภัณฑ์อยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงมัธยมปลาย โดยโรงเรียนจะต้องพาเด็กๆ ออกไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ที่เหมาะสมตามวัย และปิดเทอมครูต้องให้การบ้านเด็กๆ ไปพิพิธภัณฑ์กับผู้ปกครองเพื่อกลับมา Present ตอนช่วงเปิดเทอม เพื่อเป็น การแลกเปลี่ยนความรู้กัน และปลูกฝังให้เยาวชนได้มี Inspiration เพราะพิพิธภัณฑ์คือแหล่งเรียนรู้นอกชั้นเรียนที่สนุก และมีเนื้อหาน่าสนใจอยู่มากมาย อย่างงานเครื่องปั้นดินเผา และพอร์ซเลน ที่ถึงแม้จะเป็นของใช้ แต่ก็มีลวดลายที่ถือเป็นงานศิลปะแขนงหนึ่ง เราสามารถเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ผ่านลวดลายเหล่านั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นความสนุกที่มาพร้อมกับความรู้ ทุกวันนี้ความสุขของดิฉันในทุกวันนี้ก็คือได้ทำในสิ่งที่รัก ทำด้วย ความตั้งใจ ทุ่มเท จริงจัง ดิฉันมีความสุขและภาคภูมิใจมาก หากพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะกลายเป็นแหล่งเรียนรู้นอกชั้นเรียน แก่เยาวชน และผู้คนทั่วไป”

Facebook Comments

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.