“สุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย” สร้างมาตรฐาน สร้างแรงงาน สร้างโอกาส

0
321
คุณสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) : GIT เชื่อมั่นว่าตลาดอัญมณีและเครื่องประดับไทย ยังมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมประกาศชูนโยบายสร้างแรงงานคุณภาพสู่อุตสาหกรรมแบบบูรณาการ พร้อมยกระดับผู้ประกอบการที่มีความยูนีกให้มีแบรนด์เป็นของตัวเอง หวังให้ไทยเป็น “WORLD JEWELRY HUB” ในอนาคต รวมทั้งผลักดัน “GIT STANDARD” และโครงการซื้อด้วยความมั่นใจ (BUY WITH CONFIDENCE : BWC) ให้กลายเป็นมาตรฐานที่สร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มลูกค้า

“ปีนี้จากการคาดการณ์ของ MarketWatch, Market research ระบุว่า อีก 5 ปีข้างหน้าธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับในตลาดโลกจะมีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 5 – 8% โดยเฉพาะเครื่องประดับพลอย ซึ่งในไทยก็มียอดการส่งออกเติบโตสูงมาก เนื่องจากผู้คนเริ่มใช้จ่ายและแต่งตัวสวยออกงานสังคมมากขึ้น ซึ่งในยุโรปและอเมริกาเครื่องประดับงานแต่งงานมีการเติบโตสูงมาก ส่วนตลาดในไทยหลังเปิดประเทศก็มียอดนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวรัสเซียและอินเดียเข้ามาเป็นจำนวนมาก คาดว่าหากได้กลุ่มชาวจีนกลับเข้ามา ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับของไทยจะกลับมาคึกคักมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะตลาดเครื่องประดับพลอยระดับไฮเอนด์ จะมีลูกค้าชาวจีนและรัสเซียนิยมซื้อเพื่อการลงทุน โดยเฉพาะพลอยธรรมชาติที่เป็น Rare Item ซึ่งมีราคาสูงมาก แต่ก็มีคนซื้อเพื่อเก็งกำไรเยอะมากเช่นกัน”

“ในฐานะที่ผมดูแลงานและนโยบายของ GIT ที่ผ่านมาสถาบันมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับเรื่องมาตรฐานต่างๆ สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล การพัฒนาบุคลากรเพื่อสร้างแรงงานที่มีคุณภาพ รวมทั้งการสนับสนุนกลุ่มธุรกิจให้มีศักยภาพ และพร้อมที่จะทำเครื่องประดับที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัวสู่ตลาด ซึ่งต้องยอมรับว่าปัจจุบันจุดแข็งของแรงงานไทยในอุตสาหกรรมนี้คือเรื่องของฝีมือ ช่างไทยมีความเชี่ยวชาญเรื่องเทคนิคต่างๆ ในการปรับปรุงคุณภาพพลอยเพื่อให้สีสวยขึ้น มีวิธีการเจียระไนเพื่อให้แสงตกกระทบทำให้พลอยสวยขึ้น ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาของคนไทยที่รู้จักวิธีการตั้งน้ำพลอย ส่วนที่ต้องพัฒนาคือเรื่องดีไซน์ ร้านส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะชอบรับทำงานตามแบบแบรนด์ดังๆ มากกว่ารับออกแบบ ทำให้งานไม่มีความเป็นเอกลักษณ์ และโอกาสในการสร้างแบรนด์มีน้อยมาก ซึ่งประเทศไทยมีนักออกแบบที่มีความสามารถอยู่มากมาย”

“การสร้างแบรนด์ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ GIT ให้ความสำคัญ เราอยากให้มีแบรนด์เครื่องประดับที่มีเอกลักษณ์มากยิ่งขึ้น ที่ผ่านมา GIT มีกิจกรรมส่งเสริมธุรกิจโดยการเปิดรับสมัครผู้ประกอบการเข้ามาฝึกอบรม ทั้งการทำตลาดออนไลน์ การผลิต และการเลือกใช้วัสดุ คนที่ผ่านการคัดเลือกจะได้ทำการฝึกอบรมระดับเจาะลึกกับดีไซเนอร์ชั้นนำ เราจะสอนกระบวนการคิด กระบวนการพัฒนาสินค้า ซึ่งเป็นเวิร์กช็อปที่สนุกมาก ทุกคนมีอิสระในการออกแบบงานที่มีอัตลักษณ์ ใครที่ผ่านการคัดเลือกสถาบันจะให้ทุนในการผลิตผลงาน และจะได้ไปจัดแสดงในงานแฟร์ต่างๆ หรือเปิดแสดงในแกลเลอรีชั่วคราว ส่วนผู้ประกอบการนั้นสถาบันมีโครงการพัฒนา SME ที่เราจะช่วยดูเรื่องธุรกิจ เทรนการออกแบบ การทำตลาด และจัดการประกวดผลงาน บริษัทที่ชนะก็จะพาไปออกงานแฟร์ในประเทศ และต่างประเทศ ล่าสุดผมเดินทางไปภูเก็ต พบกับผู้ประกอบการที่ทำเครื่องประดับและของแต่งบ้านสไตล์เปอรานากันที่เคยเข้าคลาสการจับคู่สีร้อนเย็นกับเรา ก็ได้ชิ้นงานแบบใหม่ๆ ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี จนสามารถนำสินค้าไปวางจำหน่ายที่ห้าง Raffles place สิงคโปร์ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่ง”

“GIT มุ่งเน้นการสร้างแรงงานในอุตสาหกรรมอัญมณี โดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษาหลายๆ แห่ง รวมทั้งพยายามดึงคนกลับเข้ามาทำงานแบบบูรณาการ ทุกวันนี้อุตสาหกรรมอัญมณีสร้างรายได้ให้กับประเทศปีละ 4 – 5 แสนล้านบาท โดยรายได้มาจากแรงงานที่มีฝีมือ สถาบันจึงสนับสนุนให้นักเรียนสนใจเรียนและทำงานสายอาชีพเพราะมีโอกาสมากกว่า ใครที่ออกจากระบบก็ต่อยอดความรู้ไปประกอบอาชีพรับซ่อม รับทำเครื่องประดับได้ ซึ่งเป็นงานที่มีอนาคต”

“นอกจากนี้ GIT ได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการในจันทบุรีเพื่อทำศูนย์ฝึกอบรมการเจียระไนพลอยเพื่อสร้างแรงงานใหม่เข้าสู่อุตสาหกรรม และสถาบันยังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากกรมการพัฒนาฝีมือแรงงานในการสร้างบุคลากร ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินงาน คาดว่าในปีนี้หรือปีหน้าก็จะได้เห็นเป็นรูปธรรม รวมทั้งยังได้พยายามส่งเสริมและสร้างแรงงานโดยหาพันธมิตร ซึ่งเป็นผู้ประกอบการเหมืองในต่างประเทศให้มาเป็นสปอนเซอร์สนับสนุนการพัฒนาแรงงานสู่อุตสาหกรรม นอกจากการสร้างบุคลากรใหม่ๆ แล้ว สถาบันยังมีโครงการยกระดับผู้ประกอบการ SMEs แบบบูรณาการ ทั้งโครงการประกวดเครื่องประดับนานาชาติ ครั้งที่ 17 GIT World’s Jewelry Design Awards เพื่อเป็นแนวทางให้นักออกแบบไทยได้รับรู้ถึงเทรนด์ต่างๆ จากนักออกแบบทั่วโลกที่เข้าร่วมโครงการ และสถาบันได้ร่วมมือกับ DITP จัดงาน Bangkok Gems and Jewelry Fair ครั้งที่ 68 ระหว่างวันที่ 6 – 10 กันยายน 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และอีกหนึ่งงานที่สำคัญ สถาบันร่วมกับหน่วยงานในจังหวัดจันทบุรีจัดงานเทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับจันทบุรี 2023 ณ ศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี เคพี จิวเวลรี่ เซ็นเตอร์ และตลาดพลอย ถนนศรีจันทร์ ระหว่างวันที่ 7 – 11 ธันวาคม 2566 ซึ่งเป็นการขยายฐานการทำธุรกิจให้กับผู้ประกอบการอีกด้วย”

“เราอยากให้ GIT เป็นหน่วยงานหลักของรัฐในการส่งเสริมธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับอย่างยั่งยืน ซึ่งตอบโจทย์รัฐที่ผลักดันให้ไทยเป็น ‘World Jewelry Hub’ ใน 2 – 3 ปีที่ผ่านมาเรามุ่งสร้าง ‘GIT Standard’ โดยมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ของอุตสาหกรรมมาช่วยจัดทำมาตรฐานและทำประชาพิจารณ์ ซึ่งมี Commitment ที่จะต้องต่อยอดทุกปี ปีละ 2 – 3 ขอบข่าย ซึ่งตอนนี้เราทำมาตรฐานขอบข่ายเรื่อง

นักอัญมณีศาสตร์ มาตรฐานห้องปฏิบัติการ มาตรฐานพลอย หยก และโลหะมีค่า ซึ่งปัจจุบันมีเอกชนหลายแห่งเริ่มขอใช้ GIT Standard จนมีห้องปฏิบัติการที่ผ่านมาตรฐาน 5 แห่ง และปีนี้จะมีเพิ่มอีก 3 แห่ง รวมทั้งเราได้ร่วมมือกับหลายหน่วยงานของภาครัฐ ผลักดันการดูแลผู้บริโภคภายใต้โครงการซื้อด้วยความมั่นใจ (Buy with Confidence : BWC) ใช้ ‘ใบรับรอง’ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าเช่นกัน”

Facebook Comments

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.