“ธนัชพร สวนศิลป์พงศ์” เชื่อมต่อ-สร้างสรรค์ สู่เป้าหมายความสำเร็จ

0
1616
การทำงานในองค์กรที่มีคน 2 เจเนอเรชัน ทั้งเป็นคนรุ่นก่อน ที่ก่อตั้งและบุกเบิก กับคนรุ่นใหม่ ที่มีความคิดสร้างสรรค์ อาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากดูไปแล้วก็ไม่ใช่เรื่องยากเช่นกัน เพียงแค่ต้องมีความเข้าใจคนทั้ง 2 เจนได้อย่างถ่องแท้ เพื่อนำพาและผลักดันองค์กรให้เติบโตไปถึงเป้าหมายพร้อมๆ กัน

เฟิร์น-ธนัชพร สวนศิลป์พงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท เพ็น เค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ตัวแทนจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ SMEG และผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ MEX เล่าถึงประสบการณ์การทำงานของตัวเอง ในการทำงานร่วมกับคน 2 เจน ตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่เธอเรียนจบมาทางด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่งมาพร้อมกับความหวังในการเข้าสู่ธุรกิจการเงิน หรือที่เรียกว่า Money Came “จุดสนใจนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยเด็กที่ชอบขายของค่ะ โดยเฉพาะการไปซื้อของจากสำเพ็งแล้วมาตั้งแผงขายหน้าโรงเรียน ซึ่งกำไรดีมากทีเดียว แต่ก็ต้องคอยหนีเทศกิจไปด้วย”

การค้นหาตัวเอง

หลังจากเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ความสนุกกับการขายของก็ยิ่งมากขึ้น “ตอนไปญี่ปุ่น เฟิร์นก็ไปคุยกับไกด์นำเที่ยวให้ช่วยแนะนำแหล่งขายสินค้าที่จะให้เราหิ้วกลับมาขายเมืองไทย โดยอาศัยดูสินค้าที่อยู่ในหน้าโฆษณาของนิตยสารญี่ปุ่นว่าชิ้นไหนน่าสนใจ ซึ่งพอซื้อมาขาย โดยเฉพาะขายผ่านออนไลน์ก็ขายดีมาก” เฟิร์นเล่าด้วยว่า แม้แต่ตอนเรียนจบมหาวิทยาลัย และคุณพ่อของเธออยากให้ไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ แต่เธอกลับเลือกที่จะไปญี่ปุ่นมากกว่า “ที่อยากไปญี่ปุ่น เพราะอยากไปเอาแบรนด์สินค้าญี่ปุ่นมาขายค่ะ” สุดท้ายเธอก็บอกว่าได้ไปเรียนที่ญี่ปุ่นอย่างที่ตั้งใจ

“พอเรียนจบและกลับมาเมืองไทย ได้งานแรกเป็นล่ามเลขา หรี่อที่เรียกว่า Co-ordinator ในบริษัทแบรนด์รถยนต์แห่งหนึ่ง โดยหน้าที่ส่วนใหญ่ก็จะคอยประสานงานเรื่องการผลิตระหว่างคนไทย คนญี่ปุ่น และคนต่างชาติ บางครั้งก็ต้องเข้าไปอยู่ใต้ท้องรถและสายการผลิตในโรงงาน แต่นั่นก็ทำให้เฟิร์นได้เดินทางไปญี่ปุ่นบ่อยมากเหมือนกันค่ะ ก่อนที่จะเปลี่ยนไปทำงานอีกหลายที่” กระทั่งสุดท้ายก็กลับเข้ามาทำงานกับธุรกิจของครอบครัว

ครั้งแรกกับการทำงานในธุรกิจครอบครัว

“ครั้งแรกที่เฟิร์นได้เข้ามาทำงานกับบริษัท เพ็น เค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจของที่บ้าน เราแทบไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ขาย เรียกว่าค่อนข้างตีโจทย์ยากเหมือนกัน ยิ่งเรามาอยู่ในกลุ่มของผู้ขายสินค้าด้วย ก็เลยรู้สึกเหมือนเกมพลิกไปคนละข้าง เพราะเวลาจะคิดอะไรสักอย่างต้องคำนวณต้นทุน-กำไรเยอะมาก ขณะที่การต่อรองก็ยากเหมือนกัน” โดยสินค้าส่วนใหญ่ของเพ็น เค อินเตอร์เนชั่นแนล เน้นไปที่สินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและในครัว โดยมีแบรนด์ที่เป็นธงสำคัญด้วยกัน 2 แบรนด์ คือ SMEG และ MEX

เฟิร์นเล่าว่า SMEG เป็นคำย่อมาจากภาษาอิตาลี “Smalterie Metallurgiche Emiliane Guastall a” ซึ่งแปลว่าโรงงานเคลือบโลหะ จากเมือง Guastalla ในจังหวัด Reggio Emila ของอิตาลี “เป็นแบรนด์ที่คุณพ่อของเฟิร์นนำเข้ามาจำหน่ายเมื่อราว 30 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ทั้งชิ้นเล็ก และชิ้นใหญ่ อาทิ ตู้เย็น เตาอบ รวมไปถึงกาน้ำร้อน เครื่องชงกาแฟ และเครื่องปิ้งขนมปัง โดยมีรูปลักษณ์และสีสันสวยงาม มีเอกลักษณ์การดีไซน์ให้เป็นแนวย้อนยุค ซึ่งไม่ได้มาแค่ชิ้นเดียว แต่ยังมาเป็นคอลเลกชัน เหมาะสำหรับการนำมาแต่งบ้าน และใช้ประโยชน์ได้จริง”

สานสัมพันธ์คน 2 เจเนอเรชัน

เฟิร์นยอมรับว่าเธอพยายามปรับองค์กรด้วยการรื้อระบบใหม่ทั้งหมด “ในบริษัทของคุณพ่อก่อตั้งมานานกว่า 40 ปี เวลานั้นมีการผสมผสานกันระหว่างกลุ่มเด็กรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า เฟิร์นเลยรื้อระบบใหม่ ทั้งบัญชีและฝ่ายบุคคล โดยพยายามปรับให้บริษัทกลายเป็นที่ทำงานในฝันของเฟิร์น หรือเด็กเจนใหม่ๆ โดยเราพยายามเลือกจุดแข็งของคนทำงานในแต่ละรุ่นเข้ามาผสานกัน”

ไม่ใช่แค่การทำให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างคนรุ่นก่อนและคนรุ่นใหม่ แต่อีกหนึ่งโจทย์ที่ยากไปกว่านั้นก็คือ การทำอย่างไรให้บริษัทไปถึงเป้าหมายมากที่สุด “เป้าหมายแรกที่เราตั้งไว้ คือ จะทำอย่างไรให้องค์กรของเราเข้าสู่ยุคใหม่ได้มากขึ้น ขณะที่เราเองก็ต้องคิดไปพร้อมกันว่าจะทำอย่างไรให้แบรนด์สินค้าภายใต้บริษัทของเรา ทั้ง SMEG และเฮาส์แบรนด์อย่าง MEX มีโกลที่ชัดเจน และเติบโตขึ้นเรื่อยๆ” เฟีร์นเล่าต่อด้วยว่า ทั้งแบรนด์ SMEG และ MEX แม้จะเป็นคนละแบรนด์ แต่ก็มีความใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะการเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในครัวเรือนเหมือนกัน “เราพยายามเน้นให้ทั้งสองแบรนด์จับกลุ่มเป้าหมายคนละเซกเมนต์ โดย SMEG เป็นแบรนด์พรีเมียมที่เจาะกลุ่มคนที่มีฐานะ มีกำลังซื้อ และรู้สึกเอนจอยกับการหาความสุข ความสวยงามให้กับบ้านของตัวเอง”

ส่วนแบรนด์ MEX ซึ่งเป็นแบรนด์ของคนไทย “ในส่วนนี้เรามองไปที่กลุ่มแมสโดยเฉพาะคนที่เริ่มอยากเปลี่ยนจากการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าแบบกล่องมาเป็นแบบ Buill-In หรือกลุ่มคนที่กำลังเติบโตในหน้าที่การงาน แต่ก็ยังไม่ได้โฟกัสเรื่องของการใช้เงินเพื่อซื้อดีไซน์ แต่จะเน้นในเรื่องของฟังก็ชันและการใช้งานมากกว่า ซึ่งหน้าตาก็จะดูเรียบร้อย ใช้งานง่ายค่ะ”

แนวทางการทำงานในแบบฉบับของ “เฟิร์น”

เจ้าตัวยังบอกถึงแนวทางในการทำงานของตัวเอง ที่เน้นการมีส่วนร่วมกับทุกคน “เฟิร์นรู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่คนเก่ง ทำให้มักต้องถามคนรอบข้างที่ร่วมงานกับเรา หรือทีมงานว่าเรายังมีอะไรที่ต้องปรับปรุงไหม รวมถึงคุยแม้กระทั่งอะไรในบริษัทที่ยังไม่เวิร์ก ก็จะมีการแชร์ความคิดร่วมกันตลอดเวลา” เช่นเดียวกับการทำงานร่วมกับคนหลายๆ เจเนอเรชัน เธอก็ยอมรับว่าต้องปรับตัวค่อนข้างเยอะ “กับเด็กๆ เฟิร์นว่าคุยง่าย ส่วนเจนที่ทำงานกับคุณพ่อมานาน เราก็ต้องยอมเขา และเคารพกับสิ่งที่เขาเชี่ยวชาญ แต่หากอะไรที่เขาไม่รู้จริง ๆ หรือมีอะไรที่เราคิดว่าน่าจะดีกว่า เฟิร์นก็จะทำตัวเล็กเข้าหา แล้วเสนอความคิดเห็นออกไป ต่างจากสมัยก่อนที่เราเคยทำงานที่อื่น ถ้าเรารู้สึกว่าเราทำอะไรที่รับผิดชอบได้เต็มที่แล้ว แต่ถ้าคนอื่นทำไม่โอเค เฟิร์นก็จะไม่โอเค แต่พอได้มาทำงานของเราเอง เราไม่สามารถที่จะชนแบบนั้นได้ เลยต้องกลับมานั่งคิดใหม่ทั้งหมด”

เฟิร์นเล่าด้วยว่า การจะทำให้ผู้ใหญ่ในองค์กรของตัวเองรักและเอ็นดูไม่ใช่เรื่องง่าย “ตอนนั้นร้องไห้แทบทุกวัน ก็จะได้คุณแม่มาเป็นคนปลอบและคอยบอกเสมอว่าถ้าเราไม่โอเคที่จะทำงานที่บ้าน ก็ให้ไปทำงานที่อื่นก่อน แต่สำหรับเฟิร์น การเจอเรื่องราวต่างๆ ทำให้เราโตขึ้น ซึ่งสิ่งหนึ่งที่คุณพ่อพยายามสอนเราก็คือ สิ่งที่เราคิดเป็นสิ่งที่ถูกและผิดที่ค่อนข้างจะแยกกันอย่างชัดเจน แต่ในโลกของการทำงานจริง และชีวิตจริง เฟิร์นจะยึดเอาถูกหรือผิดอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องรู้ด้วยว่าอะไรเป็นสิ่งที่ถูกกับผิด ไปพร้อมๆกับการเรียนรู้ว่าเราจะทำอย่างไรให้ได้โกล และผลลัพธ์อย่างที่เราต้องการ ซึ่งต้องแลกมาด้วยอะไรบ้าง และที่ผ่านมาเราก็ปรับตัวค่อนข้างเยอะเหมือนกัน จนมาถึงทุกวันนี้ ทุกคนก็เริ่มที่จะฟังเฟิร์นเยอะขึ้น และเห็นความตั้งใจในการทำงานของเรา เช่นเดียวกัน เฟิร์นเองก็ตั้งใจฟังสิ่งที่ทุกคนบอก และยอมรับในตัวของเรามากขึ้น ขณะที่เฟิร์นเองก็เปิดใจมากขึ้นด้วย”

คาดหวัง และสร้างความสุขกับทุกคน

เฟิร์นยังบอกถึงความคาดหวังในธุรกิจที่กำลังทำเวลานี้ว่าอยากให้เติบโต และเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคมากขึ้น “ในส่วนของ SMEG เฟิร์นมองว่าทุกคนรู้จักแบรนด์นี้ดีมากขึ้นแล้ว เหลือก็แค่การดันให้ยอดขายเติบโตและขยายวงมากขึ้น รวมถึงการทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้นด้วย ส่วน MEX ซึ่งเป็นเฮาส์แบรนด์ของเราเอง เฟีร์นอยากพาเขาไปอยู่ในตลาดต่างประเทศภายใน 5 ปี แต่อันดับแรกก็ต้องทำให้ชื่อของ MEX ในประเทศไทยแข็งแรงขึ้นก่อน ซึ่งตอนนี้ต้องยอมรับว่าแม้ MEX จะขายได้เยอะมากแต่พอพูดถึงชื่อแบรนด์ คนจะยังไม่รู้จักสักเท่าไร เหมือนกับเรามีแต่เงิน แต่ไม่มีชื่อเสียง ทำให้ภายในช่วง 5 ปีนี้เราต้องทำแบรนด์ให้แข็งแรงก่อน แล้วหลังจากนั้นเฟิร์นก็จะพาเขาให้โกอินเตอร์ต่อไปค่ะ”เฟิร์นยอมรับด้วยว่าเธอโชคดีมากที่มีคุณพ่อที่ทำทุกอย่างให้เธอไว้หมดแล้ว

ยิ่งมาถึงวันนี้ “เฟิร์นก็ถือว่าโชคดีที่ได้มารับไม้ต่อจากคุณพ่อ และวันนี้เฟิร์นเองก็ไม่ใช่เด็กผู้หญิงที่วิ่งอยู่ในทุ่งดอกไม้อีกต่อไป เพราะในโลกแห่งความเป็นจริง เฟิร์นกำลังทำงานเพื่อสร้างความสุขให้กับทุกคน โดยเฉพาะการทำให้คุณพ่อมีความสุข รวมถึงการทำตัวเองให้เป็นที่ร่ก และเป็นความสุขของทุกๆ คนในองค์กรแห่งนี้ตลอดไป”

Facebook Comments

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.