ฟังแนวคิดผู้นำหลากวงการระดับประเทศ กับเวทีเสวนา “THE PEOPLE TALK : GAME CHANGER FORUM 2023” ถอดบทเรียน “คน” เปลี่ยนเกม เพื่อทะยาน สู่เส้นทางแห่งอนาคต

0
460

(9 พฤศจิกายน 2566 : กรุงเทพฯ) ถึงเวลา ปรับตัว เปลี่ยนแปลง!!The People” สื่อรุ่นใหม่ที่นำเสนอเรื่องราว การสร้างแรงบันดาลใจเรื่อง ‘คน’ จัดเสวนา “THE PEOPLE TALK : GAME CHANGER FORUM 2023 ถอดบทเรียน “คน” เปลี่ยนเกม เพื่อทะยาน สู่เส้นทางแห่งอนาคต” เวทีแลกเปลี่ยน แบ่งปันความรู้และประสบการณ์จากผู้นำระดับประเทศหลากหลายวงการ เพื่อปลุกพลังความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ณ คริสตัล บ็อกซ์ ชั้น 19 เกษร เออร์เบิน รีสอร์ท แยกราชประสงค์ กรุงเทพมหานคร

นายอนันต์ ลือประดิษฐ์ บรรณาธิการอำนวยการ ผู้ร่วมก่อตั้ง The People เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา The People นำเสนอเนื้อหาเชิงสร้างสรรค์ด้วยศาสตร์และศิลป์ของการเล่าเรื่องผ่าน “คน” กว่า 5,000 เรื่องราว ในโอกาสก้าวสู่ปี 6 จึงอยากเป็นส่วนหนึ่งในการปลุกพลังความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ผ่านเวทีเสวนา THE PEOPLE TALK : GAME CHANGER FORUM 2023 เพื่อแบ่งปันความรู้และประสบการณ์จากผู้นำทางความคิด ผู้นำองค์กร ทั้งในเรื่องของเทคโนโลยี ภูมิปัญญา อีกทั้งสร้างแรงบันดาลใจ แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้จริงของการเปลี่ยนแปลง 

“ครั้งนี้เราได้รับเกียรติจากบรรดาผู้บริหารหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ มาถ่ายทอดแนวคิดและมุมมองที่แตกต่าง พร้อมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์สู่การถอดบทเรียนจาก ‘คน’ ที่เป็นผู้นำ ในการเปลี่ยนแปลงเชิงสร้างสรรค์ต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย เพื่อให้ทุกคนก้าวข้ามความท้าทายต่างๆ ไปสู่โอกาสใหม่ๆ ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีของทุกคนที่จะได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ ทั้งเทคนิคการบริหารจัดการ การใช้นวัตกรรม เพื่อให้ธุรกิจก้าวไปสู่โลกอนาคตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน”

เปิดเวที “THE PEOPLE TALK : GAME CHANGER FORUM 2023” ปลุกพลังด้วย Exclusive Forum ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ คีย์แมนคนสำคัญที่ร่วมผลักดันยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติให้เป็นจริง ที่พร้อมจะพาทุกคนก้าวสู่ความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในหัวข้อ “การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง บนโลกที่เปลี่ยนเร็ว”  กล่าวว่า การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง    บนโลกที่เปลี่ยนเร็ว ผู้นำจะต้องมีความฝันและลงมือทำให้เป็นจริง ต้องมีความเชื่อ ความตั้งใจจริง มีความอดทน มีสติ และรับฟังข้อมูลแบบเปิดกว้าง ขณะเดียวกันก็ต้องหมั่นทบทวนอยู่เสมอว่า ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลง เช่น คำว่า    “ซอฟต์พาวเวอร์” ภายใต้นิยามเมื่อ 20 ปีที่แล้ว หากมาทำในวันนี้ ภายใต้บริบทที่เปลี่ยนไป จะต้องทำอย่างไร ผู้นำที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้จริงนั้น ไม่สามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียว การมีทีมที่ดีเพื่อช่วยซัพพอร์ตจึงเป็นเรื่องสำคัญ        

เข้มข้นต่อกับช่วง Visionary Leadership Talk ถอดบทเรียน “คน” เปลี่ยนเกม ปรับตัว เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อทะยานสู่เส้นทางแห่งอนาคต โดยผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ นายสันติ  โหลทอง นายกสมาคมกีฬาอีสปอร์ต แห่งประเทศไทย ผู้ที่เข้ามาเปลี่ยนวงการ “เกม” สร้างมาตรฐานอีสปอร์ตในบ้านเราให้สังคมโดยรวมยอมรับ ในหัวข้อ “เปลี่ยน เกม สู่การเป็นกีฬาอาชีพ” กล่าวว่า จากคนที่ชอบเล่นเกมที่มองเห็นโอกาสในการเติบโตของเกม จึงก่อตั้ง

สมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทยเพื่อเชื่อมโยงคนในวงการเกมเข้าด้วยกัน และผลักดันให้การเล่นเกมหรืออีสปอร์ต กลายเป็นอีกหนึ่งกีฬาอาชีพของประเทศไทย แต่เส้นทางความสำเร็จไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ แต่ด้วยความมุ่งมั่นและพลังสนับสนุนของเหล่าเกมเมอร์ทั่วประเทศ ทำให้ในวันนี้อีสปอร์ตกลายเป็นที่ยอมรับในฐานะกีฬาที่ต้องใช้สมอง และกลายเป็นกีฬาระดับโลก สู่อาชีพที่สามารถสร้างรายได้อย่างมหาศาลให้กับผู้เล่น

นายแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด ผู้นำด้านการสนับสนุนและลงทุนในเทคโนโลยีนวัตกรรมและสตาร์ทอัพทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค ในหัวข้อ Change สตาร์ทอัพไทยให้ขึ้นทำเนียบ ยูนิคอร์น” กล่าวว่า กรุงศรีฟินโนเวตตอนนี้มีการลงทุนใน 23 สตาร์ทอัพรวม 3 ยูนิคอร์น อย่าง Grab, Flash Express และ Klook ความท้าทายสำหรับสตาร์ทอัพในไทยคือ Venture Capital (VC) ส่วนใหญ่ไม่ลงทุนในสตาร์ทอัพที่อยู่ในช่วงเริ่มต้น (Early-stage) ทำให้มีสตาร์ทอัพไทยที่จะเติบโตต่อเป็นยูนิคอร์นน้อย นอกจากนี้ประเทศไทยมีโปรแกรมเมอร์เพียง 50,000 คน ในขณะที่เวียดนามมี 500,000 คน ทำให้สตาร์ทอัพไทยแม้จะคิดอะไรใหม่ๆ ได้ แต่ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง ในปีหน้ากรุงศรีฟินโนเวตมีแผนจะลงทุนอีกกว่า 20 สตาร์ทอัพรวมถึงจัดตั้งกองทุนใหม่เพื่อสตาร์ทอัพในช่วง Early-stage ที่มีศักยภาพ เพื่อส่งเสริมให้สตาร์ทอัพไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ยุค 4.0 หรือ 5.0 อย่างเต็มตัวในอนาคต และเศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนด้วยสตาร์ทอัพและเทคโนโลยีได้อย่างสหรัฐอเมริกา

นายสินนท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด ผู้ให้บริการโซลูชันพลังงานสะอาดชั้นนำของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในหัวข้อ Greener and Smarter Tomorrow  กล่าวว่า กลุ่มบ้านปูตั้งเป้าหมายที่จะมุ่งสู่การผลิตพลังงานสะอาด ลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonize) ให้ได้มากที่สุด และเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ดิจิทัล (Digitize) ปัจจุบันบ้านปูเน็กซ์ดำเนินธุรกิจใน 7 ประเทศและกำลังจะเพิ่มสหรัฐอเมริกาเข้ามา และตั้งเป้าจะเป็นผู้นำด้าน Total smart energy player และเป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันเรื่อง Net Zero ให้กับทุกคนในภูมิภาคนี้ โดยพันธกิจนี้จะสำเร็จได้ ต้องปลูกฝัง Mindset ให้กับคนในองค์กร ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ โดยคนบ้านปูจะต้องรู้จักยืดหยุ่นในการทำงาน (Resilience)  คิดแบบกลยุทธ์เป็น มีการตัดสินใจที่แม่นยำ และส่งผ่านรุ่นต่อรุ่นได้

นายอดิทิพ ภาณุพงศ์ Industry Head, Strategic Partnerships, Google ประเทศไทย ผู้ให้บริการเสิร์ชเอนจินค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตอันดับหนึ่งของโลก กล่าวในหัวข้อ “How AI is a game changer for user, business and society” ว่า อ้างอิงจากรายงานของ McKinsey & Co พบว่า AI สร้างผลกระทบต่อรายได้จากการตลาดและการขายมากที่สุด ดังนั้นเราต้องมาดูว่า AI ช่วยเรื่องการตลาดและการขายได้อย่างไร ข้อแรก AI ช่วยให้เข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างถูกวิธีและถูกเวลา ถัดมา AI สามารถช่วยในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูง ใช้เวลานาน และยาก และสุดท้าย AI ช่วยสร้างความแม่นยำในการเข้าถึงผู้บริโภค นอกจากนี้ องค์กรต้องเข้าใจว่า ไม่ได้แข่งกับ AI แต่เราแข่งกับธุรกิจและนักการตลาดที่ใช้ AI ดังนั้นหากเราต้องการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน เราต้องใช้ AI กับ Data ของเราเอง เพราะเป็นสิ่งที่คู่แข่งไม่มี และต้องคำนึงถึง Touch point ที่สำคัญที่สุดที่อยากปรับเปลี่ยน (Transform) รวมถึงการปรับเปลี่ยนหน้าที่ (Task) และกระบวนการ (Process) ในองค์กรที่สามารถใช้ AI เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทำให้การทำงานง่ายขึ้นและลดการใช้ทรัพยากรแบบสิ้นเปลืองลง

ปิดท้ายกับการเสวนา (Panel Discussion) ในหัวข้อ “CHANGE อย่างไรให้ก้าวนำโลก” โดย นายธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการ บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และการจัดการ ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับโลก กล่าวว่า วันนี้โลกไม่ใช่ยุคของปลาใหญ่กินปลาเล็ก หรือปลาเร็วกินปลาช้า แต่เปรียบเสมือนยุค “ปลาโอลิมปิก กินปลาซีเกมส์” การแข่งขันบนโลกไร้พรมแดนมากขึ้น ไม่ว่าต้องการแข่งขันอะไรก็ต้องมีมาตรฐานระดับโลก เพื่อแข่งกับคู่แข่งที่บุกมาถึงบ้านเรา ภาคธุรกิจต้องเข้าใจว่า มาตรฐานระดับโอลิมปิกที่เกี่ยวข้องกับ

ธุรกิจของตัวเองอยู่ตรงไหน แล้วไปฝึกแบบมาตรฐานนั้น เช่น การฝึกนักกีฬาวอลเลย์บอลหญิงของไทย ที่โค้ชไปดูมาตรฐานการซ้อมระดับโลกจากประเทศชั้นนำ แล้วปรับมาฝึกกับทีม ความยิ่งใหญ่ในระดับประเทศอาจไม่เพียงพอ เพราะท้ายที่สุด จะมีกลุ่มมาตรฐานโอลิมปิกมาแข่งอยู่ดี ต้องใหญ่และมีมาตรฐานระดับภูมิภาคหรือระดับโลก ขณะเดียวกัน Game Changer ที่สำคัญสำหรับองค์กร คือการหา “A Player” หรือบุคคลที่มีทักษะความสามารถที่ยอดเยี่ยม สำหรับงานและธุรกิจของบริษัท เข้ามาร่วมงานให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมองบริษัทของตัวเองในฐานะทีมกีฬา       

นายขยล ตันติชาติวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมทเธียร์ จำกัด ผู้ให้บริการด้านบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์อัจฉริยะ (Smart Facility Management) แบบครบวงจร กล่าวว่า ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง อย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีคือคำตอบสำคัญที่จะช่วยสร้างโลกให้ดีขึ้นได้ โดยเฉพาะการดูแลด้านความปลอดภัยและการดูแลสิ่งแวดล้อม  ขณะเดียวกัน ทุกคนยังต้องเผชิญกับ “BANI World” หรือโลกที่มีทั้งความเปราะบาง (Brittle) ความกังวล (Anxious) ความสัมพันธ์ซับซ้อน ไม่เป็นเส้นตรง (Nonlinear) และเข้าใจยาก (Incomprehensible) ผู้นำองค์กรจึงต้องมีวิสัยทัศน์ที่ดี มองการณ์ไกลถึงการเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้น พร้อมกับการสื่อสารให้คนในองค์กรเข้าใจ เพื่อให้ทุกคนอยากเปลี่ยนแปลงโลกไปพร้อมกัน

นายศุภโชค ปัญจทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท ไฟว์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ A5 ผู้นำในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยทั้งแนวราบและแนวสูงที่สร้างความแตกต่างอย่างมีคุณค่า กล่าวว่า โลกในขณะนี้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา 1.ประชากรลดลงอย่างรวดเร็ว ในยุคหลังสงครามเย็น ไทยมีประชากร 30 ล้านคน และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนกลายเป็น 66 ล้านคน ขณะที่ยุคถัดจากนี้ โลกก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประชากรมีบุตรน้อยลง ผู้สูงอายุมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จำนวนประชากรอาจถอยกลับไปเหลือ 30 ล้านคน 2.โลกก้าวสู่ยุคการปรับความต้องการเฉพาะบุคคล (Personalization) ผู้คนเปิดมือถือแล้วพบสิ่งที่ตัวเองชอบอยู่ตลอดเวลาจากข้อมูลทางเทคโนโลยี ส่งผลให้แนวโน้มความต้องการของคนต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ ต้องใส่ใจเรื่อง personalization มากขึ้น เช่น อาจมีการออกแบบโลโก้เฉพาะสำหรับบ้านแต่ละหลังเพื่อเจ้าของแต่ละคน การออกแบบบ้านให้คนต่างเจเนอเรชันอาศัยอยู่ร่วมกันได้ หากต้องการให้องค์กรประสบความสำเร็จ ต้องไม่ยึดติดกับสูตรสำเร็จเดิมๆ ผู้นำต้องมองอนาคตให้ขาด และต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสารวิสัยทัศน์ไปให้ถึงสมาชิกทีม เพื่อพาองค์กรไปสู่เป้าหมาย

นายรวิศ หาญอุตสาหะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจด้านเวชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์และเครื่องสำอาง กล่าวว่า ทุกวันนี้ไม่ว่าปลาใหญ่หรือปลาเล็กก็ต้องเหนื่อยทั้งนั้น เพราะวิธีการมองโลกของคนเปลี่ยนไป อะไรก็ตามที่หายไปมักมีสิ่งใหม่เข้ามาแทนที่เสมอ องค์กรจึงต้องพร้อมปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ยิ่งกว่านั้น การทำธุรกิจในปัจจุบันไม่สามารถมองเป้าหมายแค่ผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ต้องวางเป้าหมายระยะยาว มองไปถึงลูกค้า พนักงาน และสังคมด้วย ซึ่งหากคิดในมุมนี้จะสามารถเปลี่ยนวิธีการทำงานของทั้งองค์กรได้


#ThePeople #ThePeopleTalk #GAMECHANGERFORUM2023 #Thepeople5thAnniversary #Gamechanger

#ถอดบทเรียนคนเปลี่ยนเกม #คนเปลี่ยนเกม #A5Greatnessinspiredbylove #MetthierRiseAbove

Facebook Comments

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.