จุฬาฯโชว์ความสำเร็จโมเดลบริหารจัดการขยะพลาสติก สร้างเทรนด์คนรุ่นใหม่ร่วมรักษ์โลกใช้แก้ว-หลอดไบโอ

0
1548

กระแสความเข้มข้นในการรณรงค์เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทยมีการตื่นตัวมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากหลายหน่วยงานได้มีการพัฒนาระบบบริหารจัดการในหลายแนวทาง เพื่อลดการใช้ภาชนะพลาสติก ควบคู่ไปกับการตระหนักรู้ในเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว ซึ่งประเทศไทย จำเป็นต้องให้ความสำคัญในการลดปัญหาขยะ โดยเฉพาะขยะที่มีการใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง ไม่ว่าจะเป็น ถุงพลาสติก หลอด แก้วน้ำ  เป็นต้น  ซึ่งพบว่าปริมาณขยะเหล่านี้ เป็นประเภทผลิตภัณฑ์ที่มีการย่อยสลายได้ยาก ใช้เวลาหลายร้อยปี ส่งผลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ตามมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ กรุงเทพฯ ที่มีประชากรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดปริมาณขยะทุกประเภทสูงถึง 10,000 ตันต่อวัน จากการเก็บขยะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยไม่รวมกับขยะที่ทิ้งในแหล่งธรรมชาติ

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ต่างเร่งศึกษาหาแนวทาง และมาตรการต่างๆที่จะลดปริมาณขยะที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง โดยเริ่มจากผลิตภัณฑ์ที่นิยมใช้จำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้นำร่องการวางระบบการบริหารจัดการให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ตั้งแต่นักศึกษา อาจารย์ บุคคลภายนอกที่เข้ามาติดต่อ  รวมถึงโรงอาหารทั้ง 17 แห่ง ที่จัดจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มภายใน จุฬาฯ ผ่านโครงการ จุฬาฯ ซีโร่-เวสต์ (Chula Zero Waste)  โดยมีเป้าหมายที่จะลดปริมาณขยะพลาสติก ในพื้นทีมหาวิทยาลัย โดยโครงการได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ เดือนกรกฎาคม ปี 2561  และคาดว่าจะมีการขยายขอบเขตไปยังพื้นที่โดยรอบของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็น จามจุรีสแควร์ ศูนย์หนังสือจุฬาฯ  โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และสภากาชาดไทย เป็นต้น

นายวรุณ วารัญญานนท์ ที่ปรึกษาเพื่อภาคีอุตสาหกรรม ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ(PETROMAT)  กล่าวถึงการดำเนินโครงการจุฬาฯ ซีโร่-เวสต์  ในส่วนของแผนลดใช้แก้วพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง  ที่ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน โดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) หรือ GC ในการสนับสนุน  พลาสติกชีวภาพ นวัตกรรมใหม่  หรือ BioPBS เพื่อผลิตแก้วกระดาษไบโอพลาสติก มีคุณสมบัติย่อยสลายได้ภายใน  4-6 เดือน   โดยพบว่า หลังจากที่ดำเนินการให้มีการปรับเปลี่ยนการใช้ แก้วไบโอพลาสติก ในระยะ เวลา 8 เดือนที่ผ่านมา (กรกฏาคม 2561- กุมภาพันธ์ 2562)  มีสถิติการใช้ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีอัตราเฉลี่ยการใช้ ถึง 148,900 ใบต่อเดือน สามารถลดขยะพลาสติกได้ 12.9 ตันต่อเดือน จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1,000,000 ใบต่อปี 

นับเป็นผลสำเร็จของการดำเนินโครงการดังกล่าว ที่นอกจากลดปริมาณขยะพลาสติกแล้ว ยังเป็นสามารถต่อยอดในการนำแก้วไบโอพลาสติกที่ใช้แล้วไปเป็นภาชนะทดแทนถุงเพาะชำ ซึ่งสามารถย่อยสลายได้ในดิน มีคุณสมบัติพิเศษ ของถ้วยไบโอคัพ เมื่อย่อยสลายแล้วยังสามารถเป็นสารปรับปรุงคุณภาพดินอีกด้วย ซึ่งขณะนี้มีทั้งหน่วยงานรัฐ และสถาบันการศึกษา ขอรับแก้วที่ใช้แล้วเพื่อนำไปเพาะกล้าไม้ เป็นการสร้างประโยชน์อีกทางหนึ่ง โดยที่จุฬาฯ ไม่ต้องจัดส่งแก้วไบโอพลาติกสู่กระบวนการทำปุ๋ยหมัก ที่โรงงานสระบุรี

จุดเริ่มต้นการนำแก้วไบโอพลาสติกมาใช้ในโรงอาหารทั้ง17 แห่ง ของจุฬาฯ เป็นแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค ให้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าของการใช้ทรัพยากร ที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการนำแก้วไบโอพลาสติก มาทดแทนแก้วพลาสติกทั่วไป ซึ่งแม้ว่าจะมีราคาสูงกว่า ผู้บริโภคต้องมีส่วนร่วมในความรับผิดชอบการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยการจ่ายราคาเครื่องดื่ม ที่สูงขึ้น 2 บาทต่อแก้ว แต่หากนำแก้วมาเอง จะได้รับราคาส่วนลด 2 บาทต่อแก้ว แนวทางนี้ ถือเป็นการสร้างจิตสำนึกของผู้บริโภคให้หันมาใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด  และยังสามารถใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญอีกแห่งหนี่ง สำหรับสถาบันการศึกษาในประเทศ ที่เริ่มให้ความสนใจนำโมเดลนี้ปรับใช้ ในสถาบันการศึกษา อาทิ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตเพชรบุรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  รวมถึงภาคเอกชน ในส่วนของสถาบันการเงิน อาทิ  ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย เป็นต้น

ความต่อเนื่องของการดำเนินงาน ได้มีการนำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เข้ามาให้ใช้ในโรงอาหาร ไม่ว่าจะเป็น ถุงพลาสติกรีไซเคิล ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้หลายครั้ง ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มใช้ไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม ที่ผ่านมา และคาดว่าปลายปีนี้ จะมีการนำ หลอดไบโอพลาสติก มาใช้ในโรงอาหาร เพิ่มอีกหนึ่งรายการ ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้งหมดล้วนแล้ว เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้จำนวนมาก และเป็นพฤติกรรมของคนไทยที่นิยมการใช้หลอด แทนการดื่มจากแก้วโดยตรง จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำมาสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อลดการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์

นางสาวนิภาพร พูลสวัสดิ์ นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 3  และนางสาวณิชา เวชพานิช  นิสิตคณะอักษรศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   สะท้อนมุมมองในทิศทางเดียวกันถึง แนวทางการนำแก้วไบโอพลาสติกมาใช้ในโรงอาหาร ในช่วงที่ผ่านมาว่า มีหลากหลายความคิดที่เกิดขึ้น กับนักศึกษาในจุฬาฯ ทั้งในรูปแบบการยอมรับสภาพความเป็นจริง ที่ต้องจ่ายเงินเพิ่มสูงขึ้น กับการซื้อเครื่องดื่มภายในโรงอาหาร และนักศึกษาบางคน ยอมนำภาชนะของตนเอง เพื่อมาซื้อเครื่องดื่ม เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือนักศึกษามีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในการรู้จักการคัดแยกขยะที่ชัดเจนมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่านักศึกษาพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมดังกล่าว

            นับเป็นก้าวสำคัญของการนำผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการขยะ ที่มีประสิทธิภาพไปใช้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติมากขึ้นและสามารถสร้างการตื่นตัวให้กับผู้บริโภคทุกกลุ่ม รวมทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาที่พร้อมนำโมเดลมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของคนแต่ละพื้นที่ และสำคัญที่สุด คือเข้าถึงวิธีการบริหารจัดการขยะที่ถูกต้องได้ทั้งระบบ

สั่งจองนิตยสาร Howe โดยไม่ต้องรอหาตามแผงสั่งได้ที่
Line : Howemagazine
  Fanpage : Howemagazine
รายละเอียดการสั่ง (คลิ๊ก)

  อ่านนิตยสาร Howe Magazine ออนไลน์ได้ที่

Ookbee-Logo
LOGO-MEB-2017
Facebook Comments

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.