ถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ ของวงการแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ ที่ไม่ควรพลาด เมื่อทาง Dior ได้เปิด Dior Gold House หรือ ดิออร์โกลด์เฮาส์ อย่างเป็นทางการในวันที่ 8 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา บนถนนเพลินจิต ใจกลางกรุงเทพมหานคร พร้อมจะมอบประสบการณ์สุดพิเศษ ด้วยการหลอมรวมหลากวัฒนธรรมต่างขั้ว โดยอาศัยไหวพริบพลิกแพลง ทักษะความชำนาญแขนงต่าง ๆ Dior Gold House หาได้ต่างอันใดจาก “อาณาจักรแห่งความฝัน” เสกสรรมนตราสะกดอารมณ์ให้แก่บรรดาผู้มาเยือน ตั้งแต่ปฐมบทตระการตาของโครงสร้างด้านหน้าบูติกจำลองแบบสถาปัตยกรรมอันโดดเด่น ของอาคารเลขที่ 30 ถนนมงแตญ ที่ตั้งห้องเสื้อแฟชั่นตำนานปารีเซียง มานับแต่มงซิเออร์ก่อตั้งแบรนด์ของตนขึ้น เมื่อปี ค.ศ. 1946 ไปจนถึงสวนสวรรค์กลางกรุงอันแสนร่มรื่น ด้วยความพรั่งพร้อมของรุกขชาตินานาพรรณ ท่ามกลางประกายทองรองเรือง หนึ่งในเฉดสีตราบนิรันดร์ของ Dior ในงานโมเสก จากความเป็นเลิศเชิงเทคนิคโดยช่างศิลป์ชาวไทย พื้นที่กว่า 1,000 ตารางเมตรคือบทสรุปของการถักทอ และร้อยเรียงกลิ่นอายแห่งความภูมิฐานทางวัฒนธรรมแฟชันชั้นสูงฝรั่งเศส เข้ากับเสน่ห์มรดกอารยศิลป์ของประเทศ ซึ่งมีรากฐานประวัติศาสตร์สูงส่ง และยาวนานแห่งเอเชียอาคเนย์เข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน
และเมื่อผ่านประตูเข้าสู่ภายใน ความแตกต่างหลากหลาย และครบครันในอาณาจักรแฟชันแห่ง Dior พลันประจักษ์ จากเสื้อผ้าสำเร็จรูปตามแนวทางการออกแบบของมาเรีย กราเซีย คิวริ ไปจนถึงเครื่องแต่งกายชายโดยคิม โจนส์ รวมถึงคอลเลกชันเครื่องหนังอย่างรองเท้า, เข็มขัด และกระเป๋า, เครื่องประดับ ตลอดจนของตกแต่งบ้าน และภาชนะประจำโต๊ะอาหารจาก Dior Maison ล้วนมอบบรรยากาศร่วมสมัย เต็มไปด้วยความวิจิตรบรรจงจากงานตกแต่งประดับประดาด้วยวัสดุธรรมชาติอย่างไม้ไผ่, งานไม้ และราฟเฟีย ร่วมกับบรรดาสัญลักษณ์ประจำ House of Dior ตั้งแต่ดวงดาวนำโชคไปจนถึงผ้าพิมพ์ลายจิตรกรรมสีเดี่ยว toile de Jouy (ตวล เดอ ฌูย์) รวมถึงลายพิมพ์แผนที่ปารีสหรือ Plan de Paris (ปลอง เดอ ปารีส์) เพื่อระลึกถึงความรักที่ Christian Dior มีต่องานศิลปะ Dior Gold House แสดงผลงานสร้างสรรค์จากเก้าศิลปินไทยเจ้าของฝีมือแบบฉบับเฉพาะตัว
นับจากก้าวแรกผ่านแมกไม้เขียวขจีของตัวอาคาร ผู้มาเยือนจะพบกับศิลปะจัดวางหลายสไตล์ ไม่ว่าจะเป็นงานสรรค์สร้างจากรอยเท้าช้างโดยบุญเสริม เปรมธาดา ตุ๊กตุ๊กจักสานขนาดเท่ารถสามล้อจริงที่เห็นได้บนถนนทุกสายทั่วกรุงเทพมหานคร ผลงานรังสรรค์โดยศรัณย์ เย็นปัญญา จากสตูดิโอ 56 (56th Studio) หรือบรรดาประติมากรรม ซึ่งวิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ออกแบบขึ้นสำหรับใช้ตกแต่งภายใน ขณะเดียวกับที่เก้าอี้เท้าแขนโดย เอกรัตน์ วงษ์จริต ครองความโดดเด่นท่ามกลางห้องหนึ่งภายในตัวอาคารบูติก เฟอร์นิเจอร์จากคู่นักออกแบบ รัฐ เปลี่ยนสุข และฟิลิปป์ มัวสัน ซึ่งผลงานแต่ละชิ้นล้วนโดดเด่นเป็นหนึ่ง รวมถึงเซอร์ไพรส์ท้ายสุดโดยสองศิลปิน วาสนา และสาวิน สายมา จากแบรนด์ วาสนา (Vassana) ร่วมกันรังสรรค์คอลเลกชันกระเป๋าถือ Lady Dior ด้วยหัตถศิลป์สานตอกไม้ไผ่พื้นบ้านไทย เพื่อสะท้อนถึงแนวคิดงานฝีมือ วัฒนธรรมร่วม ระหว่างสองขั้วอารยธรรม
หากปรารถนาจะนั่งพักหรือต้องการเสพศิลป์ทางสุนทรีย์แห่งกลิ่นรส ท่ามกลางความงามสง่า Café Dior มอบความหลากหลายทางตัวเลือก ซึ่งต่างเติมเต็มความเพลิดเพลินให้กับทุกประสาทสัมผัส โดยอาศัยความเป็นเลิศทางโภชนศิลป์แบบฉบับฝรั่งเศส ร่วมกับงานออกแบบมิติศิลป์โดย กรกต อารมย์ดี ผู้นำงานจักสานตอกไม้ไผ่รังสรรค์เสน่ห์ธรรมชาติในอาณาจักรพรรณพฤกษาและสัตว์ ขึ้นแบบสามมิติของมวลดอกไม้ ใบไม้ และวิหคนกน้อยได้อย่างละเมียดละไมดุจมีชีวิต และประสบการณ์รสสัมผัสอันมิอาจหาใดเปรียบ จากเชฟ 3 ดาว มอโร โกลาเกรโก ผู้รจนารายการของหวาน และเครื่องดื่มโดยอาศัยแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ หนึ่งในแนวทางการสร้างสรรค์อันเป็นที่รักยิ่งของคริสเตียน ดิออร์ นำมาซึ่งมรดกสืบทอดตลอดประวัติศาสตร์ความสำเร็จของ House of Dior
ด้วยการแสดงถึงความเฉียบคมเหนือชั้นในงานสร้างสรรค์ของ Dior อย่างครบครันจนมิอาจหาสถานที่แห่งใดเสมอเหมือน Dior Gold House คือบทบรรจบทางความเป็นเลิศระหว่างฝรั่งเศสกับไทย โดยอาศัยความกล้าทางจินตนาการอย่างที่ไม่เคยมีปรากฏมาก่อน