CEA ร่วมกับ องค์กรพันธมิตร คิกออฟเทศกาล “UNFOLDING BANGKOK” โชว์ 3 ธีม เส้นทางท่องเที่ยวไฮไลต์ใหม่ เปิดประสบการณ์กรุงเทพมหานคร สร้างบรรยากาศชวนเที่ยวด้วยโปรแกรมต่อเนื่อง ระหว่างวันที่ 12 พ.ย.- 5 มี.ค.2566 ปักหมุดท่องวัดลับ ยามค่ำคืน ธีม ‘Hidden Temple’ กับ 3 กลุ่มวัดเริ่มวัดอินทาราม และ วัดราชคฤห์ 12-20 พ.ย.นี้ เที่ยวสวนป่ากลางเมือง ธีม ‘Greeting Benjakitti’ 28 ม.ค. – 26 ก.พ. 2566 และ ย้อนรอยอาคารประวัติศาสตร์ ธีม ‘Living Old Building’ 4 ก.พ. – 5 มี.ค. 2566 ด้วยไอเดียสร้างสรรค์ ผสมผสานเทคนิคของแสงและสี สัมผัสความงดงามศิลปวัฒนธรรมไทย โชว์กิจกรรมการแสดง การละเล่นท้องถิ่น รองรับนักท่องเที่ยวไทย-เทศหลังเปิดประเทศเต็มรูปแบบ พร้อมเตรียมต้อนรับคณะผู้ร่วมประชุมเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ตั้งเป้าสร้างเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาทตลอดเทศกาล
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กรุงเทพมหานคร และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB ได้ร่วมกันเปิดเทศกาลการท่องเที่ยวแหล่งใหม่ในกรุงเทพฯ ภายใต้ โครงการ “UNFOLDING BANGKOK” ภายใต้ 3 ธีมหลัก ประกอบด้วย ‘Hidden Temple’ ท่องวัดลับ ‘Greeting Benjakitti’ เที่ยวสวนป่ากลางเมือง และ ‘Living Old Building’ ย้อนรอยอาคารประวัติศาสตร์เพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่กรุงเทพมหานคร
โดยนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ พร้อมด้วย ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB ร่วมกิจกรรมเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวของประเทศ
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า โครงการ “UNFOLDING BANGKOK เปิดประสบการณ์ใหม่กรุงเทพมหานคร” นับเป็นแผนงานที่สอดรับกับนโยบายรัฐบาลที่ได้เปิดประเทศเต็มรูปแบบ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะต่างชาติที่ทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย พร้อมกันนี้ยังถือเป็นโอกาสอันดีที่แหล่งท่องเที่ยวภายใต้โครงการฯนี้ยังจะได้ต้อนรับคณะเจ้าหน้าที่และผู้เข้าร่วมประชุมในเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเซีย-แปซิฟิก (APEC 2022) ระหว่างวันที่ 16-19 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อการท่องเที่ยวของไทยอีกด้วย
“ขณะนี้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้ทยอยเข้ามาท่องเที่ยวในไทยอย่างต่อเนื่อง จึงมั่นใจว่าทั้งปี 2565 จะมีต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในไทยไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน ได้ตามเป้าหมายและอาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ ซึ่งการที่เรามีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลายจะส่งผลดีต่อภาพรวมของการท่องเที่ยว อย่างครั้งนี้ที่มีการออกแบบเส้นทางโดยนำเอาทุนทางวัฒนธรรม ศิลปะและวิถีชีวิตมาต่อยอดด้วยความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาสู่แหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ ให้สอดรับกับบริบทของแต่ละพื้นที่ และเป็นจุดขายสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่และจะนำร่องไปยังพื้นที่อื่น ๆ จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา Soft Power โดยเฉพาะความเป็นอัตลักษณ์ของไทยที่รัฐบาลมุ่งเน้นไปสู่เวทีระดับโลก” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA กล่าวว่า CEA ในฐานะองค์กรเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เข้ามาดำเนินการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ ภายใต้โครงการ “UNFOLDING BANGKOK เปิดประสบการณ์ใหม่กรุงเทพมหานคร” โดยร่วมมือกับภาคีเครือข่าย อาทิ Urban Ally ศูนย์ข้อมูลสถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และมิตรเมืองภาคีเครือข่ายย่านบางยี่เรือ-ตลาดพลู และชุมชน เป็นต้น ในการคัดเลือกสถานที่และแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณค่าแต่ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง โดยการนำความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ต่อยอดต้นทุนวัฒนธรรมและภูมิปัญญา โดยมีเป้าหมายการสร้างรายได้และคุณภาพชีวิตของผู้คนในพื้นที่เพื่อสร้างระบบนิเวศสร้างสรรค์ ที่ก่อให้เกิดบรรยากาศ สภาพแวดล้อมสะท้อนภาพลักษณ์ใหม่ของประเทศไทย โดยนำอัตลักษณ์ท้องถิ่นและของดีมาสร้างคุณค่าให้เพิ่มขึ้น เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวแนวใหม่ที่อยู่ในเมืองหลวงของไทยที่สามารถท่องเที่ยวได้ทั้งกลางวัน และกลางคืน
รวมไปถึงกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจระดับชุมชน และขยายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของกรุงเทพฯ โดยตั้งเป้าว่าการดำเนินงานตลอดโครงการจะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท
สำหรับแผนงานคิกออฟโครงการ “UNFOLDING BANGKOK” ได้กำหนดให้มีกิจกรรมในเทศกาล ตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2565
ไปจนถึงวันที่ 5 มีนาคม 2566 ภายใต้ทั้ง 3 ธีมหลัก ซึ่งในครั้งนี้เป็นการเริ่มต้นของโปรแกรมการท่องเที่ยว ภายใต้ธีม ‘Hidden Temple’ ท่องวัดลับใน 3 กลุ่มวัด ที่มีคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ โดยนำเทคโนโลยีการจัดแสดงแสงสี ติดตั้งบนสถาปัตยกรรม เพื่อให้เกิดมุมมองมิติของความสวยงามของสถาปัตยกรรมไทยที่ทรงคุณค่าพร้อมไปกับการจัดแสดงและการละเล่นของนักสร้างสรรค์และ ชุมชน (Performing Art) เช่นการแสดงกระตั้วแทงเสือ การแสดงเชิดสิงโต ชมศิลปะแทงหยวก การแสดงหุ่นกระบอกจีน รำกระบี่กระบอง เป็นต้น โดยเริ่มจากโปรแกรมท่องเที่ยววัดอินทาราม
วัดจันทารามและวัดราชคฤห์ ย่านตลาดพลู จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 – 20 พฤศจิกายน 2565 และตามด้วยโปรแกรมของวัดภุมรินทร์ราชปักษี-วัดดุสิดาราม ย่านบางกอกน้อย ระหว่างวันที่ 10 – 18 ธันวาคม 2565 และวัดพระยาศิริไอยสวรรค์-วัดสวนสวรรค์ และ วัดคฤหบดี ย่านบางยี่ขัน วันที่ 24-31 ธันวาคม 2565
โปรแกรมช่วงที่ 2 เป็นการจัดกิจกรรมต่อเนื่อง ภายใต้ธีม ‘Greeting Benjakitti’ เที่ยวสวนป่ากลางเมือง ได้ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร และ
สถาบันอาศรมศิลป์ ซึ่งจัดขึ้นที่สวนป่าเบญจกิติ แหล่งรวมพันธุ์ไม้พื้นเมืองและเป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่ในกลางกรุงเทพฯ โดย CEA ร่วมกับศิลปินออกแบบและจัดทำเป็นประติมากรรมในพื้นที่สวน ด้วยรูปแบบ Art Installation ที่มีมิติความกลมกลืนกับระบบนิเวศในสวนป่าเบญจกิติ เพื่อให้ผู้เข้าเยี่ยมชมสวนสามารถใช้ประโยชน์จากงานประติมากรรมในรูปแบบ Universal Design ที่มีฟังก์ชั่นการใช้งานได้ทุกเพศ ทุกวัย พร้อมจัดกิจกรรมการแสดง Performing Art และกิจกรรมเวิร์คช็อป โดยเปิดให้ผู้ที่สนใจและประชาชนสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม ถึง 26 กุมภาพันธ์ 2566
สำหรับโปรแกรมสุดท้ายของโครงการ ในธีม ‘Living Old Building’ ย้อนรอยอาคารประวัติศาสตร์ ทาง CEA ได้ร่วมกับ Urban Ally คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กลุ่ม Lighting Designers Thailand (LDT) และ การรถไฟแห่งประเทศไทย ในการนำพื้นที่อาคารที่มีคุณค่าทางศิลปะและประวัติศาสตร์ มาปรับปรุงพื้นที่ในอาคารเก่า และอาคารอนุรักษ์ โดยการออกแบบ แสงสี (Lighting) เพื่อจัดแสดงโชว์ความสวยงามของอาคาร พร้อมจัดกิจกรรมภายในอาคารและนอกอาคาร เพื่อให้อาคารเก่ากลับมามีชีวิตและใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง เพื่อใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ อาทิ อาคารสถานีรถไฟหัวลำโพง สำนักงานประปาแม้นศรี เป็นต้น โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ถึง 5 มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกัน ที่ CEA จัดเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 หรือ Bangkok Design Week 2023 ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เป็นกิจกรรมหลักต่อเนื่องประจำปี ของการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของกรุงเทพฯ