SCGC ไม่หวั่น เชื่อมั่นปิโตรเคมีในภูมิภาคเติบโต เดินเกมระยะยาวเสริมแกร่งธุรกิจปิโตรเคมี ทุ่มงบ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ ลงทุนโครงการเพิ่มวัตถุดิบก๊าซอีเทนใน LSP คอมเพล็กซ์ เวียดนาม 

0
145

เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC ผู้นำธุรกิจพอลิเมอร์ครบวงจรเพื่อความยั่งยืน พลิกเกมช่วงธุรกิจปิโตรเคมีขาลง เชื่อมั่นในการเติบโตของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในภูมิภาค เดินหน้าเสริมแกร่งธุรกิจด้วยการลงทุนโครงการเพิ่มวัตถุดิบก๊าซอีเทนในบริษัท ลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ (Long Son Petrochemicals – LSP) ด้วยงบประมาณลงทุนรวมประมาณ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 23,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้โรงงาน LSP สามารถรับวัตถุดิบก๊าซอีเทนจากสหรัฐอเมริกาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยมีต้นทุนวัตถุดิบที่ต่ำลง และเพิ่มความยืดหยุ่นในการรับวัตถุดิบในการผลิตได้มากขึ้น พร้อมทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จ ปลายปี 2570

นายศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ SCGC เผยว่า “กระบวนการผลิตโอเลฟินส์ของโรงงาน LSP ได้รับการออกแบบให้มีความยืดหยุ่นในการใช้วัตถุดิบตั้งต้นประเภทก๊าซมากขึ้น งบประมาณลงทุนส่วนใหญ่จะนำไปใช้สำหรับการสร้างระบบการจัดการและถังจัดเก็บวัตถุดิบก๊าซอีเทน ซึ่งต้องอยู่ภายใต้อุณหภูมิต่ำประมาณ -90 องศาเซลเซียส รวมทั้งสาธารณูปโภคการรับวัตถุดิบ (supporting facilities) เมื่อโครงการแล้วเสร็จ โรงงาน LSP จะสามารถรับก๊าซอีเทนได้มากถึงสองในสามของปริมาณวัตถุดิบทั้งหมด โดยส่วนที่เหลือจะเป็นก๊าซโพรเพนและแนฟทา”

ทั้งนี้ โรงงาน LSP ได้เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 สามารถผลิตและจำหน่ายพอลิเมอร์คุณภาพสูงเพื่อป้อนตลาดในประเทศเวียดนามและส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยผลิตภัณฑ์จากโรงงาน LSP ได้รับการยอมรับในด้านคุณภาพและมาตรฐานระดับสากล

“อย่างไรก็ตาม ในช่วงธุรกิจปิโตรเคมีขาลง SCGC มีแนวทางบริหารจัดการการผลิตของโรงงานทั้ง 3 แห่ง ได้แก่  โรงงานระยองโอเลฟินส์ (ROC) โรงงานมาบตาพุดโอเลฟินส์ (MOC) และโรงงาน LSP ให้เหมาะสมกับราคาวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ และสถานการณ์เศรษฐกิจโลก เพื่อให้มีศักยภาพการแข่งขันสูงสุด ซึ่งขณะนี้ โรงงาน LSP ได้หยุดการเดินเครื่องชั่วคราว เพื่อบริหารต้นทุนธุรกิจโดยภาพรวม ทั้งนี้ SCGC จะประเมินการกลับมาเดินเครื่องอีกครั้งเมื่อสถานการณ์เหมาะสม โดยระหว่างนี้ โรงงาน LSP จะมุ่งเน้นการยกระดับประสิทธิภาพ (Operational Excellence) และการบำรุงรักษาเครื่องจักรต่าง ๆ เพื่อให้พร้อมผลิตในทันทีที่สภาวะตลาดโลกฟื้นตัว” นายศักดิ์ชัย กล่าวทิ้งท้าย 

Facebook Comments

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.