ความร่วมมือภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก

0
361

สนทช. ผนึกกำลัง อีสท์ วอเตอร์ และ กนอ. เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการฤดูแล้งปี 2565/2566 และเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝน ปี 2566 ในพื้นที่จังหวัดระยอง พร้อมสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนผ่านรายการ รู้อยู่กับน้ำ เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำในทุกมิติ

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะคณะทำงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.)  นำคณะลงพื้นที่จังหวัดระยอง เพื่อติดตามผลการดำเนินงาน 10 มาตรการฤดูแล้ง ปี 2565/2566 และเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝน ปี 2566 โดยติดตามสถานการณ์น้ำบริเวณอ่างเก็บน้ำประแสร์ และสรุปภาพรวมสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ รวมถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำรับมือฤดูฝน มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นการมีส่วนร่วมการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จากผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำ 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาคเกษตร พาณิชยกรรม และอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ มีการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนเพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำในทุกมิติ ผ่านรายการ “รู้อยู่กับน้ำ” เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงผลกระทบของภัยพิบัติด้านน้ำและสามารถปรับตัวอยู่กับน้ำได้ในทุกสถานการณ์ โดยมีการพูดคุยร่วมกับนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและนายบดินทร์ อุดล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายปฏิบัติการ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์ วอเตอร์ มุ่งเน้นให้ภาคอุตสาหกรรมมีส่วนร่วมกับภาครัฐ การพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ของภาคอุตสาหกรรม เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก

นายบดินทร์ อุดล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายปฏิบัติการ อีสท์ วอเตอร์ กล่าวว่า สถานการณ์เอลนีโญที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ ยังไม่ได้รับผลกระทบกับผู้ใช้น้ำที่รับน้ำจากโครงข่ายท่อส่งน้ำของอีสท์ วอเตอร์ ในปัจจุบัน เนื่องจากได้คาดการณ์สถานการณ์น้ำล่วงหน้าในกรณีภัยแล้งวิกฤต ที่มีสถานการณ์น้ำต้นทุนน้อยและมีความต้องการใช้น้ำสูงกว่าปกติ รวมถึงได้มีแผนการสูบจ่ายน้ำรองรับสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว 

โดยอีสท์ วอเตอร์ ได้มีแผนบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของพื้นที่ EEC ในอีก 20 ปีข้างหน้า และการลงทุนวางท่อส่งน้ำสายหลักเพื่อสร้างศักยภาพ Water Grid ให้สมบูรณ์มากกว่าเดิม โดยมีความยาวท่อส่งน้ำสายหลัก 526 กิโลเมตรในระยะเวลาอันใกล้ พร้อมด้วยแหล่งน้ำหลักที่ได้จัดสรรจากกรมชลประทาน ได้แก่ อ่างเก็บน้ำหนองค้อ อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำประแสร์ อ่างเก็บน้ำบางพระ รวมถึงแหล่งน้ำที่สามารถสูบใช้น้ำได้ในแต่ละปี โดยมีปริมาณน้ำต้นทุนเป็นปริมาณน้ำท่าตามฤดูกาล ได้แก่  แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำระยอง คลองทับมา และแหล่งน้ำเอกชน และยังมีแหล่งน้ำสำรองเพื่อใช้ในกรณีที่ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำมีน้อยและเกิดการขาดแคลนน้ำ ได้แก่ สระสำรองน้ำดิบสำนักบก สระสำรองน้ำดิบฉะเชิงเทรา และสระสำรองน้ำดิบทับมา ประกอบกับประสบการณ์ที่สั่งสมมากว่า 30 ปี อีสท์ วอเตอร์อยู่เคียงข้างผู้ใช้น้ำโดยไม่เคยหยุดจ่ายน้ำ พร้อมสนับสนุนชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด 

อีสท์ วอเตอร์ ตระหนักถึงความสำคัญของผู้ใช้น้ำ การบริหารจัดการน้ำในภาพรวมร่วมกับภาคเกษตรกรรม พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม และหน่วยงานภาครัฐ เพื่อร่วมกันดำเนินแนวทางใช้น้ำร่วมกับทุกภาคส่วนด้วยความเท่าเทียมกัน รวมถึงการจัดหามาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้งร่วมกัน ตลอดจนการดูแลกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วนจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำตามแนวท่อส่งน้ำสายหลักของอีสท์ วอเตอร์ ให้อยู่เคียงคู่ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ตลอดไป 

Facebook Comments

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.