โควิด-19 พ่นพิษ! สภาพัฒน์คาดคนไทยเสี่ยงถูกเลิกจ้างงาน 8.4 ล้านคน

0
1186

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 ศ.พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมคณะผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง ได้แถลงข่าวรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2563 ซึ่งมีความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญ ได้แก่ อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ หนี้สินครัวเรือนชะลอการขยายตัว การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังลดลง คดีอาญาลดลง การเกิดอุบัติเหตุทางบกลดลง แต่มีประเด็นที่ต้องติดตาม ได้แก่ การจ้างงานลดลง การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอสถานการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจ ได้แก่ การเลิกเรียนกลางคัน : ความเสี่ยงของอนาคตเยาวชนไทย และพฤติกรรมทางการเงินของครัวเรือนไทยและความเสี่ยงทางการเงิน รวมทั้งการเสนอบทความเรื่อง “วิกฤต COVID-19 : บทเรียนเพื่อการก้าวต่อไปอย่างมีภูมิคุ้มกัน” โดยสรุปสาระดังนี้

การจ้างงานลดลงอย่างต่อเนื่อง อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ ค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง

ไตรมาสหนึ่ง ปี 2563 ผู้มีงานทำ 37,424,214 คน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.7 จากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ลดลงร้อยละ 3.7 ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่มีความรุนแรงและต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2562 ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมยังคงขยายตัวได้เล็กน้อยที่ร้อยละ 0.5 จากการขยายตัวของการจ้างงานในสาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาการศึกษา ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ยังไม่แสดงผลกระทบในจำนวนการจ้างงานภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวมากนัก ส่วนหนึ่งเนื่องจากในช่วงเดือนมกราคม-ต้นมีนาคม การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ยังคงจำกัดอยู่ในบางพื้นที่ และผู้ประกอบการยังรอดูสถานการณ์ของผลกระทบ อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณของผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ต่อการจ้างงานคือ ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยภาคเอกชนลดลงเท่ากับ 42.8 ชั่วโมง/สัปดาห์ จาก 43.5 ชั่วโมง/สัปดาห์ในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว โดยผู้ที่ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงขึ้นไป/สัปดาห์ ลดลงร้อยละ 9.0 นอกจากนั้น สถานประกอบการมีการขอใช้มาตรา 75 ในการหยุดกิจการชั่วคราวมีจำนวนทั้งสิ้น 570 แห่ง และมีแรงงานที่ต้องหยุดงานแต่ยังได้รับเงินเดือน 121,338 คน

ผู้ว่างงานมีจำนวน 394,520 คน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.03 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.92 จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว สอดคล้องกับจำนวนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานที่ในไตรมาสหนึ่ง ปี 2563 มีจำนวน 170,144 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 และมีผู้ว่างงานแฝงจำนวน 448,050 คน คิดเป็นอัตราการว่างงานแฝงร้อยละ 1.2 เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ค่าจ้างที่แท้จริงภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 ผลิตภาพแรงงานลดลงร้อยละ 1.0 เป็นการลดลงจากทั้งภาคเกษตรกรรมและนอกภาคเกษตรกรรม

ปัจจัยที่กระทบต่อการจ้างงาน ปี 2563

  1. การแพร่ระบาดของ COVID-19 จากการประเมินผลกระทบของ COVID-19 ต่อแรงงาน พบว่า แรงงานมีความเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างทั้งสิ้น 8.4 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงาน 3 กลุ่ม ประกอบด้วย (1) แรงงานในภาคการท่องเที่ยวซึ่งมีประมาณ 3.9 ล้านคน (ไม่รวมสาขาการค้าส่ง และการค้าปลีก) จะได้รับผลกระทบจากการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการท่องเที่ยวในประเทศ ประมาณ 2.5 ล้านคน (2) แรงงานในภาคอุตสาหกรรมซึ่งจะได้รับผลกระทบจากตั้งแต่ก่อน COVID-19 จากสงครามการค้า และต่อเนื่องมาจนถึงการแพร่ระบาดของ COVID-19 จากการลดลงของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม บางอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าขายในประเทศยังขยายตัวได้ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่ม หรือของใช้ที่จำเป็น รวมทั้งอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมจากทั้งหมด 5.9 ล้านคน คาดว่า มีผู้ได้รับผลกระทบ 1.5 ล้านคน และ (3) การจ้างงานในภาคบริการอื่นที่ไม่ใช่การท่องเที่ยวในกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของภาครัฐจากการปิดสถานที่ เช่น สถานศึกษา หรือสถานที่มีการรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก เช่น ตลาดสด สนามกีฬา ห้างสรรพสินค้า ซึ่งกลุ่มนี้มีการจ้างงานจำนวน 10.3 ล้านคน คาดว่าจะได้รับผลกระทบประมาณ 4.4 ล้านคน
  2. ผลกระทบจากภัยแล้งต่อการจ้างงานภาคเกษตรกรรม ภาวะภัยแล้งตั้งแต่กลางปี 2562 และต่อเนื่องถึงไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ส่งผลให้การจ้างงานภาคเกษตรลดลง และมีจำนวนแรงงานที่รอฤดูกาล 370,000 คน สูงที่สุดในรอบ 7 ปี โดย ณ เดือนเมษายน ได้มีการประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 26 จังหวัด และมีเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบประมาณ 3.9 ล้านคน และเกษตรกรในพื้นที่อื่นที่มีปริมาณน้ำน้อยและไม่สามารถทำกิจกรรมทางการเกษตรก็ได้รับผลกระทบอีกจำนวน 2.1 ล้านคน รวมเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทั้งสิ้น 6 ล้านคน

ทั้งนี้ คาดว่าผลกระทบของการแพร่ระบาดเชื้อ COVID-19 และปัญหาภัยแล้งต่อการจ้างงาน การว่างงาน จะปรากฏผลชัดเจนเป็นลำดับตั้งแต่ไตรมาสที่สอง และชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2563 อัตราการว่างงานจะอยู่ในช่วงร้อยละ 3-4 หรือตลอดทั้งปีมีผู้ว่างงานไม่เกิน 2 ล้านคน เนื่องจาก (1) สถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มควบคุมได้และในครึ่งหลังของเดือนพฤษภาคมเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภทสามารถเปิดดำเนินการได้มากขึ้น (2) รัฐบาลมีมาตรการในการช่วยเหลือ และฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเน้นกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ และ (3) ภาคเกษตรกรรมจะสามารถรองรับแรงงานที่ว่างงานได้บางส่วนแม้ว่าจะมีปัญหาภัยแล้ง

เครดิต : สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

สั่งจองนิตยสาร Howe โดยไม่ต้องรอหาตามแผงสั่งได้ที่
Line : Howemagazine
  Fanpage : Howemagazine
รายละเอียดการสั่ง (คลิ๊ก)

  อ่านนิตยสาร Howe Magazine ออนไลน์ได้ที่

Ookbee-Logo
LOGO-MEB-2017
Facebook Comments

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.