ลอกเลนส์กูรู “รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์” รู้จัก-เข้าใจ-รับมือ New Normal ในบริบทที่เกินคาด

0
1922

หลายธุรกิจอาจจะไม่กลับมาเปิดได้เหมือนเคย คนตกงาน อาจจะไม่สามารถหางานได้อีกต่อไป กิจกรรมต่างๆ ที่เคยสร้างความคึกคักจะหยุดชะงักแบบไม่รู้กำหนดเวลา

• จำนวนคนติดเชื้อร่วม 9 ล้านคนทั่วโลก
• ผู้เสียชีวิตกว่า 5 แสนราย
• การแพร่ระบาดยังกลับมาในประเทศที่เหมือนจะคุมได้
• อัตราการขยายตัวของเชื้อยังไม่รู้จบ
• เศรษฐกิจติดลบมากกว่า 6% ในหลายๆ ประเทศ
• ภาพของ The Great Depression เมื่อปี 1929 ชัดยิ่งขึ้น

…นี่เป็นเพียงขอบเขตของกลุ่มควันที่มีนามว่า “โควิด-19” ซึ่งแม้จะเริ่ม “จาง” แต่ก็ยัง “หนาแน่น” มากพอจะกลายเป็นความระส่ำในสังคม ทำให้ผู้คนทุกชนชั้นและทุกประเทศยังหวาดระแวงกันต่อไป ยิ่งไปกว่านั้นสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็ดูจะยังไม่สามารถบอกได้ถึงช่วงเวลาว่าจะลากยาวไปอีกนานแค่ไหน ไวรัสจะอยู่กับเราอย่างคงทนหรือไม่ เศรษฐกิจที่ต้องฟื้นฟูกลับมาให้เข้าที่จะต้องใช้เวลานานเท่าไร? แต่ภายใต้คำถามปลายเปิดที่ยังหาคำตอบปิดไม่ได้นั้น หลายคนเริ่ม “ทำใจ” และปรับตัวใช้ชีวิตไปกับบางสิ่งบางอย่างที่เราไม่เคยคุ้น และเผลอสร้างความ “เคยชิน” บางอย่างให้แก่ชีวิต โดยมีสถานการณ์โควิด-19 ระบาดมาเป็นตัวเร่ง

New Normal หรือ “ความปกติแบบใหม่” ที่จะใหม่แบบชั่วคราวหรือใหม่แบบเปลี่ยนไปแบบตลอดกาล เป็นสิ่งที่กำลังถูกพูดถึงในวงกว้างแบบคู่ขนานไปกับการมาของโควิด-19 ที่เข้าไป “เปลี่ยน” กิจกรรม พฤติกรรม และวิถีการใช้ชีวิตบางอย่าง จนอดคิดไม่ได้ว่า…โลกใบเดิมจะไม่กลับมาอีกแล้ว? อย่างไรก็ตาม New Normal ที่หลายคนกำลังพูดถึงกันนั้นดูจะยังมีความ “สับสน” และยังหานิยามที่อธิบายความได้ไม่ชัดสักเท่าไร Howe Magazine จึงถือโอกาสชวน รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ มาช่วยตกผลึก New Normal ในความหมายที่ “แท้จริง” ซึ่งอาจจะมีหลายๆ มุมมองที่ “เกินคาด” กว่าที่คิด แต่ก็เพื่อให้คำติดปากนี้ไม่ถูกนำไปใช้ในแบบผิดๆ จนมีผลต่อการดำเนินชีวิตและธุรกิจเอาดื้อๆ

“โควิด-19 เร่งให้ New Normal เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนชัดขึ้น แต่ New Normal ในมุมมองของผมไม่ใช่แค่การสวมหน้ากากหรือการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เพราะนั่นคือ Abnormal มันแค่เหตุการณ์ผิดปกติ” รศ.ดร.สมชาย เปิดประเด็นเชิงเปรียบเทียบให้กับทีมงานได้ฟัง พร้อมเล่าต่อว่า “ในเมืองไทยตอนนี้ พอเราเห็นอะไรที่ “ไม่เหมือนเดิม” หรือแปลกไปจากเดิมในสิ่งที่ทำเพื่อรับมือกับโควิด-19 เราก็มักจะเรียกมันว่า New Normal กันหมด แต่จริงๆ คำนี้มันมีความหมายในเชิงโครงสร้าง ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เกิดอยู่แค่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาดเท่านั้น มันต้องกินระยะเวลานานมากพอถึงจะเรียกว่า New Normal ได้ อย่างไรก็ตาม มันก็ไม่ได้เป็นนิรันดร์ เพราะเวลาจะช่วยให้มี New Normal อื่นๆ มาทดแทน”

New Normal คือชีวิตประจำวันที่ “ถาวร”

เพื่อให้เข้าใจ New Normal ในบริบทที่แท้จริง รศ.ดร.สมชาย ได้อธิบายให้เห็นภาพตาม โดยแยกความหมายของ New Normal ออกเป็น 2 รูปแบบ

  1. New Normal ในมุมของการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง
  2. New Normal ที่ผิดปกติและเกิดเพียงชั่วคราว หรือ Abnormal “ผมยกตัวอย่างแบบนี้ แต่ก่อนผมจะชอบดื่มกาแฟที่ร้านกาแฟ พร้อมๆ กับนั่งทำงานไปด้วย แต่ช่วงโควิด-19 ระบาด ร้านกาแฟทุกสาขาปิดกันหมด พอเป็นเช่นนั้น สิ่งที่บีบให้ผมต้องปรับตัวเป็นกิจวัตรใหม่ให้กับชีวิตจึงเป็นการ ‘ชงกาแฟดื่มเอง’ แล้วผมต้องทำยังไง? สิ่งที่ผมทำคือผมเปิดมือถือ เลือกอุปกรณ์ชงกาแฟที่ทุกวันนี้สามารถชงได้เหมือนที่ร้านเลย จากนั้นก็ทำเองที่บ้าน”

“สิ่งที่ตามมาคือพอผมเริ่มชินกับการชงกาแฟและนั่งทำงานที่บ้าน ความรู้สึกอยากไปร้านกาแฟก็เริ่มหายไป และถ้าวันหนึ่งร้านกาแฟนั้นๆ เปิดอีกครั้ง แล้วผมก็ยังไม่คิดจะไป อันนี้คือ New Normal ของผมแล้ว”

“เช่นเดียวกัน ตอนนี้ผมก็เริ่มเรียนรู้การสั่งอาหารจากแอปพลิเคชันต่างๆ ผมสั่งได้ทุกร้านที่ผมเคยไปนั่งกิน มันง่ายมาก แม้แรกๆ จะไม่ชิน เพราะการกินที่ร้านมันได้อุณหภูมิและรสชาติที่ดียิ่งกว่า แต่สุดท้ายการสั่งเดลิเวอรี่มันก็ทดแทนกันได้ในยามที่เราต้องกักตัวอยู่กับบ้าน แต่ถึงกระนั้นเมื่อร้านอาหารนั้นๆ เปิด ผมยังอยากไปนั่งที่ร้านนั้นเหมือนเดิม นี่ไม่ใช่ New Normal แล้วนะ แต่เป็น Abnormal ถ้าจะให้เป็น New Normal คือผมต้องไม่อยากไปกินข้างนอกอีกแล้ว อาจจะด้วยเหตุผลที่มากกว่าโควิด-19 เช่น ไม่อยากเจอรถติด ไม่อยากใส่หน้ากากออกนอกบ้านให้อึดอัด ไม่อยากไปนั่งรอ หรืออะไรก็ตามแต่”

“เรื่องนี้จึงเป็นเส้นบางๆ ของพฤติกรรมคนที่จะกำหนดได้ว่าอะไรคือ New Normal ได้เต็มปากให้กับตัวเอง เช่น ถ้าคุณไม่เคยใช้ชีวิตแบบหนึ่งมาก่อน แต่อยู่มาวันหนึ่งกลับทำมันจนเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันแบบถาวร หรือถ้าคิดเป็นสัดส่วนก็มากกว่า 20% ของการใช้ชีวิตและพัฒนาจนกลายเป็น ‘นิสัย’ และสุดท้ายเป็นความเคยชิน”

“แต่ถ้าในวันนี้การสวมหน้ากากหรือแม้แต่ระยะห่างทางสังคม มันแค่ช่วงหนึ่ง ผมจะมองว่ามันเป็นแค่ Abnormal…เพราะอะไร? ลองนึกภาพว่าหากวันหนึ่งวัคซีนป้องกันโควิด-19 เกิดขึ้น หรือเชื้อนี้หายไปจนหมด คุณจะยังกลับมาใช้หน้ากากหรือห่างกันอีกไหม? …ใช่ครับ ถ้าในใจคุณตอบว่า ‘ไม่มีทาง’ มันก็คือ Abnormal หรือความผิดปกติเท่านั้น และทุกๆ เหตุการณ์ เช่น ผมไม่เลือกชงกาแฟที่บ้าน แต่กลับไปกินที่ร้าน มันก็เป็น Abnormal อยู่ดี”

“ฉะนั้นหากให้ผมสรุปนิยามของ New Normal จริงๆ แล้ว มันจึงเป็นสิ่งที่เข้ามาทดแทน ‘กิจกรรมในชีวิตประจำวัน’ ได้อย่าง ‘ถาวร’ ซึ่งแต่ละคนจะมี New Normal ที่ไม่เหมือนกัน”

New Normal ที่บังคับให้ “ทั้งโลก” ต้องเปลี่ยน

แม้ New Normal จะมีบริบทที่แตกต่างกันตามพฤติกรรมของแต่ละบุคคล แต่ในโลกของการเปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยีก็เร่งให้เกิด New Normal บางอย่างที่มีอิทธิพลจนกลายเป็นมาตรฐานเชิงบังคับให้ผู้คนต่างต้องยอมรับ

“New Normal ที่กำหนดจนกลายเป็นมาตรฐานของเศรษฐกิจและโลก คือการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างแบบสิ้นเชิง ผมยกตัวอย่างเช่น แต่ก่อนเราเคยใช้กล้องฟิล์ม แต่ตอนนี้มาใช้กล้องดิจิทัล หรือแต่ก่อนทุกธุรกรรมต้องติดต่อทางกายภาพ แต่ตอนนี้สมาร์ทโฟนเครื่องเดียว ทำให้เราติดต่อกับคนได้ทั้งโลก”

“พูดง่ายๆ คือเทคโนโลยีบางอย่างได้สร้าง New Normal ให้คนทั้งโลกต้อง ‘ทำตาม’ สังเกตได้จากวันนี้เราสั่งอาหารผ่านมือถือ เราทำงาน ประชุมกันผ่าน Zoom เราเรียนหนังสือผ่านออนไลน์ และอะไรอีกมากมายที่จะตามมา ซึ่งแต่ก่อนเราคงไม่คิดว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้น”

“ดังนั้นสิ่งที่เราต้องแยกให้ออกในบริบทของ New Normal เพราะมันมีทั้งแบบที่เราสร้างมันขึ้นมาเอง และเราถูกกำหนดให้ต้องทำตาม อย่างตอนนี้เรากำลังเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่มีควอนตัมคอมพิวเตอร์, รถยนต์ไร้คนขับ, บล็อกเชน, ปัญญาประดิษฐ์, Augmented Reality (AR) และอื่นๆ อีกมากมายที่กำลังผลักเราเข้าไปวนเวียนกับเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทำให้เราต้องเรียนรู้และปรับตัวกับมัน และถ้าเราไม่ยอมรับมัน คุณก็ต้องยอมรับในการใช้เกวียนเดินทางบนท้องถนนที่มีรถเร็วแล่นผ่านให้ได้ แค่นั้นเอง”

ต้องสร้างชาติด้วยความ “ลุ่มลึก”

เมื่อฟังแบบนี้ หลายคนอาจจะกังวลกับ New Normal ในเชิงโครงสร้างระดับโลกที่จะทำให้คนยากที่จะทำความคุ้นเคยให้จมดิ่งลง แต่ทางแก้ยังมี อยู่ที่ว่ารัฐบาลและทุกภาคส่วนจะตื่นตัวแค่ไหน

“หากให้ผมมองประเทศไทยเรากับเรื่องโควิด-19 ตอนนี้ ต้องบอกว่าน่าชมเชยมาก เราดูแลด้านสาธารณสุขได้ดี หากทำดีๆ และผมเชื่อว่าไทยไปถึง Pharmaceutical Hub ได้เลย หรือการท่องเที่ยวก็ยังเป็นไปได้อยู่ การเกษตรดีเยี่ยม อาหารดีเยี่ยม ต้องทำต่อ แต่ส่วนที่ไทยคิดว่าจะลอง กลับทำไม่ค่อยได้ก็คงเป็นบรรดาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่กำลังจะมาเป็น New Normal ของโลก เช่น บล็อกเชน ปัญญาประดิษฐ์ และอีกมากมาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็น ‘นวัตกรรม’ และนวัตกรรมไม่ใช่ของง่าย ต้องเรียน ต้องคิด แต่การสอนและการเรียนรู้ของประเทศเรายังเป็น ‘แบบจำ’ ซึ่งอาจจะทำให้เราไม่ทัน New Normal ของโลก”

“ส่วนตัวแล้ว ผมมองว่าที่เป็นแบบนี้เพราะเราใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตได้ไม่เต็มประสิทธิภาพนัก เราจะเห็นได้ว่าคนไทยไม่ได้รักการอ่าน และทักษะด้านภาษาของเราก็แย่ แค่ภาษาอังกฤษภาษาเดียวยังลำบาก ตรงนี้ทำให้เราไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลใหม่ๆ ความอยากอ่านก็หายไป เพราะอ่านไม่รู้เรื่อง วงจรนี้ทำให้คนไทยขาดความ ‘ลุ่มลึก’ ไม่สามารถคิดวิเคราะห์กับสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกได้ เราจึงไม่มีนักคิดที่เชี่ยวชาญหรือนักสร้างธุรกิจที่เปลี่ยนโลกได้เหมือนกับนานาประเทศ”

“นี่คือปัญหาหนักมาก เพราะสุดท้ายคนของเรา ประเทศของเราจะกลายเป็น ‘ปลายทางของห่วงโซ่’ ที่มีหน้าที่แค่ใช้ แต่ไม่ได้เป็นผู้ประดิษฐ์หรือสร้างสรรค์เอง อย่างเอาง่ายๆ แค่ข่าวสารต่างๆ เราทำได้แค่รับและนำมาเผยแพร่ แต่ไม่มีการกลั่นกรองหรือคิดต่อแบบที่สำนักข่าวในต่างประเทศเขาทำ เราทำได้แค่นำเสนอข่าวแบบ ‘เชียร์มวย’ มันไม่สร้างสรรค์ ซึ่งในอนาคต New Normal จะทำให้เราเห็นภาพของความต่างระหว่างคนและเศรษฐกิจในแต่ละประเทศชัดยิ่งกว่านี้ หากเรายังไม่ปรับและนำประโยชน์ของดิจิทัลมาสร้างความ ‘ลุ่มลึก’ ให้กับตนเอง”

“แน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของโครงสร้างทางการศึกษาที่ผิดพลาด ผมยกตัวอย่างแบบนี้ คุณเห็นคนอย่างสตีฟ จอบส์, มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก หรือ บิล เกตส์ ไหม คนเหล่านี้ไม่มีปริญญาแต่มีความลุ่มลึกในสิ่งที่ทำ ฉะนั้นหากเรายังพึ่งพาระบบศึกษาเดิมแบบท่องจำ มันไม่ทันโลกแล้ว ผมจึงอยากให้เราย้อนกลับมาพัฒนาคุณภาพของคน แล้วคอนเทนต์หรือสตาร์ทอัพใหม่ๆ จะเกิดขึ้นเอง”

“ฉะนั้นเราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงในเชิงของ ‘โครงสร้าง’ ของการเรียนรู้และสร้าง ‘ความลุ่มลึก’ ในแต่ละบุคคลให้ได้ เพราะถ้าไม่เป็นเช่นนั้น มันก็จะเกิดเหตุการณ์กักตุน ‘หน้ากาก’ กักตุนแอลกอฮอลล์เพื่อมาเก็งกำไรขาย แล้วสุดท้ายเป็นยังไง ก็ล้นตลาด แต่ต่างชาติ เขามองและพัฒนาแอปพลิเคชัน Work from Home เพื่อรับมือโควิด-19 แทน นี่แหละคือความต่างที่ New Normal จะค่อยๆ ทำให้เราได้เห็นภาพชัดมากขึ้นไปอีกในอนาคต”

อย่าอยู่อย่าง “โดดเดี่ยว”

ข้ามกระโดดจากฟากของพฤติกรรมมนุษย์และภาคธุรกิจทั่วไป ยังมีมุมมองของ New Normal กับเศรษฐกิจระดับมหภาคของไทยแฝงอยู่ โดยตามทัศนะของ รศ.ดร.สมชาย ในมิตินี้ได้เผยถึงผลกระทบของ New Normal ของเศรษฐกิจไทยว่า ต่อจากนี้ทุกภาคส่วนจะต้องรู้จักอยู่อย่าง “ไม่โดดเดี่ยว”

“ประเทศที่อยู่รอด อุตสาหกรรมที่อยู่รอด หรือธุรกิจที่อยู่รอด เขาไม่ได้พึ่งพาตัวเองแบบฉายเดี่ยวมานานแล้ว ผมยกตัวอย่างแบบนี้ หากเราอยู่สหรัฐอเมริกา ทำธุรกิจด้วยตัวคนเดียว ก็คงสร้างโรงงานและผลิตทุกอย่างเอง ต้นทุนทุกอย่างเราแบกหมด จะถูกจะแพงกว่าคนอื่นก็บอกได้ยาก”

“แต่กลับกัน เราไปเลือกจ้างคนงานจีนทำสินค้าตัวหนึ่ง เสร็จแล้วจ้างคนงานเวียดนามทำสินค้าอีกตัวหนึ่ง และจ้างคนงานไทยทำอีกตัวหนึ่ง ก่อนจะส่งทั้งหมดกลับมาที่สหรัฐอเมริกาเพื่อมาประกอบเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งเราเรียกสิ่งนี้ว่าระบบ Supply Chain”

“ข้อดีของตัวอย่างที่ยกมานี้คืออะไร? ทุกวันนี้ไม่มีใครอยากใช้ประเทศตัวเองเป็นฐาน เพราะที่อื่นถูกกว่าและที่อื่นมีเอฟทีเอ (FTA) เราจะได้กำแพงภาษีเป็นศูนย์ด้วยในเวลาเดียวกัน อีกอย่างคือ Outsourcing ได้ก็ต้องทำ สิ่งไหนที่เราทำไม่ได้ หรือทำได้แต่ไม่ดี อย่าฝืน ลองให้คนอื่นที่อยู่นอกประเทศเราทำจะดีกว่า ซึ่งจริงๆ ตรงนี้เป็นเรื่องที่ประเทศเราก็เริ่มรับรู้ แต่เมื่อเกิดโควิด-19 มันก็แค่เร่งให้เราต้องเปิดใจมากขึ้นว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันเป็น ‘จุดบอด’ ที่เรามองข้ามมาตลอด”

โควิด-19 เร่งให้เกิด New Normal ใหม่ๆ แต่ New Normal ใหม่ๆ ในแบบที่ไทยตามไม่ทันอาจจะเร่งให้เราก้าวไปในทางทิศทางที่ยากลำบากยิ่งขึ้น… โจทย์นี้เป็นการบ้านที่ยิ่งใหญ่นักของรัฐบาลไทย…จะยังไงต่อไปดี ?

สามารถอ่านต่อได้ที่ Howe Magazine ฉบับที่ 94

สั่งจองนิตยสาร Howe โดยไม่ต้องรอหาตามแผงสั่งได้ที่
Line : Howemagazine
  Fanpage : Howemagazine
รายละเอียดการสั่ง (คลิ๊ก)

  อ่านนิตยสาร Howe Magazine ออนไลน์ได้ที่

Ookbee-Logo
LOGO-MEB-2017
Facebook Comments

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.