หากเอ่ยถึง “ธนาคารอาคารสงเคราะห์” (ธอส.) คนไทยหลายคนยอมรับว่าเป็นอีกองค์กรที่ “ทรงอิทธิพล” อย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนรายได้น้อยถึงปานกลางที่อยากมีบ้านเป็นของตัวเอง แต่หากพูดกันจริงๆ แล้ว องค์กรแห่งนี้ยังถือเป็นองค์กรของรัฐที่สร้าง “รอยยิ้ม” แห่งความสุขให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอีกด้วย
กว่า 68 ปี “ความทรงอิทธิพล” ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่ให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย คุณฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เล่าถึงหน้าที่สำคัญที่เป็นมากกว่าสถาบันการเงิน “เราเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ทำหน้าที่ปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือทำให้คนไทยมีบ้าน ภายใต้กรอบพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลางที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ได้ ให้สามารถมีบ้านเป็นของตนเองได้ ขณะเดียวกันเราก็ยังทำหน้าที่รับฝากเงินด้วย ซึ่งเงินฝาก [รวมถึงสลากออมทรัพย์] ที่ลูกค้านำมาฝากไว้กับ ธอส. ล้วนมีส่วนร่วมในการช่วยทำให้คนไทยมีบ้าน เพราะ ธอส. ได้นำเม็ดเงินเหล่านี้ไปใช้ในการปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำให้กับประชาชนต่อไป”
“ปัจจุบัน ธอส. มียอดเงินฝากอยู่ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท ขณะที่ยอดสินเชื่อคงค้าง หรือ Loan Outstanding ในพอร์ตก็มีประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท เราปล่อยสินเชื่อปีละ 2 แสนล้านบาท หรือตกเดือนละ 18,000-20,000 ล้านบาท ซึ่งผมต้องบอกก่อนว่าเราเป็นแบงก์รัฐที่ดูแลคนมีรายได้น้อย และมีหน้าที่จัดการให้คนกลุ่มดังกล่าวสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์สินเชื่อบ้านที่เขาสามารถผ่อนได้ตามกำลังของเขา และทำให้เขามีบ้านเป็นของตัวเองได้ในที่สุด”
หนึ่งในหลักการทำงานที่กรรมการผู้จัดการ ธอส. คนที่ 13 ท่านนี้นำมาใช้ก็คือการทำให้พนักงานทุกคนรู้สึกได้ถึงความสุขและความภูมิใจที่ได้ช่วยกันทำให้คนไทยได้มีบ้าน “หลักการทำงานของผมก็คือการสร้าง Attitude ให้คนในองค์กรทำงานอย่างมีความสุข ปลูกฝังแนวคิดเรื่องการทำงานเพื่อสร้างรอยยิ้มให้กับสังคม โดยเฉพาะประชาชนที่อยากจะมีบ้านเป็นของตัวเองให้ได้มีรอยยิ้มที่มีความสุข เมื่อพวกเขาได้มีบ้านเพื่อให้ตนเองและครอบครัวได้พักอาศัยร่วมกัน และผมจะบอกทุกคนเสมอว่าสิ่งที่พวกเราทำไปนั้นไม่ได้ส่งผลประโยชน์ให้กับผู้ถือหุ้นคนไหนในตลาดทุน แต่พวกเราทำรายได้นำส่งคลัง เพื่อให้ภาครัฐได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ แล้วประโยชน์เหล่านั้นก็จะกลับมาหาคนไทยทุกคน”
ที่ผ่านมาจากคำยืนยันของกรรมการผู้จัดการ ธอส. พบว่าสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐแห่งนี้ได้ช่วยประชาชนผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางให้มีบ้านไปแล้วมากกว่า 3.7 ล้านครอบครัว “หากเทียบเป็นจำนวนคนคร่าวๆ ครอบครัวหนึ่งมี 3 คน ก็เท่ากับว่า ธอส. ได้สร้างรอยยิ้มและสร้างความสุขให้กับคนไทยไปแล้วมากกว่า 10 ล้านคน เพราะผมมองว่าบ้านเป็นสถานที่รวบรวมเรื่องราวมากมายหลากหลายอารมณ์ไว้ในที่เดียวกัน โดยเฉพาะความรัก ความสุข และความอบอุ่นของคนในครอบครัว”
อีกหนึ่งวิธีที่ทำให้กับคนในองค์กรตระหนักถึงความสำคัญของหน้าที่และเกิดพลังในการทำงาน ซึ่งกรรมการผู้จัดการ ธอส. ตอกย้ำด้วยว่าความสุขในการทำงานคือการทำในสิ่งที่รัก “เมื่อเรารู้สึกรักแล้ว เราก็จะไม่รู้สึกเหนื่อย หากเราทำให้ทุกคนในองค์กรเข้าใจว่าสิ่งที่เขาทำไม่ใช่แค่งาน แต่เป็นการทำให้เกิดความสุขกับผู้คนมากมาย เพราะเราช่วยให้ลูกค้าได้มีบ้าน ต่อให้งานหนักหรือเหนื่อยยากแค่ไหนก็เชื่อว่าทุกคนจะมีความสุขกับงานที่ทำแน่นอน”
เช่นเดียวกับเมื่อถึงเวลาที่ทุกคนในองค์กรต้องเผชิญกับปัญหาหรืออุปสรรคในการทำงาน เราก็เชื่อว่าทุกปัญหามีทางออกเสมอ “ผมบอกกับทุกคนเสมอว่าการทำงานแล้วไม่เจอกับปัญหาเลยนั้นเป็นไปไม่ได้ ทุกคนต้องเจอปัญหากันหมด แต่เมื่อเจอกับปัญหาแล้วก็ต้องแก้ เพราะปัญหาไม่ได้มีไว้เพื่อบั่นทอนกำลังใจ ปัญหาจะมากหรือน้อยก็ต้องค่อยๆ แก้กันไป ทุกปัญหามีทางออกเสมอ แล้วมันก็จะผ่านไป ยิ่งเราไปตั้ง Attitude ว่าสิ่งนั้นแก้ไขยากและเหนื่อย ก็จะยิ่งทำให้หมดกำลังใจ ซึ่งทุกคนใน ธอส. ตระหนักในเรื่องนี้ดีอยู่แล้ว เพราะเมื่อเกิดปัญหาเราช่วยกันแก้ไขและคุยกัน เพื่อให้ปัญหานั้นๆ ค่อยๆ หมดไป”
นอกจากการไม่หนีปัญหาแล้ว การปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวันนี้และในอนาคตก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ “การปรับตัวเป็นสิ่งที่คนของเราทำมาตลอด เพราะเราไม่รู้ว่าพรุ่งนี้หรือวันต่อๆ ไปจะเกิดอะไรขึ้น ดังนั้นการปรับตัวจึงอยู่ในวิถีการบริหารงานของ ธอส. อย่างวันนี้ใครจะรู้ว่าเราจะต้องเผชิญกับโควิด-19 หลายระลอก การปรับตัวจึงเป็นเรื่องใหญ่ ยิ่งเราเป็นองค์กรใหญ่ก็ต้องมีการปรับตัวให้สอดรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว”
กรรมการผู้จัดการ ธอส. เล่าว่าก่อนเกิดโควิด-19 ธอส. มีแผนจะทำอะไรหลายอย่างในอนาคต แต่พอเกิดโควิด-19 และต้องทำตามมาตรการ ศบค. การเว้นระยะห่างเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ธนาคารก็ดำเนินการปรับรูปแบบการให้บริการ ด้วยการเปลี่ยนเป็น Digital Services ทำให้ลูกค้าไม่ต้องมาที่สาขาและสามารถใช้บริการผ่าน GHB ALL Mobile Application ของ ธอส. ได้เลย หรือแม้แต่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทาง ธอส. ก็มีแนวทางช่วยเหลือเช่นกัน
“ตั้งแต่ต้นปี 2563 ถึงปัจจุบันมีจำนวนลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้และเข้ารับมาตรการช่วยเหลือเป็นจำนวนสูงสุด 875,000 บัญชี คิดเป็นเงินสินเชื่อกว่า 745,000 ล้านบาท ผ่าน 15 มาตรการที่มี ซึ่งพอถึงวันนี้ลูกค้าเหล่านั้นได้ปรับตัวและกลับมาแข็งแรงอีกครั้งก็สามารถผ่อนชำระกับเราได้เป็นปกติ ในทางกลับกัน หากเราไม่ช่วยเหลือลูกค้าของเรา สุดท้ายก็จะทำให้ลูกค้าเกิดประวัติการผ่อนชำระที่ไม่ปกติ หรือในที่สุดมีสถานะ NPL ซึ่งไม่เป็นผลดีกับลูกค้ารวมถึงธนาคารเองด้วยอย่างแน่นอน”
ปัจจุบัน ธอส. มี NPL หรือหนี้เสียอยู่กว่า 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งประเด็นนี้ ธอส. ได้มีมาตรการประนอมหนี้กับลูกค้ามาตลอด “บางคนอาจมองว่าทำไม ธอส. ยังต้องพยายามดูแลลูกค้าที่ไม่สามารถผ่อนชำระได้ตามปกติผ่านมาตรการประนอมหนี้อยู่อีก ซึ่งผมมองว่าเพราะเราต้องการให้บ้านเป็นของลูกค้าจริงๆ ตรงนี้ ผมไม่ได้คิดว่าเป็นการช่วยเหลือ แต่ผมถือเป็นหน้าที่ของธนาคาร และต้องตระหนักอยู่เสมอว่าเราอยากเห็นรอยยิ้มของการมีบ้าน และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับลูกค้าในระหว่างทาง เราก็ต้องช่วยลูกค้าให้กลับมาผ่อนชำระได้ตลอดรอดฝั่งจนกระทั่งถึงวันที่พวกเขาผ่อนชำระหมดและได้มีบ้านเป็นของตัวเองโดยสมบูรณ์”
กระนั้นก็ตาม การทำงานทั้งหมดที่ผ่านมา กรรมการผู้จัดการ ธอส. ท่านนี้ ไม่เคยมองว่าจะต้องทำทุกอย่างให้ประสบความสำเร็จ “เราคิดแค่ว่าเราต้องทำงานให้เต็มที่ที่สุด ส่วนผลลัพธ์จะออกมาแค่ไหนก็คงต้องแค่นั้น เพราะได้พยายามเต็มที่แล้ว สู้ถึงที่สุดแล้ว ผมว่าการทำงานก็เหมือนการยิงธนู ในเมื่อเราฝึกฝนมาอย่างดี เมื่อเราเล็งเป้าดีแล้ว ง้างคันศรเต็มที่ เต็มแรงแล้ว เมื่อลูกศรพุ่งออกไปก็ต้องถือว่าดีที่สุดแล้ว ส่วนจะเข้าเป้าหมายหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับจังหวะและโอกาส ซึ่งจังหวะและโอกาสของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน”
เมื่อย้อนไปตอนสมัยเด็กของกรรมการผู้จัดการธนาคารที่มีพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยสูงที่สุดของประเทศไทย เขาบอกกับเราว่าแท้จริงแล้วใฝ่ฝันอยากเป็นหมอ ตั้งใจเรียนให้ได้คะแนนดีๆ เพื่อสอบเอ็นทรานซ์ให้ติดคณะแพทย์
“ผมก็ไม่ได้คิดว่าชีวิตจะเดินทางบนเส้นทางของการเป็นนายแบงก์ แต่ด้วยจังหวะและโอกาสที่เกิดขึ้น เมื่อเราต้องเดินทางบนเส้นทางชีวิตนี้แล้ว เราก็ต้องทำในสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้ดีที่สุด ตอนเด็กผมอยากเอ็นทรานซ์เป็นหมอ แต่พอถึงวันนี้ผมมองย้อนกลับไป โชคดีมากที่ไม่ได้เป็นหมอ เพราะชีวิตที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ดีอยู่แล้ว และก็มีวิถีชีวิตที่เรามีความสุข”
กรรมการผู้จัดการ ธอส. บอกถึงวิธีคิดแบบ Good Result Comes From Good Process “เพราะถ้าคุณมีกระบวนการทำงานที่ดี ทำอย่างเต็มที่ ผลลัพธ์ก็จะออกมาดีเอง ยกตัวอย่างสมัยที่ผมจบมาใหม่ๆ แล้วไปทำงานอยู่ในบริษัทญี่ปุ่น เราได้เห็นการทำงานที่มีการจ้างงานคนงานเพียงวันละไม่กี่ร้อยบาทในสายการผลิตของโรงงาน แต่ทำไมสินค้าที่เขาผลิตออกมาสามารถขายได้เป็นแสนๆ บาท ซึ่งนั่นก็เพราะว่ากระบวนการผลิตที่ดีสร้างผลลัพธ์ที่ดีออกมาให้เห็นเสมอ”
…ทั้งหมดนี้คือแนวคิดที่พิสูจน์ให้เห็นถึง “ความทรงอิทธิพล” ทั้งหลักการทำงานและแนวคิดที่เกิดขึ้นในธนาคารอาคารสงเคราะห์ภายใต้การบริหารของผู้บริหารหนุ่ม ผู้ที่เต็มไปด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการทำให้คนไทยมีบ้านอย่าง คุณฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์….