ผู้นำธุรกิจมั่นใจข้อเสนอสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค(ABAC) ชี้แนวทางและโอกาสฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยชัดเจน

0
315

ผู้นำภาคเอกชนขานรับแนวทางเร่งฟื้นตัวทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค จากการประชุมสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council ABAC) ประชุมครั้งที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองฮาลอง ประเทศเวียดนาม โดยเฉพาะประเด็นด้านการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนซึ่งจะเปิดโอกาสใหม่ในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวได้อย่างชัดเจน

ในการประชุมประจำไตรมาสของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคเมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 3  ที่ประชุมได้สรุปข้อเสนอแนะ 5 ประเด็นหลักที่จะรวบรวมเสนอในการประชุมเอเปคปลายปีนี้ ได้แก่ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Economic Integration) ที่เน้นการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม, การสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล (Digital), การเสริมสร้างแนวทางการปฏิบัติที่ยั่งยืนของ MSMEs (MSME and Inclusiveness),
การส่งเสริมระบบอาหารที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น การนำ BCG โมเดลมาปรับใช้ ตลอดจนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การลดคาร์บอน (Sustainability) และการดำเนินการตามมาตรการเศรษฐกิจมหภาค การคลัง และการเงิน เพื่อเร่งการฟื้นตัว (Finance and Economics)

ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า ผลสรุปจากที่ประชุมเอแบคครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่าภาคเอกชนทั่วเอเชียแปซิฟิกมีความเห็นไปในทางเดียวกันและมีแนวทางที่ชัดเจน คือ ต้องการเดินหน้าออกจากผลกระทบจากโรคระบาด COVID-19 และมุ่งเน้นการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยสามารถอยู่ร่วมกับโรคให้ได้
เพื่อผลักดันให้ภาคธุรกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้โดยเร็ว แม้ว่าจะยังคงมีความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ

“ความท้าทายสำคัญในอนาคต คือ ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจจะต้องเกิดขึ้น แต่จะฟื้นตัวได้เร็วกว่าครั้งก่อนแน่นอน เพราะครั้งนี้เกิดจากภาวะเงินเฟ้อที่เป็นผลกระทบจากราคาน้ำมันเท่านั้น แต่พื้นฐานทางเศรษฐกิจยังดี ไม่ต้องแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างเช่นครั้งก่อน  นอกจากนี้ การรวมตัวของภาคเอกชนที่มุ่งมั่นจะร่วมกันก้าวข้ามความท้าทายทางเศรษฐกิจ และการที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าข้อเสนอทั้ง 5 ข้อของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความยั่งยืน
การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การส่งเสริม MSMEs จะเปิดโอกาสทางเศรฐกิจ รวมถึงการสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจให้กับภูมิภาคต่อไป” ดร. กอบศักดิ์ กล่าว

นอกจากนี้ ภาคเอกชนยังมองว่า ความยั่งยืน จะเป็นประเด็นหลักที่จะสร้างโอกาสและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ  

ดร.ชญาน์ จันทวสุ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ความยั่งยืน ไม่ได้เป็นเรื่องที่อยู่ไกล เป็นเรื่องที่เราต้องทำทันที สำหรับประเทศไทย ภาครัฐได้สนับสนุนเรื่อง BCG หรือ Bio-Circular-Green มาใช้ ถือเป็นโอกาสดีที่จะใช้จุดแข็งของประเทศ ภาคการเกษตรสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ 7-8% ของจีดีพี แต่ที่ผ่านมามีการเพิ่มมูลค่าค่อนข้างน้อย จึงยังมีโอกาสอีกมาก ส่วน circular economy
ซึ่งเราได้เริ่มทำแล้วถ้าขยายผลต่อไปจะเป็นประโยชน์มาก และเรื่องของ Green ประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายว่าจะเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และ Net zero ในปี 2065  เป้าหมายที่ชัดเจนเหล่านี้ถือเป็นโอกาสทั้งสิ้น”

ดร.ชญาน์ จันทวสุ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนองค์กร

บริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน)

แม้ว่าหลายองค์กรจะกังวลว่า การพัฒนา หรือการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จะมีต้นทุนที่สูงขึ้น แต่จะสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจ และเพิ่มมูลค่าให้แก่องค์กรได้มากกว่า ซึ่ง ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า มีการประมาณการว่าหากองค์กรต่างๆ ให้มาให้ความสนใจเรื่อง BCG มากขึ้น ประเทศไทยจะสามารถยกระดับ BCG จากปัจจุบันประมาณ 20% ของจีดีพีเป็น 25% ของจีดีพีได้ในอนาคต  ในทางกลับกันหากองค์กรต่างๆ ไม่ลงทุนใน BCG แล้ว ในอนาคตองค์กรเหล่านี้และประเทศไทยจะมีต้นทุนมากกว่าประเทศอื่นๆ 

ดร.ชญาน์ กล่าวเสริมว่า ความสำเร็จในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน เดินหน้าไปด้วยกัน องค์กรขนาดเล็กเองก็สนใจที่จะปรับเปลี่ยนและหันมาให้ความสำคัญกับ BCG มากขึ้น เป็นโอกาสที่องค์กรขนาดใหญ่
จะให้ความร่วมมือ ให้คำแนะนำ และความช่วยเหลือ เพื่อช่วยให้องค์กรขนาดเล็กก้าวไปข้างหน้าได้ เพื่อลดคาร์บอน
ฟุตพริ้นท์ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ อันเป็นแนวทางที่ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งหมด

“ทุกฝ่ายต่างก็มองเห็นโอกาส แต่กฎเกณฑ์บางอย่างไม่เอื้อให้มีการปรับเปลี่ยนได้เร็ว จึงจำเป็นที่ภาคเอกชนต้องลงมือทำ และเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม  ซึ่งสิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนคือทั้ง 5 แนวทางที่สภา
ที่ปรึกษาธุรกิจของเอเปคได้นำเสนอในการประชุมนี้” ดร. กอบศักดิ์กล่าวสรุป

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.abac2022.org 

เกี่ยวกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 

สมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม แคนาดา ชิลี จีน ฮ่องกง จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ ไชนีสไทเป ประเทศไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม 

สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) ก่อตั้งขึ้นโดยผู้นำเอเปคในปี 2538 เพื่อเป็นกระบอกเสียงหลักของธุรกิจในกลุ่มเอเปค แต่ละเขตเศรษฐกิจมีสมาชิกสามคนที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้นำของแต่ละประเทศ มีการประชุมร่วมกันปีละสี่ครั้งเพื่อเตรียมพร้อมในการนำเสนอข้อเสนอแนะต่อผู้นำในการเจรจาซึ่งเป็นงานสำคัญในการประชุมผู้นำประจำปี 

*นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ดำรงตำแหน่งประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 โดยมี Rachel Taulelei  ดำรงตำแหน่งประธานร่วมจากนิวซีแลนด์ และ Dominic Ng ดำรงตำแหน่งประธานร่วมจากสหรัฐอเมริกา ตลอดจน 5 คณะทำงานเฉพาะ โดยมีรายนามดังนี้; Lam Yi Young ประธานคณะทำงาน Regional Economic Integration Working Group (REIWG); Janet De Silva, ประธานคณะทำงาน Digital Working Group (DWG); Dato Rohana Mahmood, ประธานคณะทำงาน MSME and Inclusiveness Working Group (MSMEWG); Ning Gaoning, ประธานคณะทำงาน Sustainability Working Group (SWG); และ Hiroshi Nakaso, ประธานคณะทำงาน Finance and Economics Working Group (FEWG)

Facebook Comments

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.