หากพูดถึงนักธุรกิจระดับตำนาน ชื่อของ “สนั่น อังอุบลกุล” เรียกว่านอกจากจะเป็นที่รู้จักกันดีของคนในทุกวงการแล้ว ยังอาจพูดได้ว่าเป็นอีกผู้หนึ่งที่อยู่เบื้องหลังการแก้ไขปัญหา และวิกฤตต่างๆ รวมไปถึงการผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศไทยก้าวเดินไปข้างหน้า
นอกจาก คุณสนั่น อังอุบลกุล จะเป็นนักธุรกิจระดับแถวหน้าของประเทศไทย ในฐานะประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) แล้ว ยังมีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย คนที่ 25 ซึ่งมาพร้อมกับแนวความคิดในการบริหารงานที่มีแนวทางเป็นไปในแบบฉบับของตัวเอง เฉพาะการบริหารงานในแบบของการเป็นผู้นำ
“ผู้นำที่ดีจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราเข้าบริหารงานในองค์กรหนึ่ง แล้วเมื่อวันใดก็ตามที่ต้องเดินออกจากองค์กรนั้นๆ เราจะต้องทำให้คนในองค์กรนั้นคิดถึงเราไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม เหมือนเป็นการสร้างตำนานของเราให้เกิดขึ้นในที่ทำงานแต่ละองค์กร”
คุณสนั่นบอกด้วยว่า ไม่ใช่แค่การสร้างตำปานเท่านั้น แต่คนที่เป็นผู้นำองค์กรที่ดีจะต้องมีคุณสมบัติในการสร้างความร่วมมือเพื่อนำพาองค์กรไปสู่ความยั่งยืน ภายใต้แนวคิด 5 E Leadership “เริ่มด้วย 1. Empathy ผู้นำต้องมีความเข้าอกเข้าใจคน และมีเมตตามีบุคลิกอ่อนโยน แต่ไม่อ่อนแอ แล้วตามด้วย 2. Empower ซึ่งผู้นำจะต้องกล้ากระจายอำนาจในการตัดสินใจของเราให้กับทีมงานที่เราไว้ใจได้ทำงานอย่างอิสระ รวมถึงยังต้องมี 3.Engagement ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะมาช่วยทำให้เกิดการขับเคลื่อนให้เกิดการทำงานแบบมีส่วนร่วม และเกิดความรับผิดชอบร่วมกันในแต่ละหน้าที่ ต่อมาคือ Encouragement ที่ผู้นำต้องสร้างแรงบันดาลใจ สร้างความฮีกเหิมให้กับทีมทำงานทุกคน สิ่งนี้มีความสำคัญมาก เพราะจะทำให้ทีมงานมีความมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าตามเป้าหมาย และทิศทางเดียวกันตามที่องค์กรตั้งไว้ และ E ตัวสุดท้าย ผู้นำก็จะต้องมี Enable หมายถึง ผู้นำต้องเป็นผู้ส่งเสริมแนวทางสู่ความสำเร็จ ชี้แนะ ให้ข้อคิดและแนะแนวทางให้ทีมงาน ช่วยหาทางออกให้กับเรื่องนั้นๆ เป็นการ Mentoring ซึ่งเปรียบเหมือนผู้ชี้ทิศให้ทีมงานก็ว่าได้”
ทั้งนี้ คุณสนั่นยังกล่าวเสริมว่า คุณสมบัติตามแนวคิดเหล่านี้ จะช่วยให้ไม่ใช่แค่เราจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสบผลสำเร็จเท่านั้น แต่ยังสามารถสร้างทีมงานที่มีความแข็งแกร่งได้อีกด้วย
“ผู้นำต้องเป็นผู้ส่งเสริมแนวทางสู่ความสำเร็จ ชี้แนะให้ข้อคิดและแนะแนวทางให้ทีมงาน ช่วยหาทางออกให้กับเรื่องนั้นๆ เป้นการ MENTORING ซึ่งเปรียบเสมือนผู้ชี้ทิศให้ทีมงานก็ว่าได้”