สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ SACIT เร่งการตลาดเชิงรุกสร้างการรับรู้งานหัตถกรรมไทย พร้อมขยายช่องทางการเข้าถึง จนถึงจำหน่ายงานศิลปหัตถกรรมไทยในตลาดออนไลน์ ร่วมกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ที่ยินดีร่วมมือมากกว่าการเป็นผู้ให้บริการจัดส่งสินค้าศิลปหัตถกรรมที่สร้างสรรค์จากภูมิปัญญาและทักษะเชิงช่างไทยถึงมือลูกค้าแล้ว ยังเปิดบริการให้กลุ่มสินค้าหัตถกรรมไทยจาก SACIT ได้นำเสนอสินค้าผ่านแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์จาก Thailandpostmart.com มุ่งหวังเข้าถึงกลุ่มผู้ซื้อทั้งไทยและต่างประเทศเข้าถึงหัตถกรรมฝีมือคนไทย
ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย กล่าวว่า SACIT มีภารกิจสำคัญหลากหลายด้านในการส่งเสริมและสนับสนุนงานศิลปหัตถกรรมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน หนึ่งในนั้นคือการยกระดับการตลาดงานศิลปหัตถกรรมไทย ผ่านการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตร ขยายช่องทางการจำหน่ายหัตถกรรมไทยบนตลาดออนไลน์และเปิดพื้นที่จัดแสดงสินค้าแบบหมุนเวียน (POP Up Store) ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่ SACIT ได้จับมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญด้านตลาดออนไลน์เบ็ดเสร็จแบบ “เลือก สั่ง จ่าย ส่ง” อย่างบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ร่วมเชื่อมโยงช่องทางการเข้าถึงสินค้างานหัตถกรรมไทย พร้อมการจัดส่งถึงมือลูกค้าแบบมีมาตรฐานของ www.Thailandpostmart.com ซึ่งถือได้ว่าการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงงานศิลปหัตถกรรมไทยในกลุ่มลูกค้าสากล จะเชื่อมโยงทุกความสัมพันธ์สู่ทุกความสำเร็จและการเติบโตอย่างยั่งยืนของคนไทย
ผู้อำนวยการ SACIT กล่าวเพิ่มเติม นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่กลุ่มผู้ผลิตงานศิลปหัตถกรรมไทยมีโอกาสได้นำเสนอเรื่องเล่าของงานฝีมือผ่านสินค้า เป็นทางเลือกแก่ลูกค้าที่สนใจงานหัตถกรรมไทย ที่เป็นช่องทาง อี-มาร์เก็ตเพลสของไทย ที่อำนวยความสะดวกได้มีมาตรฐานและครบวงจร เป็นช่องทางกระจายสินค้าที่หลากหลายทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภคจากผู้ประกอบการ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และกลุ่มเกษตรกรมีฐานลูกค้าในวงกว้าง
เชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตได้จำหน่ายสินค้า ถึงมือผู้บริโภคได้อย่างมีคุณภาพ
SACIT เสริมภาพลักษณ์ที่ดีของงานหัตถกรรมไทย โดยจัดแสดงและจำหน่ายงานศิลปหัตถกรรมไทยในรูปแบบ Pop Up Store ณ อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก ในช่วงระหว่างวันที่ 28 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2568 และพร้อมกันกับการเผยแพร่ Banner SACIT Shop บน www.Thailandpostmart.com เพื่อเชื่อมโยงลูกค้าให้เข้าถึงงานศิลปหัตถกรรมไทยง่ายขึ้น และจะต่อยอดความร่วมมือในอนาคตอันใกล้ จะดำเนินการเชื่อมโยง การให้บริการสั่งซื้อ การคำนวณค่าขนส่งสินค้า และจัดส่งงานศิลปหัตถกรรมไทย ด้วยระบบ API (Application Programming Interface) หลังบ้าน มุ่งเน้นดันงานศิลปหัตถกรรมไทยออกสู่ตลาดสากล หวังรายได้กลับสู่กลุ่มผู้ผลิตงานหัตถกรรมไทย ได้ร่วมเติบโตในเส้นทางของวงการหัตถศิลป์ไทยไปด้วยกัน ผู้อำนวยการ SACIT กล่าวย้ำ