เสริมคุณ คุณาวงศ์ สะสมเพื่อส่งผ่านคุณค่าศิลปะที่ไร้กาลเวลา ณ บ้านพิพิธภัณฑ์ คุณาวงศ์ 

0
161

สำหรับนักสะสมงานศิลป์แล้ว พิพิธภัณฑ์อาจเปรียบดั่งสถานที่สำหรับการสื่อสารในระดับลึกซึ้ง เฉกเช่นคุณเสริมคุณ คุณาวงศ์ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการบ้านพิพิธภัณฑ์ คุณาวงศ์ ทุกชิ้นงานที่ถูกจัดวางในทุกจุด ล้วนสะท้อนถึงรสนิยม ความคิด และวิถีชีวิตอันรื่นรมย์ พร้อมส่งผ่านคุณค่าศิลปะสู่คนรุ่นต่อไป

“แรงบันดาลใจในการก่อตั้งบ้านพิพิธภัณฑ์ คุณาวงศ์มาจากผมเป็น Art Lover แล้วจากความชอบก็นำมาสู่การสะสม จากการสะสมมาสู่การก่อตั้งศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพฯ แล้วถึงวันนี้เราก็ควบแน่นทุกอย่าง กลายมาเป็นบ้านพิพิธภัณฑ์สำหรับอยู่อาศัยเอง แต่ขณะเดียวกันก็มีความรู้สึกว่า อยากมีสักหนึ่งวันในหนึ่งสัปดาห์ที่จะแบ่งปันให้คนได้เข้ามาชื่นชมงานศิลปะ โดยผลงานมีนับ 1,000 ชิ้น ตั้งแต่เป็นจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ วิดีโออาร์ต รวมไปถึงโคมไฟแบบแปลกๆ เฟอร์นิเจอร์แอนทีค ฯลฯ”

“ถ้าพูดถึงผลงานศิลปะชิ้นเด่นที่ไม่ควรพลาดชม หนึ่งในนั้นคือห้องครุฑ ผลงานของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และศิษย์ ที่ทำการถอดพิมพ์จากตึกไปรษณีย์กลางบางรัก เป็นชิ้นงานที่ประเมินค่าไม่ได้ และนับเป็นศิลปะในยุคคณะราษฎรชิ้นสำคัญที่สุด ส่วนภาพจิตรกรรมในชื่อ ‘พระพาย’ ที่หมายถึงเทพเจ้าแห่งลม ผลงานของอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ก็น่าชม หรือถ้าใครชอบความเก่าแก่ก็มีพระพุทธรูปสมัยพระเจ้าปราสาททอง ยุคกรุงศรีอยุธยาในตู้พระธรรม และพระพุทธรูปสมัยทวารวดีอายุราว 1,000 ปี ในห้องไชนีส ทีรูม แล้วยังมีห้องเลานจ์ในอาคารคิวบิค เป็นอีกหนึ่งโซนที่คนส่วนใหญ่ชอบ โดยมีการผสมผสาน Interior กับ Architecture และงาน Surrealism เข้าไว้ด้วยกัน ในนั้นมีงานช้างตัวใหญ่และผลงานของอาจารย์ช่วง มูลพินิจ 11 ชิ้น รวมถึงรูปหล่อสิงโตตัวใหญ่ที่สวนแห่งชีวิต ส่วนโซนระเบียงชั้นบนของเดอะ เรสซิเดนท์ มีคอลเลกชันประติมากรรมสำริดของอาจารย์เขียน ยิ้มศิริ ที่ใหญ่ที่สุด 24 ชิ้น แล้วด้วยความชื่นชมอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ผมจึงทำห้องแสดงผลงานของท่านไว้ด้วย”

“ผมมองว่าคุณค่าของงานศิลปะมี 2 อย่าง อย่างแรกคือคุณค่างานศิลปะอยู่ที่ตัวชิ้นงาน หมายถึงงานชิ้นนั้นอาจมีความสำคัญในประวัติศาสตร์ศิลป์ หรือมีความงดงามเป็นที่ประจักษ์ เป็นผลงานศิลปินชื่อก้อง เป็นงานหายาก มีน้อย ส่วนคุณค่าอีกอย่างนับเป็นความเฉพาะตัวที่ศิลปะมีกับผู้ครอบครองหรือผู้ชมอย่างมีนัยยะ สมมติเช่น รูปปั้นคนสองคนอาจทำให้นึกถึงว่าเราเคยมีฝาแฝดซึ่งจากไปแล้ว ศิลปะนั้นก็จะมีคุณค่ากับเราอย่างเฉพาะตัว ศิลปะมักมี 2 มิติแบบนี้เสมอครับ”

“สำหรับมุมมองในอนาคตช่วง 10 ปีข้างหน้า ผมอยากมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบนิเวศในวงการศิลปะไทย จริงๆ แล้วผมก็เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านศิลปะในการกำหนดนโยบายหลายๆ คณะกรรมการอยู่ ถือเป็นอีกบทบาทหนึ่งที่คิดว่าจะทำสืบไป และถ้าให้ฝากถึงศิลปินรุ่นใหม่ อยากบอกว่าไม่ต้องรีบร้อนสร้างงานออกมาจำนวนมาก อยากให้ใช้เวลาในการบ่มเพาะตัวเอง พยายามท้าทายตัวเองไปสู่สิ่งใหม่ๆ เพราะถ้ารีบทำจะ Over Supply แล้วอย่าตั้งราคาสูงในช่วงแรก ถ้าขึ้นราคาเร็วเกินไปวันหนึ่งอยากลดราคาลงมาไม่ใช่เรื่องง่าย คนที่ซื้อไปเขาจะเสียหายหรืออาจมาคอมเพลน ส่วนนักสะสมรุ่นใหม่อยากให้ใช้เวลาดูงานศิลปะอย่างน้อยสัก 6 เดือน ศึกษาในออนไลน์ ศึกษาจากหนังสือ ลองไปดูแกลอรีต่างๆ อย่าง BACC, MOCA หรือที่บ้านพิพิธภัณฑ์นี้ก็ได้ แล้วคุณจะค่อยๆ ค้นพบตัวเองว่าชื่นชอบงานศิลปะแบบไหน ลองเลือกซื้อสักหนึ่งชิ้นก่อนที่คุณรู้สึกว่าได้เห็นแล้วเพลิดเพลิน มีความสุข จากนั้นก็จะรู้แนวทางของตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ ในการเป็นนักสะสมงานศิลป์” 

Facebook Comments

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.