“ดีเจพี่อ้อย นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล” กับมุมมองความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ รักยุคดิจิทัล เจ็บยังไงให้ใจรอด

0
64

ส่งท้ายเดือนแห่งความรัก ด้วยมุมมองและแง่คิดจาก ดีเจพี่อ้อย นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล ที่รับฟังเรื่องราวความรักมาหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ยุคอนาล็อก จนก้าวมาสู่ยุคดิจิทัล เมื่อความรักที่ถูกหล่อหลอมด้วยเทคโนโลยีและสังคมสมัยนี้ กลายเป็นความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ ที่ซับซ้อนและยุ่งยากกว่าที่เคย การรับมือกับความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น เมื่อต้องเผชิญกับความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ จึงควรมีวัคซีนไว้ป้องกันตัวเอง

“พี่อ้อยมองว่าปัญหาความรักในช่วง 5 ปีหลัง หรืออาจจะ 10 ปีมาแล้วด้วยซ้ำ สิ่งที่ได้ยินบ่อยมากคือ ‘การนอกใจ’ ซึ่งสะท้อนออกมาในคลับฟรายเดย์เหมือนกัน สมมติวันศุกร์เรารับสายสัก 10 สาย จะมีถึง 6 สายที่เป็นเรื่องของการนอกใจ อาจเพราะเรารู้สึกถือสาเรื่องการมีเจ้าของน้อยลงมาก พี่อ้อยมองว่าถ้าเป็นเมื่อก่อนนี้ เวลาใครก็ตามที่มีเจ้าของแล้ว เราจะไม่ไปยุ่ง แต่พอถึงวันนี้ หลายคนมักพูดว่าหนูไม่ได้อยากจะไปแย่งคนของเขานะ หนูก็อยู่ในที่ของหนู หนูเองก็ไม่ได้อยากทำให้ครอบครัวเขาแตกแยก คือมันดูเป็นประโยคที่ฟังเหมือนเสียสละ แต่ที่จริงคือคุณก็เข้ามาแจมนั่นแหละ รวมถึงการที่เราถือสาเรื่องความมีเจ้าของน้อยลง หรือแม้กระทั่งเรากลับเป็นคนที่มีความรู้สึกว่า คนอื่นเขาก็ทำ ไม่เห็นเป็นไรเลย เห็นนอกใจกันเยอะแยะ”

“ถ้าถามว่าเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล มีส่วนทำให้ปริมาณการนอกใจเพิ่มมากขึ้นไหม หากเป็นเมื่อก่อนคุณจะต้องเข้าไปเริ่มต้นทำความรู้จัก กว่าจะไปถึงจุดนอกใจ ต้องมีกรรมวิธีที่ค่อนข้างยาก แต่ปัจจุบันนี้เรามีสมาร์ตโฟนอยู่ในมือ บางทีคนที่แต่งงานแล้วยังเล่นแอพหาคู่อยู่เลย แล้วบอกว่า โอ๊ย..คุยขำๆ ไม่มีอะไรหรอก ช่วงนั้นเราทะเลาะกันพอดี ก็แค่หาเพื่อนคุย เลยเป็นเหมือนการอนุญาตให้เราสามารถเข้าไปสู่ภาวะเสี่ยงได้ง่ายขึ้น แล้วเรามักจะหาเหตุผลมาสนับสนุนสิ่งที่เป็นความไม่โอเคของเรา เช่น คนที่รักกันเขาพูดจาแย่ใส่หนู ที่หนูคบซ้อนเพราะว่าเขามีข้อเสียสารพัด คือถ้าเป็นแบบนั้นก็เลิกค่ะ ไม่รักก็บอกอย่าหลอกว่ารัก หรือถ้าคนนี้ไม่ใช่ก็บอกเลิกให้จบอย่าคบซ้อน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในคลับฟายเดย์ จนกระทั่งพี่อ้อยต้องพูดประโยคนี้บ่อยมากในช่วงหลังคือ ถ้าคิดว่านอกใจเป็นเรื่องธรรมดา การเสียน้ำตาก็เป็นเรื่องปกติ ถ้าคุณคิดว่าใคร ๆ ก็นอกใจกัน ถ้านอกใจแล้วต้องไม่เสียใจสิ แต่ในเมื่อวันนี้คุณยังเสียใจ แปลว่าเรื่องนอกใจไม่ใช่เรื่องธรรมดา”

“พี่อ้อยว่าทั้งหมดทั้งมวลคือความไม่รู้จักพอของคน ต้องยอมรับว่าบางทีเราไม่แก้ปัญหาที่ปัญหา เราเริ่มแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มจำนวนคนเข้าไป ในเมื่อแฟนไม่มีเวลาให้ งั้นหาอีกคนมาให้เวลาแล้วกัน หรือคนนี้บางทีเขาไม่ตอบโจทย์ ไม่โรแมนติกเลย แต่กับอีกคนเขามีเวลาให้หนูเสมอ แต่หนูก็ไม่ได้คิดอะไรมากนะ คือเวลามันวนกลับมาที่ ‘ไม่ได้คิดไรมาก’ นั่นคือความน่ากลัว ถ้าคิดสักหน่อย อย่างน้อยเราจะรู้ว่าเสี่ยงนะ การนอกใจกับการติดยาเหมือนกันอยู่ข้อหนึ่ง คือคิดว่ามันจะไม่ติด แต่ถ้าเกิดติดขึ้นมาแล้วจะกลายเป็นเรื่องใหญ่”

“ในท้ายที่สุดพี่อ้อยเป็นได้แค่กองเชียร์ แต่เขาเป็นกองหน้า ต่อให้บอกว่าการนอกใจไม่ดี จริง ๆ แล้วคนที่นอกใจรู้หมดแต่อดไม่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะถามกลับเสมอคือ ถ้าคนที่เรารักทำแบบเดียวกันกับน้อง น้องโอเคเหรอ ร้อยทั้งร้อยบอกว่าไม่โอเค ตอนเป็นผู้กระทำไม่รู้สึกจะเจ็บลึกตอนถูกกระทำบ้าง วันนี้เรารักใครต้องมีวิตามินเสริมกันขนาดนั้นเลยเหรอ คนนี้อ่อนด้อยเรื่องนึง ฉันเลยต้องไปหาอีกคนนึงมาเสริม คนเรารักกันก็มีความไม่สมบูรณ์แบบทั้งคู่ ไม่มีใครหรอกที่รักกันแล้วต่อเป็นจิ๊กซอว์ตรงเป๊ะ ๆ มันก็ต้องมีวันที่รำคาญจังเลย ทำไมเธอต้องเถียงขนาดนี้ ทำไมเธอต้องงี่เง่าขนาดนั้น แต่ถ้าเรารักกันมากพอ เราจะเดินหน้าต่อแบบรักกันในข้อดีและบางทีก็ต้องให้อภัยในข้อเสีย แต่ไม่ใช่เธอมีข้อเสียฉันเลยไปหาว่าใครดีในข้อนี้บ้าง เรื่องถึงได้วุ่นวายขนาดนี้ เคยมีคนพูดว่าพี่อ้อยไม่รู้หรอก มนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นแบบผัวเดียวเมียเดียว อ๋อ..ไม่รู้ค่ะ พี่แค่รู้สึกว่าถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่ไม่ใช่ผัวเดียวเมียเดียว และเมื่อรักใครก็นอกใจได้ตลอด ชีวิตถึงได้วุ่นวายเหมือนที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้”

“เวลาที่เรารักใครสักคนมาก ๆ เราจะไม่อยากทำให้เขาเสียใจ แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเริ่มรักเขาน้อยลง คุณจะเริ่มรู้สึกว่าบางทีคนอื่นคงดีกว่า แล้วพอจะไปกับคนอื่น แต่คนอื่นก็มีแฟนของเขาเอง ตอนนี้ความสัมพันธ์มักเป็นแบบนั้น เราไม่ใช่แค่รักสามเส้า แต่ไม่รู้ตั้งกี่เส้า บางคนอาจบอกว่าเป็นความสัมพันธ์ที่หนูก็ไม่จริงจังอยู่แล้ว เพราะรู้ว่าเขามีแฟนของเขาอยู่ นั่นแหละค่ะคือความน่ากลัว วันนี้ถ้ารักกันมากความซื่อสัตย์ให้กันยากตรงไหนคะ”

“พี่อ้อยอาจจะเป็นคนในเจนฯ ที่รู้สึกว่าคนเราถ้ารักกันมากก็คงอยากซื่อสัตย์ แต่ถ้าเริ่มไม่ซื่อสัตย์แปลว่าคุณไม่ได้รักมากขนาดนั้นแล้ว บางคนก็มีเหตุผลว่าต้องทนอยู่เพื่อลูก ซึ่งบางครั้งลูกคือคนหนึ่งที่เดินมาบอกด้วยซ้ำ ว่าแม่ไม่ต้องร้องไห้ขนาดนี้แล้วนะ เราอยู่กันแค่นี้ก็ได้ เพราะบางคนทนอยู่ให้ครบแต่ไม่ได้จบที่อบอุ่น บางครอบครัวอยู่ด้วยกันแต่ไม่ค่อยคุยกันแล้ว ถามจริง ๆ ว่าอยู่เพื่อลูกจริงหรือเปล่า เคยถามลูกไหมว่าเขาอยากให้เป็นแบบไหน พี่อ้อยเคยเจอบางครอบครัวที่ผู้ชายมีคนอื่นไปแล้ว แต่บอกว่าก็นี่ไง อยู่ให้ลูกแล้วไง จะเอาอะไรอีก แล้วก็พูดใส่หูลูกว่า พ่อขอโทษจริง ๆ ที่พ่อเป็นแบบนี้ก็เพราะแม่หนูเป็นแบบนี้ไง ปัญหาทุกวันนี้มีหลายแบบเหลือเกินค่ะ ตอนทำคลับฟรายเดย์เดอะซีรีส์แรก ๆ ที่นำเรื่องราวในชีวิตจริงมาทำเป็นละคร ทุกคนจะส่งข้อความมาถามว่า มีเรื่องแบบนี้จริงเหรอ ปัจจุบันนี้ดูจากข่าวได้ค่ะ ล้ำกว่าละครตั้งมาก”

“สำหรับเรื่องการมีลูก เป็นสิ่งที่คนสองคนจะตัดสินใจ คุณต้องสร้างครอบครัวที่อบอุ่นพร้อมรอลูกที่จะมาเกิด ไม่ใช่แค่คิดว่ามีลูกเลยแล้วกัน เพราะพ่อแม่ทะเลาะกันบ่อยเหลือเกิน อย่างน้อยมีลูกจะได้มีโซ่คล้องใจ แบบนี้ไม่ใช่ค่ะ เด็กไม่ใช่ตัวประกัน ถ้าคุณอยากเป็นครอบครัวที่อบอุ่น คุณต้องพร้อมทำให้เด็กที่เกิดมาในครอบครัว รู้สึกอบอุ่นมากพอ แต่ละคู่มีรูปแบบของการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน ต่อให้ทำคลับฟรายเดย์มาจะ 20 ปี พี่อ้อยไม่เคยพูดว่าสูตรไหนใช้ได้กับทุกความรัก ทุกคนมีสูตรของตัวเอง บางคนเอาสูตรนั้นมาประยุกต์เข้ากับจริตของเรา ไม่มีสูตรไหนที่ถูกต้อง 100% เพราะบางคู่มีข้อยกเว้นเสมอ เช่น ดูใจกันนาน ๆ จะได้ไม่ต้องทรมานกับการทำใจ ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าเยอะ แต่บางคู่ดูใจนาน 12 ปี พอแต่งงานแค่ 2 เดือนเลิกก็มี ความรักเลยเป็นเรื่องที่โลกไม่ได้อนุญาตให้เรามีสูตรกับมันนักหนาหรอก เราแค่รับมือตามอาการ และเมื่อไหร่ก็ตามที่ความรักในครอบครัวของเรา มันเริ่มเป็นปัญหา ก็แค่จับมือ คุยกัน ฟังกัน ถ้าไม่รักกันมากพอที่จะเดินต่อ ก็ปกป้องความเจ็บปวดทั้งหลายด้วยการกลับมารักตัวเอง”

“เคยมี LGBTQ+ หลายคนพูดว่าไม่มีรักแท้ในเพศที่สามด้วยซ้ำ แต่พี่อ้อยจะบอกว่าเห็นหรือยังวันที่เรามีกฎหมายสมรสเท่าเทียม คนที่ก้าวเข้าไปจดทะเบียนก่อนเลย คือคนที่มีความรักมาระยะยาวแทบทั้งนั้น รักแท้ไม่ได้อยู่ที่คุณเป็นเพศไหน แค่อยู่ที่คุณรักกับใครต่างหาก ชายจริงหญิงแท้ไม่พบรักแท้ก็มีตั้งเยอะ LGBTQ+ ที่เขารักกันมานาน ฝ่าฟันกันมา ยอมซ่อนตัวเพื่อจะไม่ทำให้อีกฝ่ายมีผลกระทบต่อมุมมองของครอบครัว หรือยอมซ่อนตัวเพื่อให้คนรักยังได้รับความไว้ใจในฐานะของคนทำงานสำหรับบางองค์กรแบบยุคก่อน บางคนอาจยังมองว่า LGBTQ+ คือความแปลก จริง ๆ ไม่ใช่ค่ะ เขาแค่มีความต่าง เขามีสิทธิ์ที่จะเจอความรักที่ดี ขณะเดียวกันก็มีสิทธิ์ที่จะเจอความรักแย่ ๆ เหมือนกันทุกคน วันนี้ถึงไม่ต้องมานับเพศไงคะ เรานับว่าคุณรักกับใครต่างหาก”

“พี่อ้อยมองว่าควรมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมมาตั้งนานแล้ว ต้องยอมรับทุกหัวใจที่ร่วมกันต่อสู้ ถึงแม้บางทีอาจได้ยินบางคนบอกว่า นี่เป็นการยุยงให้เกิดเพศที่สาม ไม่ใช่เลยค่ะ เพศที่สามไม่ได้เกิดจากการยุยงนะคะ อย่างน้อยที่สุดคนที่รักกัน เขาควรมีความรับผิดชอบในความรักของเขา วันที่เขาเจ็บไข้ได้ป่วยทำไมคนรักถึงไม่มีสิทธิ์ในการเซ็นเอกสารรักษา มันมีอะไรสารพัดที่ทำให้คนที่เป็น LGBTQ+ หลายคน ถึงมองว่าตัวเองเป็นจุดด้อยที่สุดของสังคม คุณรักกันมา ต่อสู้ฝ่าฟันกันมา ทำธุรกิจด้วยกันมา แต่ถ้าถึงที่สุดแล้วกฎหมายสมรสเท่าเทียมไม่ออก วันนึงหากใครสักคนเดินจากไป สมบัติทั้งหมดก็กลับไปเป็นของคนในครอบครัว แล้วคนที่เขาสร้างมาด้วยกันล่ะ พี่อ้อยเลยมองว่าสมรสเท่าเทียมควรมีอยู่แล้ว และเช่นเดียวกัน การมีกฎหมายนี้ก็ไม่ได้การันตีว่าจะไม่มีการนอกใจ เพราะชายจริงหญิงแท้จดทะเบียนสมรสกันมาตั้งกี่ชาติแล้ว การนอกใจก็ยังเกิดขึ้นได้เลย หรือแม้แต่ต่อให้มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม ถ้าบางคู่ไม่จดมันก็สิทธิ์ของเขาเช่นกัน แต่ขอให้มีกฎหมายในการรองรับคนที่อยากจดก่อน เลยรู้สึกว่าไม่ใช่แค่การมีกฎหมายเพื่อรองรับความรักของคนสองคน แต่นี่คือสิ่งหนึ่งที่ทำให้เขารับรู้ว่า คุณคือคนที่มีสิทธิ์จะมีความรักโดยไม่ได้มีการมาระบุเพศ”

“กฎหมายสมรสเท่าเทียม เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของการยอมรับความแตกต่าง วันนี้คุณดิ้นรนเพื่อสมรสเท่าเทียมแทบตาย แต่ถ้ามีใครที่แสดงความเห็นไม่ตรงกัน แล้วไปไล่ถล่มด่า แปลว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียมไม่ได้สร้างบทเรียนอะไรเลย วันนี้สมรสเท่าเทียมเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราเห็นว่า มนุษย์ทุกคนมีความต่าง พี่อ้อยยกตัวอย่างเสมอว่า คุณจะเดินจูงมือไปข้างหน้ากับใคร คุณใช้มือคนละข้างจูงกันอยู่นะ คุณใช้มือขวาของคุณจูงมือซ้ายของเขา ถึงจะเดินไปด้วยกันได้ แล้วทุกเรื่องในโลกมีความต่างหมด ขนาดพี่น้องฝาแฝดยังชอบไม่เหมือนกันเลย การสมรสเท่าเทียมนั้นสะท้อนอะไรหลายอย่าง เพราะคนทุกคนล้วนมีความต่างในแบบของตัวเอง”

Facebook Comments

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.