GOOD HEALTH AND WELLBEING “รศ. นพ.ปริญญ์ โรจนพงศ์พันธุ์” หัวหน้าศูนย์จักษุ MedPark Hospital ยกระดับจักษุวิทยา มอบมุมมองผ่านสายตาเฉียบคม

0
79

จักษุแพทย์ผู้มีบทบาทสำคัญ ในการยกระดับความก้าวหน้าด้านจักษุวิทยา รศ. นพ.ปริญญ์ โรจนพงศ์พันธุ์ หัวหน้าศูนย์จักษุ MedPark Hospital ที่นำประสบการณ์ยาวนาน และความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านโรคต้อหิน โดยผสานศาสตร์การแพทย์เข้ากับเทคโนโลยีล้ำสมัย เพื่อยกระดับมาตรฐานการรักษาสู่ความเป็นเลิศ

“การที่ผมเลือกเป็นจักษุแพทย์ เนื่องจากตอนไปเป็นแพทย์ใช้ทุนมีโอกาสทำงานในกองจักษุกรรม ทำให้รู้เลยว่าชอบ เพราะทำงานกับความแม่นยำและมีรายละเอียดมาก เป็นงานที่มีส่วนผสมของวิทยาศาสตร์กับศิลปะอย่างลงตัว แล้วมีความก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เหมาะกับอุปนิสัยของผม เพราะชอบความท้าทาย เรียนรู้สิ่งใหม่ หลังจบจากจุฬาฯ จึงไปศึกษาต่อต่างประเทศ ทั้ง University of British Columbia ที่แคนาดา ได้รับทุนจาก Japan Ophthalmologist Association Fellowship ไปศึกษาที่ Dokkyo University จากนั้นมาเทรนต่อที่ Bascom Palmer Eye Institute ในฟลอริดา และ New York Eye and Ear Infirmary นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พอกลับไทยก็มาเป็นอาจารย์ และเลื่อนเป็นหัวหน้าภาควิชาจักษุแพทย์ที่จุฬาฯ โดยปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าศูนย์จักษุ ที่โรงพยาบาลเมดพาร์ค”

“มนุษย์เราไม่มีใครสักคนที่จะไม่เป็นโรคตา แม้แต่เด็กทารกก็มีสิทธิ์เป็นต้อหินตั้งแต่เกิด แล้วถ้าแบ่งเป็นกลุ่มอายุ ปัญหาเรื่องตาในเด็กที่พบมากที่สุด โดยเฉพาะในเมืองใหญ่คือสายตาสั้น เพราะมักนั่งดูมือถือบนรถระหว่างการเดินทางไปโรงเรียน สำหรับวัยรุ่นจะมีปัญหาการใช้สายตาเยอะ มีอาการสายตาสั้นเหมือนกัน พอวัยกลางคนขึ้นมาก็จะมีปัญหาสายตายืด ซึ่งคนส่วนใหญ่มักเรียกผิดเป็นสายตายาว ในภาษาอังกฤษจะมีคำแยกกันระหว่าง Hyperopia สายตายาว กับ Presbyopia ที่สื่อถึงสายตายืด เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสามารถของการโฟกัสภาพที่ลดถอย ส่วนผู้สูงอายุก็มักมีโรคจอประสาทตาเสื่อมและอาการตาล้า ตาแห้ง”

“เมืองไทยมีทั้งปัญหาต้อลม ต้อเนื้อ ต้อกระจก ต้อหิน ซึ่งการผ่าตัดต้อกระจก ปัจจุบันมีเลนส์หลายชนิดมาก เวลาเลือกเลนส์หรือออกแบบเลนส์ให้คนไข้ ผมคิดว่าจักษุแพทย์เกือบทุกคนมองว่าเป็นแพสชัน ทำอย่างไรให้คนไข้แฮปปี้ที่สุด เพราะบางคนมีความต้องการจำเพาะ บางคนแบบสบายๆ ซึ่งคนไข้ที่อะไรก็ได้ถือเป็นคนไข้น่ารักที่สุดสำหรับหมอ แต่คนไข้ที่มีความต้องการจำเพาะแล้วเราสามารถตอบสนองได้ นั่นคือสนุกที่สุด เพราะจักษุแพทย์ต้องกลายเป็นเหมือนดีไซเนอร์หรือสถาปนิก ที่จะออกแบบเลนส์ให้ตรงกับความต้องการ”

“เทคโนโลยีที่ผมคิดว่าน่าจะมีการพัฒนา ในวงการจักษุวิทยามีหลายอย่าง โดยเฉพาะ Imaging Technology เดี๋ยวนี้วิเคราะห์ได้ตั้งแต่หนังตาไปจนถึงกระจกตา แม้อาจไปเพิ่มคอร์ส แต่ก็ทำให้เราเข้าใจในระดับ Microstructure ช่วยในการรักษาได้มีประสิทธิภาพ และมองว่าต่อไปคนไข้อาจไม่ต้องเข้ามาโรงพยาบาล สามารถไปศูนย์ที่ทำ Imaging แล้วส่งผลออนไลน์ได้ รวมไปถึงระบบโฮมแคร์ ตอนนี้มีเครื่องวัดความดันตาที่บ้านได้ ในอนาคตเชื่อว่าน่าจะมีเทคโนโลยีทางเลือก ที่ดียิ่งขึ้นในการดูแลคนไข้ โดยไม่ต้องมาโรงพยาบาลบ่อยนัก แล้วการผ่าตัดก็จะมุ่งไปสู่การผ่าตัดแบบบาดเจ็บน้อย หรือที่ต่างประเทศเรียกว่า Minimally Lasik Surgery เช่น ต้อหินที่เคยต้องแอดมิดกัน 4 – 5 วัน เดี๋ยวนี้ผ่าตัดไม่ต้องเย็บซักแผล ทำเสร็จกลับบ้านได้ หรือการรักษาต้อกระจก คนไข้ก็เปิดตาแล้วกลับบ้านได้ทันที แม้กระทั่งโรคกระจกตาเสื่อม ซึ่งเดิมต้องเจาะผ่ากระจกตาที่เสียออก ยุคนี้ใช้การฉีดสเต็มเซลล์ทำให้กระจกตานั้นหาย รวมถึงเรื่องของ Genetics ใช้ Viral Vector Genes เข้าไปรักษาในดวงตา ซึ่งผมเชื่อว่าเทคโนโลยีจะพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต”

“สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกเป็นห่วง คือทรัพยากรที่แพงขึ้นเรื่อยๆ และปฏิเสธไม่ได้เลย เพราะเราอยากได้ผลการรักษาที่ดีเยี่ยม ต้องการความถูกต้องแม่นยำ รวดเร็ว ทำให้ค่ารักษากับค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพราะเทคโนโลยีที่ใช้เราไม่ได้ผลิตเอง แม้ว่าผมกับทีมพยายามพัฒนาหลายอย่าง หวังว่าเราจะพึ่งพาตัวเองในประเทศได้ แต่ก็มีหลายสิ่งที่เรายังต้องพึ่งพา ซึ่งมีราคาแพง แต่เมืองไทยโชคดีที่เรามีทางเลือกช่วยให้ค่ารักษาไม่แพงนัก ในตัวเลือกที่เป็นโรงพยาบาลของรัฐ”

“สุดท้ายอยากฝากถึงคนยุคนี้ว่า ช่วยสงสารดวงตาบ้าง วิธีที่ดีที่สุดคือการหลับตา แต่เข้าใจว่างานที่ทำจำเป็นต้องใช้สายตา ก็อยากให้พักตาบ้าง อย่างเช่น ถ้ามีงานที่ต้องมองใกล้อยู่หน้าจอตลอด ลองพิจารณาดูว่าสามารถทำงานส่วนนี้ครึ่งเช้าได้ไหม แล้วครึ่งบ่ายไปทำอย่างอื่น เช่น ประชุม หรือออกไปดูไซต์งาน คนที่น่าเห็นใจที่สุด คือคนที่ต้องนั่งจ้องจอตลอด 8 ชั่วโมง แนะนำว่าให้กะพริบตาบ่อยหน่อย จะได้มีการสร้างน้ำตา การเกลี่ยน้ำตาให้ดวงตาชุ่มชื้น หรืออาจหยอดน้ำตาเทียม พอเลิกงานก็ไปออกกำลังกายบ้าง ไม่ใช่นั่งดูมือถือ อีกเรื่องที่ผมคิดว่าจำเป็นต้องรู้ก็คือ มีโรคตาจำนวนมากที่เจ้าตัวอาจเป็นแล้วแต่ยังไม่รู้ โดยเฉพาะต้อหินเป็นโรคที่ 90% ของคนไข้ไม่มีอาการ พออายุ 40 ปีต้องตรวจตาอย่างน้อยสักครั้ง ยิ่งถ้ามีคนในครอบครัวเป็นโรคเกี่ยวกับตา ต้องพึงระลึกว่ามีโอกาสถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ไม่จำเป็นต้องตรวจทุกปี แต่ควรตรวจและให้หมอประเมิน ว่าน่าจะมาเช็กอีกครั้งในอีกกี่ปีข้างหน้า อยากให้ทุกคนดูแลดวงตากันด้วยครับ”

ติดตามอ่านได้ในนิตยสาร HOWE ฉบับ 128


สามารถสั่งซื้อ E-Book ผ่านทาง Meb : https://www.mebmarket.com/ebook-346523-

Facebook Comments

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.