CEA รุกนำโมเดล TCDN กระจายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ใน 5 จังหวัดภาคเหนือ เผยย่าน “น่าอยู่ น่าลงทุน และน่าเที่ยว” เมืองเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พิษณุโลก และน่าน

0
40

(องค์กรมหาชน) หรือ CEA เผยผลสำเร็จการพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต้นแบบภาคเหนือ ในปี 2567 ‘เชียงใหม่ – ลำพูน – ลำปาง – พิษณุโลก – น่าน’ ผ่านเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย (Thailand Creative District Network: TCDN) ด้วยการพัฒนาผ่านยุทธศาสตร์ 5 ด้านสำคัญสู่เป้าหมายการสร้างย่าน “น่าอยู่ น่าลงทุน และน่าเที่ยว” พร้อมเร่งเครื่องมุ่งเป้าสร้างย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพิ่มเติมในภาคเหนือ เพื่อรองรับแรงงานสร้างสรรค์ ดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้คืนถิ่น นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต และขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นต่อไป

ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) กล่าวว่า  หนึ่งในพันธกิจสำคัญของ CEA  คือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาและยกระดับ เศรษฐกิจของประเทศ ซึ่ง CEA มองว่าการจะพัฒนาเศรษฐกิจในระดับประเทศได้นั้น จำเป็นต้อง เริ่มต้นจากการพัฒนาให้เกิดเมือง และย่านสร้างสรรค์ก่อน ดังนั้น จึงได้เดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาเมือง และย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผ่านเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย (Thailand Creative District Network : TCDN) โดยมุ่งเป้าให้ย่านที่มีศักยภาพ และสินทรัพย์ท้องถิ่นที่พร้อมต่อยอด ไม่ว่าจะเป็นทุนทางวัฒนธรรม ความพร้อมของพื้นที่ รวมถึงความพร้อมของผู้คน เพื่อให้เกิดผลกระทบ
เชิงบวกทางเศรษฐกิจในย่านนั้น ๆ มากขึ้น ทั้งจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาจับจ่ายในพื้นที่ และนักธุรกิจที่มองเห็นโอกาส ความพร้อมของย่านเพื่อรองรับการลงทุน ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับ คุณภาพชีวิตของผู้คนได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

“การพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะได้รับการพัฒนาในทุกมิติ ผ่านยุทธศาสตร์ 5 ด้านอย่างใกล้ชิดโดยสาขาของ CEA ในภูมิภาคนั้น ๆ เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาย่านอื่น ๆต่อไป โดยยุทธศาสตร์ 5 ด้านสำคัญ ได้แก่ การสร้างเครื่องมือและกลไกในการยกระดับพื้นที่ สู่การเป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Strategic Planning & Development) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทางกายภาพของย่าน (Creative Place Making) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสภาวะ ที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ (Strengthen Creative Business) การสร้าง เผยแพร่ และส่งเสริม สื่อสาร และบริหารการรับรู้อัตลักษณ์ของย่าน (District Branding) และการสร้างให้ผู้คนในพื้นที่มีส่วนร่วม พัฒนาย่าน (Co-Creating Creative Community)ซึ่งยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ด้านนี้เป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่ การพัฒนาย่าน สู่เมืองสร้างสรรค์ที่มีองค์ประกอบสำคัญคือคนพร้อม – ของดี – พื้นที่สร้างสรรค์”

ดร. ชาคริต กล่าวเสริมว่า สำหรับพื้นที่ภาคเหนือถือเป็นพื้นที่ตัวอย่างที่มีศักยภาพพร้อมต่อยอด สู่การสร้างย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมีทั้งทุนทางวัฒนธรรมไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมพื้นบ้าน ประเพณีที่น่าสนใจ มีความพร้อมของพื้นที่โดยมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลากหลายแหล่ง และที่สำคัญคือผู้คนในพื้นที่มีความพร้อม และความต้องการที่จะพัฒนาย่านของตนเองให้เติบโต ได้มากขึ้น พื้นที่ภาคเหนือจึงเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ CEA เลือกที่จะพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในปีนี้ โดยนำร่องใน 5 พื้นที่ได้แก่เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พิษณุโลก และน่าน 

สำหรับการพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ภาคเหนือทั้ง 5 พื้นที่ในปี 2567 ที่เกิดผลสำเร็จผ่านการดำเนินกิจกรรมต่างๆแล้ว ทั้งหมด 10 กิจกรรมเริ่มที่พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้เกิดกิจกรรมส่งเสริมการลงทุน และการพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต้นแบบย่านช้างม่อย ในโครงการ Upper Floor Project การพัฒนาพื้นที่บนอาคารพาณิชย์ชั้นสองที่ไม่ได้ใช้งาน โดยเปิดโอกาสให้นักสร้างสรรค์ทั้งในและนอกพื้นที่ได้พัฒนาพื้นที่เพื่อสร้างผลงาน และต่อยอด โอกาสทางธุรกิจ กิจกรรมพัฒนาศักยภาพบุคลากร และชุมชนย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ผ่าน 2 กิจกรรม ได้แก่กิจกรรมปรับปรุงภูมิทัศน์และส่งเสริมความรู้การพัฒนาพื้นที่สีเขียว ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ช้างม่อย จังหวัดเชียงใหม่ ปีที่ 3 (Green Garden) ที่ได้เปลี่ยนพื้นที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์สู่พื้นที่สีเขียว ด้วยผักสวนครัว ช่วยชุมชนให้มีอาหารปลอดภัย ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ และยังเป็นพื้นที่กิจกรรม สำหรับชุมชน และกิจกรรมส่งเสริมการพัฒนาทักษะ (Upskill & Reskill) เพื่อสร้างอาชีพและการจ้างงาน ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์เชียงใหม่ ด้วยการสำรวจศักยภาพผู้คนในพื้นที่ เพื่อมาวิเคราะห์ และออกแบบแนวทางการพัฒนาทักษะอาชีพที่เหมาะสมให้กับผู้คนในย่าน

ต่อกันที่พื้นที่จังหวัดลำพูน กับกิจกรรมออกแบบเส้นทางและการใช้พื้นที่สาธารณะ ที่ทำร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ เพื่อรองรับเทศกาลสร้างสรรค์ของจังหวัดลำพูน และทำให้เกิดการใช้ประโยชน์พื้นที่ ที่เชื่อมโยงผู้คนและธุรกิจสร้างสรรค์ในย่านได้เข้ามามีส่วนร่วม ในกิจกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การกระตุ้นการกระจายรายได้ในพื้นที่ ส่วนพื้นที่จังหวัดลำปางเกิดกิจกรรมสำคัญ 2 กิจกรรมได้แก่กิจกรรมพัฒนาเชิงพื้นที่ ต่อยอดสินทรัพย์ของพื้นที่ผ่านการตกแต่งสถาปัตยกรรมของวัดผ่านการจัดแสงไฟ โดยการเพิ่มคุณค่า และจุดเด่นของสถาปัตยกรรมเดิม ที่ถือเป็นทุนทางวัฒนธรรมสำคัญของท้องถิ่น ต่อยอดด้วย ความคิดสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเอกลักษณ์ของพื้นที่ในมุมมองใหม่ และกิจกรรมส่งเสริมคุณค่า และสร้างการรับรู้อัตลักษณ์ลำปาง ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ทั้งการเดินชมเมือง การเสวนา และการเวิร์คชอปเพื่อส่งเสริมการใช้ความสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มคุณค่าของสินทรัพย์และวัฒนธรรม ของพื้นที่ เพื่อให้เกิดคุณค่าและมูลค่าใหม่ เกิดการกระตุ้นการรับรู้และเห็นโอกาสในการต่อยอด จากสินทรัพย์ในพื้นที่ จากการร่วมมือของผู้คนในพื้นที่ นําไปสู่ต้นแบบการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างสร้างสรรค์

ปิดท้ายที่ 2 พื้นที่นำร่องอย่างพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ที่ได้จัดนิทรรศการภาพถ่ายเล่าย่านตลาดใต้ – ประตูมอญ ที่นำเสนอมุมมอง อัตลักษณ์ และคุณค่าของพื้นที่ผ่านสายตาทั้งคนใน และคนนอกพื้นที่ เพื่อให้เกิดความตระหนักในคุณค่าและสามารถสร้างมูลค่าจากทุนทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม 

และสินทรัพย์ สร้างโอกาสในการต่อยอดทางธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมสร้างสรรค์และกิจกรรมใหม่ ๆ ในย่าน นำไปสู่การสร้างรายได้และเศรษฐกิจ และพื้นที่จังหวัดน่าน กับกิจกรรมส่งเสริมศักยภาพและสร้างโอกาส ในการเติบโตสำหรับนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ จังหวัดน่าน  “NAN Connect : คุณค่าใหม่ในวิถีน่าน” โดยแบ่งเป็น 3 กิจกรรมย่อย ตลอดระยะเวลา 3 เดือน ได้แก่ ระยะที่ 1 กิจกรรมบ่มเพาะพัฒนาศักยภาพ ความเป็นผู้นำ และโอกาสการสร้างอาชีพในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สำหรับนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ เพื่อสร้างศักยภาพและเครือข่ายนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ในพื้นที่จังหวัดน่าน ระยะที่ 2 กิจกรรมพัฒนาแนวคิด สร้างทักษะในการแก้โจทย์ปัญหาของพื้นที่ รวมไปถึงการพัฒนาย่านและกระตุ้นให้เกิดความสนใจ
การทำงานสร้างสรรค์ในคนรุ่นใหม่ จนเกิดการสร้างผลงานเพื่อพัฒนาย่านอย่างยั่งยืน และระยะที่ 3 เปิดโอกาสให้นักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ได้นำเสนอผลงาน และเห็นเส้นทางการเติบโตในอุตสาหกรรม สร้างสรรค์ (Career Path) หรือมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเมืองร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ จนเกิดการต่อยอดในทางธุรกิจและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ พร้อมเพิ่มขีดความสามารถ ในการพัฒนาย่านที่ตอบโจทย์ให้แก่คนในพื้นที่เกิดการสร้างอาชีพและรายได้ ตลอดจนดึงดูดให้ คนรุ่นใหม่คืนถิ่น นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจในย่านต่อไป

“CEA มีความตั้งใจที่จะพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมทั้งเครือข่ายย่านเศรษฐกิจ สร้างสรรค์ประเทศไทยให้มีมากขึ้น เพื่อผลักดันการเติบโตจากย่าน ไปสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ต่อไปได้ โดยเรามีแผนที่จะสร้างย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพิ่มเติมในอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย ภายในปี 2568 ซึ่งหากดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ก็จะสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกทั้งการพัฒนาผู้คน คุณภาพชีวิตของชุมชนรวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับพื้นที่ได้” ดร.ชาคริต กล่าวทิ้งท้าย

Facebook Comments

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.