GOOD HEALTH AND WELLBEING “รศ. นพ.กฤษณ์ จาฏามระ” ประธานมูลนิธิศูนย์มะเร็งเต้านมเฉลิมพระเกียรติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ อุทิศตนรักษาและวิจัย ให้ผู้หญิงไทยพ้นภัยมะเร็งเต้านม

0
80

ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งระดับแนวหน้า รศ.นพ.กฤษณ์ จาฏามระ ผู้ค้นคว้าวิจัยและรักษาโรคมะเร็งเต้านม รับบทบาททั้งผู้ก่อตั้งและหัวหน้าศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถ เพื่อมะเร็งเต้านม ประธานมูลนิธิศูนย์มะเร็งเต้านมเฉลิมพระเกียรติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ที่ดูแลตั้งแต่ระยะคัดกรองไปจนถึงลมหายใจสุดท้ายของชีวิต

“ผมโตที่ประเทศอังกฤษ จบแพทย์จาก University of London แล้วเทรนต่อทางศัลยแพทย์ จากนั้นไปทำงานที่ The Royal College of Surgeons of England กลับมาเมืองไทยเมื่อ 30 กว่าปี อายุ 40 กว่าแล้ว ตอนนั้นมะเร็งเต้านมในผู้หญิงไทยอยู่อันดับ 4 แต่เวลานี้ขึ้นอันดับหนึ่งมาหลายปีแล้วสำหรับมะเร็งในผู้หญิง โดยต้องถอยกลับไปสัก 20 ปีก่อน ตอนนั้นผมมีโอกาสกราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ว่าเราอยากตั้งศูนย์มะเร็งเต้านมที่มีคุณภาพ อย่างน้อยให้ดีเท่ากับศูนย์ที่ดีที่สุดของต่างประเทศ และหวังว่าในอนาคตเราจะทำให้ดีกว่าเขาได้ สิ่งที่ผมประทับใจมากคือพระองค์ท่านแทบไม่ใช้เวลาคิดเลย รับสั่งว่า ‘ฉันอยากให้ศูนย์ฯ นี้เป็นที่พึ่งของผู้หญิง’ ซึ่งคำว่าที่พึ่งของผู้หญิง คือไม่ใช่ว่าเราจะสร้างศูนย์ฯ ขึ้นมาเพื่อรักษามะเร็งเต้านมเท่านั้น แต่ศูนย์ฯ นี้จะต้องรักษามะเร็งเต้านมที่ดีที่สุด และรักษาปัญหาอื่นๆ เกี่ยวกับคนไข้ด้วย นี่คือจุดเริ่มต้น โจทย์ที่พระองค์ท่านให้มาผมว่าลึกมาก แต่ดีมากจริงๆ”

“ในปีแรกพระองค์พระราชทานเช็คให้ผม 2 ล้านบาท รับสั่งว่านี่เป็นเงินก้นถุง ทางสภากาชาดไทยก็ดีมากๆ ช่วยสนับสนุนทุกอย่างเพื่อให้เกิดขึ้น นอกจากศูนย์ฯ จะมีเครื่องมือดีที่สุด อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญมากคือ แพทย์ พยาบาล พนักงาน ต้องมีทัศนคติที่ดีกับคนไข้ เรามีโครงการหลายอย่าง รองรับปัญหาของผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านม เรามีห้องผ่าตัด ห้องแล็บ รวมถึงโครงการวิจัยของเราเอง มุ่งเรื่องปัญหาของมะเร็งเต้านม แล้วยังมีปัญหาอื่นซึ่งไม่เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม แต่เกี่ยวกับคนไข้ที่มีปัญหาจิตใจ เราเป็นแห่งแรกในประเทศไทยที่มีพยาบาลดูแลคนไข้โรคนี้โดยเฉพาะ”

“เรามีโครงการเข้าไปในพื้นที่คนยากไร้ ตามสลัมรอบกรุงเทพฯ นำแพทย์ พยาบาล อาสาสมัครเข้าไปสอนให้เขารู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม รับเข้ามาที่ศูนย์ฯ เพื่อตรวจคัดกรอง มีแมมโมแกรม อัลตราซาวด์ โดยพามาทั้งครอบครัวเลย มีกิจกรรมต่างๆ มีคนมาเล่นกลให้เด็กดู ดูแลเรื่องอาหารการกินทั้งวัน พอเสร็จตอนเย็นก็พาไปส่ง ส่วนคนไหนที่มีปัญหาเราก็ให้อยู่รักษา ทำแบบนี้มาราว 20 กว่าปีแล้ว สิ่งที่ภูมิใจมากสำหรับศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถ เพื่อมะเร็งเต้านมก็คือ คนไข้ที่มาหาเราจะได้รับการรักษาโดยใช้อุปกรณ์และเทคนิคการรักษาที่ดีที่สุดเหมือนกันหมด ไม่ว่าคนรวยหรือคนจน”

“ที่ศูนย์ฯ นี้ นอกจากจะดูแลคนไข้แบบดีที่สุดแล้ว เรายังมีซัปพอร์ตกรุ๊ป มีกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน มีพยาบาลพิเศษ แล้วแพทย์ของเราก็คิดเหมือนกัน คือคนไข้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด อะไรดีกับคนไข้เราพยายามนำมาให้ได้ แล้วเรามีแล็บของเราเอง อันนี้สำคัญสุด งานวิจัยต้องใช้เงินมาก แล้วเงินที่เข้ามาสู่มูลนิธิฯ เราก็จะมีแพทย์และคณะกรรมการ ร่วมพิจารณาว่าควรเอาเงินมาใช้อะไรบ้าง เวลานี้เรามีโครงการบ้านพิงพัก (Pink Park Village) เป็นศูนย์ดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะสุดท้าย เพราะคนไข้ส่วนมากมาหาเราช้า รักษาเต็มที่แล้วไม่หาย ฐานะยากจนไม่มีใครดูแล เราอยากให้เขารู้สึกว่ามีคนอื่นที่ยังเห็นความสำคัญ ตอนแรกเราจะเปิดตั้งแต่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว แต่พอดีโควิดมาเลยต้องช้าไปอีกหน่อย คิดว่าถ้าทุกอย่างพร้อม จะพยายามเปิดในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า”

“สิ่งที่เวลานี้เรามุ่งมั่นทำและเห็นความสำคัญมากที่สุด คือการรักษามะเร็งเต้านมด้วยภูมิคุ้มกัน ใช้ระบบภูมิคุ้มกัน เอาระบบที่ธรรมชาติมาใช้ให้เป็นประโยชน์ และเราภูมิใจมากกับคนไข้คนแรกในโลกของเรา ที่รักษาโดยใช้ระบบนี้สำเร็จ ผมคาดว่าระบบนี้อนาคตจะเป็นการรักษามะเร็งที่ดีที่สุด วิธีนี้จะไม่ใช่ช่วยเฉพาะคนไข้ที่เป็นมะเร็งเต้านม แต่รวมถึงคนไข้มะเร็งโรคอื่นด้วย หน้าที่เราคือปรับให้มันใช้ได้ดีมากกว่านี้ ถ้าเปรียบก็คล้ายกับเราจะตัดถนนผ่านป่าดงดิบเข้าไปอีกเมืองหนึ่ง เราโชคดีที่ตัดถนนไปถูกทาง แต่ยังเป็นถนนลูกรังอยู่ ถ้าไปตอนนี้ปัญหาเยอะมาก ระหว่างทางมีเสือ สิงห์ กระทิง แรด หน้าที่เราคือทำให้เป็นถนนคอนกรีต ถนนลาดยาง มีตำรวจ ทหาร คอยดูแล ต้องทำให้ระบบมันพร้อมขึ้น ดีขึ้น แล้วสำคัญคือให้เซฟที่สุด”

“เวลานี้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการป้องกันโรคคือ Early detection เรารณรงค์มา 10 กว่าปีแล้ว โครงการนี้ภรรยาผม (คุณหญิงฟิโนล่า จาฏามระ) ทำขึ้น เพราะอยากให้ผู้หญิงไทยเข้าใจเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมมากขึ้น ถ้ารู้สึกว่ามีปัญหามาปรึกษาเรา ถ้ามาเร็ว โอกาสรักษาให้หายมันสูง อย่าไปฟังคนอื่นพูดว่ามะเร็งเต้านมเป็นแล้วรักษาไม่หาย เมื่อก่อนอาจจะจริง สมัยนี้ไม่จริงแล้ว แต่ถ้ามาช้าโอกาสหายจะยิ่งน้อยลง เพราะฉะนั้น Early detection safe life อันนี้สำคัญที่สุดครับ”

ติดตามอ่านได้ในนิตยสาร HOWE ฉบับ 128


สามารถสั่งซื้อ E-Book ผ่านทาง Meb : https://www.mebmarket.com/ebook-346523-


Facebook Comments

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.