หลังจากที่คุณหน่อง-วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ดำรงตำแหน่งมากว่า 3 ปี ทำให้เราเห็นผลงาน และความมุ่งมั่นที่ทำให้ กนอ. เข้มแข็ง พัฒนา รวมทั้งยังได้มีความพยายามที่จะยกระดับให้นิคมอุตสาหกรรมของไทย มุ่งสู่ความยั่งยืน เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนอีกด้วย ซึ่งท่านบอกกับเราว่า การหานักลงทุนต่างชาติหน้าใหม่เข้ามาลงทุนนิคมอุตสาหกรรม ถือเป็นภารกิจหลักที่มีความสำคัญ แต่นั่นต้องทำควบคู่กับการดูแลใส่ใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและชุมชน รวมทั้งพัฒนาองค์กรให้มีความทันสมัย ด้วยการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้บริหารจัดการองค์กร ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กัน
“ผมดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กนอ. มากว่า 3 ปีแล้วครับ งานที่ทำถือว่ามีความท้าทายพอสมควร แม้ผมจะข้ามสายงานจากการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาการจัดการเทคโนโลยี ที่สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่เคยผ่านงานทั้งเป็นที่ปรึกษาคณะทำงานรัฐมนตรีในหลายกระทรวง ทำให้เข้าใจงานที่รับผิดชอบได้เป็นอย่างดี ซึ่งหลักการทำงานของผมจะยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง การทำงานทุกอย่างต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ ไม่ใช้โอกาสฟุ่มเฟือย พยายามพัฒนาสิ่งที่เรามีอยู่ให้ดีขึ้น สร้างโอกาสให้บุคลากร องค์กร และประเทศชาติ เพื่อสุดท้ายแล้วประเทศชาติเรา จะต้องได้ประโยชน์สูงสุดจากสิ่งที่เราทำ”
“ผมมุ่งเน้นให้บุคลากรในองค์กรมีความรัก ความสามัคคี ช่วยเหลือกัน ทุกคนต้องมุ่งประโยชน์ของประเทศ รองลงมาคือองค์กร ถ้าเราคิดแบบนี้ประเทศก็จะเดินไปได้ ในฐานะผู้บริหารผมทำงานจริงจัง มีเหตุมีผล และไม่หยุดพัฒนาตัวเอง ผมอยากให้ทุกคนไม่หยุดพัฒนาตัวเอง ซึ่งก็พยายามส่งต่อแนวคิดนี้ไปยังลูกน้องทุกๆ คน ถ้าทุกคนไม่หยุดพัฒนาตัวเอง เราก็จะก้าวไปข้างหน้าด้วยกันได้อย่างดีและมั่นคง”
“ปัจจุบัน กนอ. มีบทบาทสำคัญในการดูแลภาคการลงทุนของประเทศ และทำผลงานได้ดีมาโดยตลอด ซึ่งในภูมิภาคอาเซียน ไทยเองก็มีคู่แข่งอยู่หลายประเทศ แต่ กนอ. ก็เดินหน้าพัฒนาความพร้อม และหากลุ่มนักลงทุนใหม่ๆ ทั้งในประเทศ และจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนอยู่เสมอ ซึ่งผมมีความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยมีศักยภาพ วันนี้เราเน้นการขายเช่าพื้นที่มากขึ้น ที่ผ่านมาเราตั้งเป้าเช่าพื้นที่ที่ 2,500 ไร่ แต่ขายได้ 6,090 ไร่ ซึ่งโตเกิน 3 เท่า ซึ่งปีนี้ท่านประธานบอร์ด (คุณยุทธศักดิ์ สุภสร) อยากให้ตั้งเป้าไว้ที่ 6,000 ไร่ ซึ่งในช่วง ต.ค. 2566 – มี.ค. 2567 ขายพื้นที่ไปแล้ว 3,946 ไร่ แบ่งเป็นในพื้นที่ EEC 3,472 ไร่ และพื้นที่อื่นๆ อีก 474 ไร่ ซึ่งกลุ่มลูกค้าหลักยังเป็นญี่ปุ่น จีน และไต้หวัน ซึ่งจีนมีอัตราการเติบโตที่ดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เช่น แบตเตอรี่รถยนต์ ซึ่งเป็นความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทย ในการสนับสนุนให้ไทยเป็นฮับยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค และดึงนักลงทุนรายใหม่ให้เข้ามาตั้งฐานผลิตในประเทศ รวมถึงกระตุ้นให้ผู้ประกอบการรายเดิม เปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นการสร้างความยั่งยืน ให้กับฐานการผลิตยานยนต์ของประเทศไทย”
“กนอ. ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม จึงมีนโยบายมุ่งพัฒนาและยกระดับนิคมอุตสาหกรรม สู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้กรอบ 5 มิติ 22 ด้าน ได้แก่ มิติกายภาพ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และการบริหารจัดการ ส่งเสริมให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ในการยกระดับนิคมอุตสาหกรรม ตามวิสัยทัศน์ ‘นำนิคมอุตสาหกรรมสู่มาตรฐานสากล ด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน’ ปีที่ผ่านมา กนอ. สามารถพัฒนาและยกระดับนิคมอุตสาหกรรม เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจากระดับ Eco-Champion 39 แห่ง ยกระดับขึ้นเป็น Eco-Excellence 22 แห่ง และระดับ Eco-World Class 7 แห่ง ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และจะยกระดับนิคมอุตสาหกรรมอีกหลายแห่งในปีหน้าอีกด้วย”
“เรื่องความยั่งยืนเป็นสิ่งหนึ่งที่ กนอ. ให้ความสำคัญมาตลอด เรามีการทำโครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งเป็นโครงการที่ทำให้เราได้รับรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ด้านการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2566 จุดเด่นของโครงการนี้ คือการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ และกำกับดูแลการประกอบกิจการ และการบริหารจัดการโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม บนพื้นฐานของความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ผ่านการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจประเมินโรงงานฯ ซึ่งมีชุมชนโดยรอบนิคมฯ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการดังกล่าวด้วย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ชุมชนที่อยู่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรม และท่าเรืออุตสาหกรรม นอกจากนี้ กนอ. ยังมุ่งมั่นสนับสนุนให้มีการใช้พลังงานสะอาด และพลังงานทางเลือกต่างๆ ในนิคมอุตสาหกรรม เช่น โซลาร์เซลล์มาใช้ ซึ่ง กนอ. และเรายังทำ MOU กับธนาคาร 5 แห่ง เพื่อให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ Green Loan สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการนำเงินไปลงทุนติดตั้งระบบพลังงานสะอาด”
“และทั้งนี้ คณะกรรมการชุดใหม่ของ กนอ.ได้ออกนโยบาย ‘WISH’ ซึ่งผมมองว่าสอดคล้องกับแนวคิด ‘INSPIRE’ ของเรา ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการลงทุน การยกระดับการให้บริการองค์กรด้วยนวัตกรรม และดิจิทัล รวมทั้งเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียการดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่ง กนอ. จะใช้ INSPIRE เป็นแรงบันดาลใจ นำพาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยมุ่งสู่สากล เพื่อดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ เข้ามาสร้างงาน สร้างรายได้ ผมมองว่าไทยมีความพร้อม และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้ และเพื่อให้ไทยเราเป็น ‘Land of Infinite Prosperity and Opportunities: ดินแดนแห่งความรุ่งเรือง ความมั่งคั่ง และโอกาสที่ไร้ขีดจำกัด’ ที่ทำให้แบรนด์ กนอ. เป็นที่ยอมรับ และสามารถรองรับการลงทุนในรูปแบบใหม่ๆ ได้ทุกรูปแบบ”
“นอกจากนี้ กนอ. ยังให้ความสำคัญกับเรื่อง Digital Transformation เพราะถือเป็นสิ่งที่จำเป็นในการช่วยลดขั้นตอนการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และการเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็วมากขึ้น เราสร้าง Platform ‘Digital Twin’ ซึ่งเป็นการจำลองนิคมอุตสาหกรรมเข้าไปอยู่ในโลกดิจิตอลเสมือน Virtual Reality ซึ่งมีข้อมูลทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นจำนวนโรงงาน จำนวนลูกจ้างในแต่ละโรงงาน ระบบบำบัดน้ำ สารเคมีอันตราย วัตถุไวไฟ ซึ่งจะระบุปริมาณ ตำแหน่ง เพื่อให้ความสะดวก และช่วยให้พนักงานดับเพลิงเลือกใช้สารเคมีดับไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งยังดีต่อการบริหารทรัพย์สิน รวมทั้งจะนำมาใช้ควบคู่กับระบบจราจรอัจฉริยะ คล้ายๆ กับ Smart City บางส่วน เพื่อเสริมประสิทธิภาพ และความทันสมัยให้กับนิคมฯ และหน่วยงานของเรามากยิ่งขึ้น”