หากพูดถึงผู้บริหารหญิง และเจ้าของโรงพยาบาลที่ประสบความสำเร็จของเมืองไทย ชื่อของ พญ.เจรียง จันทรกมล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารโรงพยาบาลในเครือบางปะกอก – ปิยะเวท และโรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล จะเป็นชื่ออันดับต้นๆ ที่ใครหลายคนนึกถึง ด้วยประสบการณ์ในการทำงานมากว่า 40 ปี ทำให้โรงพยาบาลเติบโตขึ้นจนมี 8 สาขา และกำลังขยายสาขาเพิ่มขึ้นในอนาคต ด้วยความเชื่อมั่นใน Teamwork และความพร้อมที่ไม่เคยหยุดยั้งที่จะพัฒนา และนำ Innovation ใหม่ๆ มาให้บริการ ซึ่งเธอบอกกับเราว่า สิ่งที่ภาคภูมิใจมากกว่าการทำธุรกิจประสบความสำเร็จก็คือ การได้เห็นคนไข้หายป่วย และมีชีวิตที่ดีมากยิ่งขึ้น
“ทุกวันนี้ดิฉันทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับโรงพยาบาลบางปะกอก และโรงพยาบาลปิยะเวททั้ง 8 สาขา รวมทั้งดูแลโครงการขยายสาขาโรงพยาบาลที่กำลังก่อสร้างอยู่ ซึ่งโรงพยาบาลบางปะกอกถือเป็นโรงพยาบาลระดับกลางจนถึง Super Tertiary Care ได้แก่ โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล และโรงพยาบาลปิยะเวท ที่เราได้ Take Over กิจการมา ซึ่งมีบริการครอบคลุมทุกสาขา โดยนอกเหนือจากการรักษาพยาบาลทั้งโรคทั่วไปและโรคเฉพาะทางแล้ว โรงพยาบาลบางปะกอกบางสาขาจะมีแผนกผิวหนัง Anti Aging และศัลยกรรมตกแต่ง ส่วนโรงพยาบาลปิยะเวทจะมี Medical Wellness Center ที่มีชื่อว่า ‘สถาบันสุขภาพและความงามตรัยญา’ ซึ่งมีทั้งแผนกผิวหนัง Anti Aging ศัลยกรรมพลาสติก มีแพทย์ทางเลือกทั้งแพทย์แผนไทย แพทย์แผนจีน ที่รักษาด้วยสมุนไพรสูตรปรุงเอง ซึ่งผ่านการรับรองจากหน่วยงานรัฐ สำหรับคนไข้ที่ไม่นิยมทานยาฝรั่ง หลังจากที่ดิฉันเข้ามาบริหารงานก็ได้ Renovate ศูนย์บริการใหม่ทั้งหมดเพื่อให้ดูหรูหราและทันสมัยมากยิ่งขึ้น และมองว่าในอนาคตจะมีการขยายสาขา ‘สถาบันสุขภาพและความงามตรัยญา’ เพื่อเป็นการส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคในอนาคต”
“การที่โรงพยาบาลให้ความสำคัญกับเรื่องการมีแผนก Medical Wellness Center ก็เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้คนสนใจดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ และป้องกันก่อนป่วย เพราะปัจจุบันนี้คนเริ่มหันมาใส่ใจและ Check-Up สุขภาพกันมากขึ้น ซึ่งนี่ก็สอดคล้องกับแนวทางในการบริหารงานของโรงพยาบาลเราที่ว่า ‘จะต้องดูแลคนไข้ให้เหมือนกับดูแลตัวเอง’ คือดูแลรักษาให้หาย รวมถึงต้องป้องกันการเกิดโรค เราอยากให้คนไข้ตระหนักถึงการดูแลสุขภาพตัวเอง ถ้าเจ็บป่วยให้รีบรักษา โอกาสที่จะรักษาหายก็มีมากขึ้น ถ้าผู้คนใส่ใจสุขภาพ ก็จะส่งผลให้คนไทยมีสุขภาพที่ดี และมีชีวิตที่ยืนยาวยิ่งขึ้น”
“ธุรกิจโรงพยาบาลของไทยถือว่ามีการเติบโตที่ดี แพทย์ของเราได้ไปศึกษาในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และมีฝีมือดีจนต่างชาติให้การยอมรับ และด้วยค่าบริการที่ไม่แพง ทำให้ผู้ป่วยไม่ว่าจะกลุ่มตะวันออกกลาง ยุโรป และอาเซียนต่างเดินทางเข้ามารักษาในประเทศไทย ดิฉันเชื่อว่าเราจะเป็น Top 3 ของโลกที่มีคนเดินทางมารักษา และกลายเป็น Hub ด้านการแพทย์ของโลกในอนาคต”
“นอกจากนี้ในส่วนของแผนการขยายสาขาโรงพยาบาลนั้น เราจะมุ่งขยายโรงพยาบาลเพื่อรองรับลูกค้าต่างชาติ ซึ่งจะอยู่ใกล้ๆ กับโรงพยาบาลศิริราช อย่างโรงพยาบาลปิยะเวท 2 ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง จะแล้วเสร็จภายในอีก 3 ปีข้างหน้า และโรงพยาบาลปิยะเวท 3 จะอยู่ติดกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง และในอนาคตเราเองก็มองหาทำเลตั้งสาขาเพิ่มเติม ซึ่งจะมีทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และอาจจะมีสาขาในต่างจังหวัดด้วย”
“ในฐานะที่เป็นผู้บริหารโรงพยาบาล ทุกวันนี้ก็สนุกกับงาน ไม่คิดว่าจะเกษียณเมื่อไร ได้มาดูน้องๆ ดูลูกหลานทำงาน เข้ามาบริหารงานก็มีความสุข ดิฉันมีทีมแพทย์มืออาชีพเข้ามาช่วย งานที่ทำก็หายไปครึ่งหนึ่งแล้ว ดิฉันมองว่า Teamwork ถือเป็นหัวใจสำคัญในการทำงาน ถ้าทุกคนเข้าใจงาน มีความรับผิดชอบ ใส่ใจ รักความก้าวหน้า ทุกคนก็จะมีไอเดียใหม่ๆ และทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยทางโรงพยาบาลก็ให้การสนับสนุนด้านการศึกษา เพื่อให้เจ้าหน้าที่และทีมแพทย์ของเราได้ศึกษาสิ่งใหม่ๆ ทำให้ทุกคนมีความสุขที่ได้ทำงานที่นี่ ผลงานก็ออกมาดี ดิฉันจะสอนน้องๆ ทุกคนว่า การทำงานตรงนี้ นอกจากเราจะได้เงิน เรายังได้บุญ เพราะเราช่วยเหลือคนไข้ให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ ถ้าถามว่าเป็นหมอเหนื่อยไหม ทุกอาชีพมันก็เหนื่อยเหมือนกัน แต่สำหรับหมอถ้าได้เห็นคนไข้หายป่วยกลับบ้านได้ เราก็ดีใจ และหายเหนื่อย”
“ธุรกิจโรงพยาบาลเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและสุขภาพของผู้คน ซึ่งที่ผ่านมาทางโรงพยาบาลให้ความสำคัญกับการสนับสนุนโครงการที่ช่วยเหลือผู้คน ไม่ว่าจะเป็นการรับเป็นครัวกลางทำข้าวกล่องแจกชาวบ้านช่วงน้ำท่วมปี 2554 การตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับคนไข้ช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และรับฉีดวัคซีนด้วย รวมทั้งเรายังได้ถวายงานรับเคสคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มารักษา ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อโรงพยาบาลอย่างยิ่ง”
“การที่เราทำธุรกิจจะหวังแต่ผลกำไรอย่างเดียวไม่ได้ ถ้าเรามีก็ควรตอบแทนคืนต่อสังคมบ้าง ซึ่งตลอดเวลาที่ทำงานดิฉันให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้มาโดยตลอด จนได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติมากมาย แต่รางวัลที่ประทับใจที่สุดก็คือ การได้เข้าร่วมรับรางวัลในงานเชิดชูเกียรติต้นแบบวงการแพทย์ MDCU เนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยที่ดิฉันได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติแพทย์จุฬาฯ ต้นแบบเกียรติยศ ขณะที่สามี รองศาสตราจารย์ นายแพทย์พิทยา จันทรกมล ก็ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติแพทย์จุฬาฯ ต้นแบบแห่งความสำเร็จ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ยืนยันความสำเร็จ และเป็นรางวัลชีวิตอย่างแท้จริง”