“สุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย” กำหนดทิศทาง สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการ

0
530

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ เชื่อมั่นประเทศไทยในความเป็นศูนย์กลาง และผู้นำธุรกิจเครื่องประดับและอัญมณีในภูมิภาคนี้ ขณะเดียวกันก็พร้อมสนับสนุนสร้างผู้ประกอบการหน้าใหม่ ส่งเสริม และผลักดันเรื่องการสร้างมาตรฐาน การออกแบบ และการสร้างแบรนด์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเพื่อก้าวสู่ระดับสากลที่เติบโตอย่างยั่งยืน

“ปัจจุบันอุตสาหกรรมอัญมณีไทยมีมูลค่าตลาดรวมมากกว่า 6 แสนล้านบาท อย่างพวกพลอยสีประเทศเราเป็นที่รู้จักในฐานะที่เป็นตลาดค้าพลอยสีที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ซึ่ง 2 อันดับแรกเป็นประเทศผู้ค้า Trading ที่ไม่ใช่ฐานการผลิตเหมือนกับไทยเรา การซื้อขายที่จันทบุรีมีมูลค่าสูงมาก โดยเฉพาะทับทิม ซึ่งประเทศเราถือเป็น Hub ด้านอุตสาหกรรมอัญมณีในภูมิภาคนี้ ทับทิมก้อนกว่า 80% จากแหล่งผลิตต่างๆ จะถูกส่งเข้ามาผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าในประเทศไทย ทั้งการเผาหรือการหุงพลอย รวมถึงการเจียระไน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของเราที่ถือว่าเป็นกระบวนการการปรับปรุงคุณภาพที่เป็นจุดแข็งของอุตสาหกรรมพลอยไทย ทำให้เรามีคนในอุตสาหกรรมนี้มากกว่า 7 แสนคน โดยเป็นส่วนต้นน้ำที่เป็นผู้ผลิตราวๆ แสนคน ส่วนปลายน้ำก็มีงานกว่า 5 แสนคน ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องของฝีมือในการเพิ่มคุณภาพพลอยสีและการเจียระไนที่เรามีช่างมีฝีมือแล้ว เราเองยังมีฝีมือในเรื่องของการออกแบบและผลิตเครื่องประดับ ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับโลก ทำให้แบรนด์จิวเวลรีชื่อดังต่างเข้ามาจ้างเราผลิตชิ้นงานแบบ DEM (Original Equipment Manufacturer) อยู่หลายแบรนด์”

“ในส่วนของ GIT เอง ได้ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสร้างความต่าง โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาฝีมือ ไปจนถึงการสร้างแบรนด์และการตลาดออนไลน์โดยเฉพาะผู้ประกอบการหน้าใหม่ ส่วนงานช่างฝีมือทั้งช่างเจียระไน ช่างขึ้นตัวเรือน เด็กรุ่นใหม่อาจจะไม่ค่อยสนใจงานฝีมือเหล่านี้ มีคนสนใจแค่เฉพาะกลุ่ม ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่รักงานออกแบบและงานช่างฝีมือ ซึ่งงานแฮนด์เมดจะสร้างมูลค่าให้กับสินค้าได้สูง ตัวอย่างผู้ประกอบการรายหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการ ก็ได้ผลิตชิ้นงานสไตล์ โมกุเมะ ซึ่งเริ่มต้นจากการทำกรอบพระ แหวน กำไลจากนั้นก็พัฒนาโดยการฝังประดับพลอย แล้วก็ขายได้ราคาสูงขึ้น นี่คือสิ่งที่ GIT ได้เป็นแรงสนับสนุน ซึ่งในทุกปีเราจะจัดงาน GIT’s World Jewely Design Awards ชิงถ้วยรางวัลพระราชทาน โดยเชิญชวนนักออกแบบทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ส่งผลงานเข้าประกวด แบบวาดที่ได้รับการคัดเลือก ก็จะนำไปผลิตเป็นชิ้นงานจริง ซึ่งในปีนี้จัดงานเป็นครั้งที่ 16 โดยผู้ร่วมส่งผลงานเข้าประกวด มีทั้งบริษัทและนักออกแบบอิสระ จนปีที่ผ่านมามีงานออกแบบส่งเข้าประกวด มากกว่า 500 แบบ จาก 26 ประเทศ”

“อีกหนึ่งโครงการของ GIT ก็คือ การผลักดันในเรื่องของการสร้างมาตรฐานห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับ หรือ GIT Standard เพราะการที่เราเป็นฐานของตลาดอัญมณี ทำให้แล็บในประเทศเราเยอะมาก ใครเข้ามาก็เปิดแล็บได้เพราะประเทศเราเป็นตลาดการค้าเสรี แต่ก็ต้องยอมรับว่าแล็บแต่ละที่ก็มีคุณภาพไม่เท่ากัน ปัญหาก็คือเมื่อลูกค้าซื้อกลับไป คุณภาพไม่ใช่ สีไม่ใช่ ทำให้มาตรฐานต่างกัน ฉะนั้นเราจะต้องกำหนดมาตรฐานการตรวจอัญมณีให้ชัดเจน”

“ที่ผ่านมา GIT จัดฝึกอบรมให้กับผู้ประกอบการในระดับภูมิภาค ไม่ว่าช่วง หรือบุคคลทั่วไปที่สนใจก็สามารถเข้าฝึกอบรมเกี่ยวกับอัญมณีและเครื่องประดับได้ ซึ่งเราจะพิจารณาดูศักยภาพว่าผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการรายใด ที่จะร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ในระดับท้องถิ่นนั้น มีแนวโน้มที่สามารถจะผลักดันให้เกิดการต่อยอดหรือได้ไปต่อที่จะอบรมในเชิงลึก โดยจะพิจารณาจากสินค้าที่ทำอยู่ในส่วนของรูปแบบและคุณภาพของสินค้า และเราจะช่วยเติมในเรื่องการออกแบบ โดยการคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์และเรื่องราวของท้องถิ่นนั้น รวมถึง Character ที่เป็นของตัวเอง ซึ่งของใครที่ผ่านมาตรฐานและมีความน่าสนใจ เราก็จะอบรมและมีการพัฒนาแบบ ก่อนที่เราจะให้ทุนขึ้นแบบและมีการติดตามการทำตัวอย่างชิ้นงาน การปรับรูปแบบตลอดระยะเวลาของโครงการ และมีการผลิตจริงเพื่อนำไปจัดแสดงในงานแสดงสินค้าด้านอัญมณีและเครื่องประดับต่างๆ อาทิ งาน Bangkok Gems พร้อมเรื่องราว Story Telling ซึ่งผู้ประกอบการหลายรายที่เข้าร่วมโครงการนี้นั้นประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง ได้ลูกค้า ได้รางวัล อย่างมีผู้ประกอบการคนหนึ่งที่เชียงใหม่เข้าอบรมกับเราปีแรก และได้เอาชิ้นงานไปประกวดที่ Vouge ก็ได้รางวัล ทุกวันนี้ได้เป็นดีไซเนอร์ของ Vouge ไปแล้ว หรือล่าสุดมีนักออกแบบที่จังหวัดศรีสะเกษได้นำเศษไหมที่ขายเป็นกิโลมาเข้าร่วมโครงการ จนได้รับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาเป็นที่ต้องตาต้องใจ โดยถักเป็นสร้อย เป็นกำไลข้อมือ แล้วได้ผลตอบรับดีมาก และสถาบันได้นำผลงานไปจัดแสดงที่แกลเลอรีที่เชียงใหม่ ปรากฎว่ามีนักธุรกิจจากญี่ปุ่นสนใจสั่งซื้อจนตอนนี้เจ้าของผลิตผลงานส่งออกไปแล้ว”

“นอกจากนี้ GIT พยายามผลักดัน และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าใจในเทรนด์ตลาดโลก อย่างเทรนด์รักษ์โลก เทรนด์ Human Life ซึ่งเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรง รวมทั้งยังได้ไปร่วมกับเครือข่ายหรือองค์กรธุรกิจต่างๆ ทั้งการเข้าไปเป็นหนึ่งในคณะทำงานกรรมการของ RJC (Responsible Jewellery Council) ซึ่งผู้ประกอบการแบรนด์ระดับโลกต่างก็เข้าไปเป็นสมาชิกของ RIC เช่นกัน โดยแนวคิดของการทำธุรกิจจะมุ่งเน้นความตระหนักถึงทิศทางความยั่งยืนและการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส และมีความรับผิดชอบต่อสังคม หน้าที่ของเราก็คือการทำให้ผู้ประกอบการเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงและทิศทางธุรกิจจิวเวลรีเครื่องประดับถือเป็นสินค้ากลุ่มแฟชั่นที่มีความเป็น Emotional litem สูงทุกอย่างมีคุณค่าในตัวมันเอง คนที่ออกแบบต้องสร้างบุคลิกของผลิตภัณฑ์ของตัวเอง การสร้างงานก็เหมือนการสร้างผลงานศิลปะ ถ้าออกแบบธรรมดาก็เป็นแค่ Daily Use ราคาก็ไม่แพง แต่ถ้าคุณพัฒนา และออกแบบให้มีสไตล์เป็นตัวของตัวเอง มีเรื่องราวประกอบ มันก็จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชิ้นงาน เป็นการทำ Value Creation ของผลิตภัณฑ์ อย่างแบรนด์ดังๆ จากต่างประเทศก็จะออกแบบผลงานให้เป็นที่ยอมรับ และมีความเป็นตัวของตัวเอง ดังนั้นการสร้างแบรนด์จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ประเทศไทยเรามีข้อได้เปรียบตรงที่มีช่างฝีมือเยอะ แต่การสร้าง Product Brand ยังมีน้อย ซึ่ง GIT ก็อยากจะผลักดันให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ ได้สร้างแบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า เพื่อเป็นการต่อยอดจากความชำนาญและความสามารถในการผลิตแบบ OEM สู่ความเป็น ODM หรือ OBM ต่อไป”

Facebook Comments

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.