THE 50 INFLUENTIAL PEOPLE 2022 “ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ” เส้นทางความสำเร็จ บนวิถีชีวิตเรียบง่าย

0
673

เมื่อพูดถึง ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG และอดีตประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เราจะนึกถึงผู้บริหารมากความสามารถที่ปรากฎกายในชุดผ้าไทยทอมือสวยๆ ทุกครั้ง วันนี้ ในฐานะนักธุรกิจผู้นำพลังงานสะอาด อย่างพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ปัจจุบันมีโซลาร์ฟาร์มถึง 36 โครงการ แม้เธอจะประสบความสำเร็จ แต่ก็ชอบใช้ชีวิตเรียบง่าย และชอบแบ่งปันให้กับผู้คน ดังนั้นเมื่อว่างเว้นจากงานธุรกิจ เธอยังมีส่วนสนับสนุนงานด้านสังคม รวมทั้งสานต่อพระราชกรณียกิจในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการส่งเสริมและอนุรักษ์การผลิตผ้าไทย

“หลังจากที่พันวาระประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ ปัจจุบันดิฉันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG ซึ่งเป็นเครือข่ายธุรกิจด้านพลังงาน ถือหุ้นทั้งในโซลาร์ฟาร์ม บริษัท เซท เอนเนอร์ยี จำกัด (SET Energy) และบริษัท Solar Power Roof ซึ่งเป็นบริษัทที่บุกเบิกโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกในประเทศไทยและอาเซียน ปัจจุบันมีโครงการโซลาร์ฟาร์มทั้งหมด 36 โครงการ ซึ่งมีกำลังการผลิตมากกว่า 260 เมกะวัตต์ ถือเป็นความสำเร็จแรกด้านพลังงานแสงอาทิตย์ของประเทศไทย”

“เมื่อพูดถึงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เมื่อสิบกว่าปีก่อน ผู้คนส่วนใหญ่อาจจะไม่คุ้นชิน และไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้เหมือนสมัยนี้ ตอนที่ดิฉันลงทุนธุรกิจนี้ ดิฉันเชื่อมั่นว่าจะต้องประสบความสำเร็จ ก็ทุ่มทุนทุกอย่างด้วยความมั่นใจ ซึ่งธุรกิจของเราถือเป็นธุรกิจเปิดหน้าใหม่ของพลังงานให้กับประเทศ ถ้าเราล้มเหลว อย่างมากเราก็หาเงินมาใช้หนี้ธนาคาร และโชคดีที่เราประสบความสำเร็จ ตอนนี้ยอมรับว่าชีวิตได้ผ่านจุดที่ยากมาได้แล้ว ในอนาคตไม่ว่าจะเป็นอะไร ก็ไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้”

“สำหรับแนวคิดและหลักบริหารงานที่ดิฉันใช้ในการทำงานและธุรกิจมาโดยตลอด จะประกอบด้วย Think-คิด, Believe ความเชื่อมัน, Faith-ศรัทธา และ Active-ลงมือทำเพราะเวลาเราจะทำอะไร เราก็ต้องคิดแล้วกลั่นกรองออกมา เมื่อคิดได้แล้วก็ต้องเชื่อด้วยว่าเราทำได้ ต้องมีแผน และเราต้องมีศรัทธาต้องเชื่อในสิ่งที่ทำ และสิ่งที่สำคัญสุดก็คือ ต้องลงมือทำทันที”

ดิฉันชอบใช้ชีวิตเรียบง่าย ไม่ชอบความหรูหรา ชอบแบ่งปันให้คนที่ด้อยโอกาส นั่นคือความสุขของดิฉัน แต่ถ้าได้รับมอบหมายงานหน้าที่โดยตำแหน่งทางสังคม ก็จะทำหน้าที่อย่างเต็มที่

“นอกเหนือจากการเป็นนักธุรกิจ ดิฉันในบทบาทนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ในฐานะภริยาของคุณสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย จริง ๆ ต้องยอมรับว่าส่วนตัวไม่ค่อยถนัดการเข้าสังคม เพราะดิฉันชอบใช้ชีวิตเรียบง่าย ไม่ชอบความหรูหรา ชอบแบ่งปันให้คนที่ด้อยโอกาส นั่นคือความสุขของดิฉัน แต่ถ้าได้รับมอบหมายงานหน้าที่โดยตำแหน่งทางสังคม ก็จะทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ หรือเป็นนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ก็จะทำหน้าที่อย่างเต็มที่”

“นอกจากนี้ในช่วงที่ดิฉันดำรงตำแหน่งประธานสภาสตรีฯ ก็สนับสนุนงานหัตถศิลป์แขนงต่างๆ ตามรอยพระบาทพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพราะพระองค์ทรงเป็นหนึ่งบุคคลที่มีส่วนในการสนับสนุน และสืบสานการอนุรักษ์ผ้าไทย กว่า 70 ปีที่ พระองค์ท่านทรงริเริ่มสนับสนุนให้สตรีไทยได้รื้อฟื้นการทอผ้าตามภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมา เพื่อเป็นการสร้างอาชีพเสริมหลังจากที่ว่างเว้นจากการทำอาชีพหลัก และการทอผ้าไทยเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญอันบอกถึงความมีอารยะ และยังสามารถสร้างเป็นอาชีพเพื่อเสริมรายได้ พระองค์ทรงผลักดันให้ผ้าไทยมีชื่อเสียง สร้างเอกลักษณ์ หยิบผ้าไทยจากทุกภาคมานำเสนอ จนผ้าไทยเป็นที่รู้จักทั่วโลก สมาชิกมากมายสามารถสร้างรายได้อย่างงามจากการทอผ้า”

“ดิฉันเองมีความรักในผ้าไทยเป็นอย่างมาก เพราะตั้งแต่ครั้งที่เคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ ก็จะต้องใส่ผ้าไทยทุกวัน ทำให้ผ้าไทยได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ที่ผ่านมาดิฉันได้สะสมผ้าทอมือจากภาคต่างๆ ทั่วประเทศมากกว่า 1,000 ผืน มีทั้งผ้าเก่าและผ้าใหม่ มูลค่าหลักพันจนถึงหลักแสน ซึ่งดิฉันมองว่าผ้าทอมือเหล่านี้คือการแสดงถึงภูมิปัญญา และเป็นงานหัตถศิลป์ที่ทรงคุณค่า ทุกวันนี้การจะหาช่างทอที่มีฝีมือชั้นครูนับวันก็หายากไปทุกวัน เราก็พยายามสนับสนุนช่างฝีมือทั่วประเทศให้ถ่ายทอดความรู้ และพัฒนาผลงานเพื่อให้เกิดช่างฝีมือชั้นครูเพิ่มมากขึ้น”

“สิ่งหนึ่งที่ดิฉันอยากเห็น คืออยากให้ทุกคนมองผ้าไทยในมุมมองใหม่ เพราะผ้าไทย ผ้าทอมือท้องถิ่นไม่ใช่ของเชยของล้าสมัย เดี๋ยวนี้ดีไซเนอร์ที่หยิบผ้าไทยมาออกแบบตัดเย็บชุดสวยๆ เหมาะกับวัยรุ่น เหมาะกับการออกงานสังคมก็มีเยอะขึ้น ลวดลายและสีสันของผ้าไทยก็พัฒนามากขึ้น ซึ่งดิฉันว่ารูปแบบการตัดเย็บขึ้นอยู่กับผู้สวมใส่มากกว่า หากเราสนับสนุนใช้ผ้าไทยที่ผลิตโดยช่างชาวบ้าน นอกจากที่เราจะได้อนุรักษ์ความเป็นไทยแล้ว เรายังเป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง และกระจายรายได้ไปสู่สังคมอีกทางหนึ่ง”

Facebook Comments

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.