เมื่อเวลา 16.00 น.วันที่ 29 เมษายน 2564 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ครั้งที่ 6/2564 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน โดยที่ประชุมมีมติยกระดับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยปรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดจาก 0 เป็น 6 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุดจาก 18 เป็น 45 จังหวัดและพื้นที่ควบคุมจาก 59 เป็น 26 จังหวัด (สีส้ม) รวมทั้งให้ขยายระยะเวลากักตัวเป็น 14 วันทุกประเภท ให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ เจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบการภาคเอกชน พิจารณาการ Work from Home มาตรการขั้นสูงสุด อย่างน้อย 14 วัน
สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 6 จังหวัด (สีแดงเข้ม) ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี เชียงใหม่ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ให้สวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า เมื่อออกนอกเคหะสถานหรืออยู่ในที่สาธารณะ งดการบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม สุราและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน โดยให้ซื้อกลับบ้านได้ไม่เกิน 21.00 น.
ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันมากกว่า 20 คน ปิดสนามกีฬา สถานที่เพื่อการออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส ส่วนสนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกายประเภทกลางแจ้งหรือที่ตั้งอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้ง ยังเปิดให้บริการได้แต่ไม่เกินเวลา 21.00 น. และต้องแข่งขันโดยไม่มีผู้ชม ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดบริการได้ถึง 21.00 น. ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เกต ตลาดนัดกลางคืน ตลาดโต้รุ่ง ถนนคนเดิน เปิดบริการได้ไม่เกินเวลา 23.00 น. รวมทั้งขอความร่วมมืองดการเดินทางออกนอกพื้นที่โดยไม่มีเหตุจำเป็น
สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) จากเดิม 18 จังหวัด เป็น 45 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชัยภูมิ เชียงราย ตาก ตรัง นครปฐม นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ นราธิวาส น่าน ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ภูเก็ต มหาสารคาม ยะลา ร้อยเอ็ด ระนอง ระยอง ราชบุรี ลพบุรี ลำปาง ลำพูน ศรีสะเกษ สระแก้ว สงขลา สมุทรสาคร สระบุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี อ่างทอง อุดรธานี อุบลราชธานี
และ จังหวัดและพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) จากเดิม 59 จังหวัด เป็น 26 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ กาฬสินธุ์ ชัยนาท ชุมพร ตราด นครนายก นครพนม หนองคาย บึงกาฬ บุรีรัมย์ พังงา พะเยา แพร่ มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร เลย สกลนคร สตูล สมุทรสงคราม สิงห์บุรี สุรินทร์ หนองบัวลำภู อุตรดิตถ์ อุทัยธานี อำนาจเจริญ
โดยสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) และ จังหวัดและพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) ยังสามารถจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มและบริโภคในร้านได้จนถึงเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ การสวมใส่หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า เมื่อออกนอกเคหะสถานหรืออยู่ในพื้นที่สาธารณะยังถือเป็นมาตรการขั้นสูงสุดเพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19
โฆษก ศบค. ยังรายงานถึงแผนการฉีดวัคซีนให้ครบทุกกลุ่มให้ได้ตามเป้าหมาย 100 ล้านโดส ครอบคลุมของวัคซีนร้อยละ 70 ภายในปี 2564 คิดเป็น 50 ล้านคน ซึ่งต้องใช้วัคซีนจำนวน 100 ล้านโดส ขณะนี้ประเทศไทยมีการจัดหาวัคซีนแล้ว 63 ล้านโดส ต้องจัดหาจัดซื้อวัคซีนเพิ่มเติมอีก 37 ล้านโดส โดยกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอหลักการจัดหาจัดซื้อวัคซีน โควิด-19 ให้วัคซีนที่มีความหลากหลายทางชนิดและราคา ได้แก่ วัคซีน Pfizer Binotech จำนวน 5-20 ล้านโดส sputnik V จำนวน 5-10 ล้านโดส Johnson & Johnson จำนวน 5-10 ล้านโดส และ Sinovac จำนวน 5-10 ล้านโดส หรือวัคซีนอื่น เช่น Moderna หรือ Sinopharm หรือ Bharat หรือวัคซีนอื่นที่จะมีการขึ้นทะเบียนในอนาคต
สำหรับการให้บริการวัคซีน โควิด-19 ทั่วประเทศนั้น จะมีจุดบริการทั้งในและนอกโรงพยาบาลจำนวน 1,000 แห่งแห่งละ 50 – 1,000 โดสต่อวัน จะฉีดครบ 100 ล้านโดส ภายในระยะเวลา 4-7 เดือน (กันยายน-ธันวาคม 2564) ในส่วนกรุงเทพมหานครได้เร่งรัดการฉีดวัคซีนโดยเพิ่มจุดให้บริการนอกโรงพยาบาล เช่น สนามกีฬา มหาวิทยาลัย ศูนย์การประชุม ฯลฯ จุดบริการทั้งในและนอกโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวน 100 แห่ง แห่งละ 1,000 โดสต่อวัน รวม 100,000 โดสต่อวัน เป็นระยะเวลา 30 วัน = 3 ล้านโดสต่อเดือน จะได้รับเข็มที่ 1 ครบภายในระยะเวลาสามเดือน คือ มิถุนายน-สิงหาคม นี้