รู้ทันภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
อาการติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นสิ่งที่เราได้ยินกันบ่อยขึ้นในปัจจุบัน ถือว่าเป็นอีกหนึ่งอาการที่สามารถคร่าชีวิตผู้ป่วยได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งแม้แต่การเป็นแผลเล็กๆ ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะหากบริเวณแผลเกิดการอักเสบขึ้นมา ก็ย่อมไม่ปลอดภัย ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เรามารู้จักอาการติดเชื้อในกระแสเลือด และวิธีการดูแลป้องกันตนเองกันค่ะ
การติดเชื้อในกระแสเลือด (Septicemia) คือ สภาวะการติดเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือดอย่างฉับพลัน โดยผู้ป่วยจะติดเชื้อแบคทีเรียที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายก่อน จากนั้นเชื้อแบคทีเรียจะซึมเข้าสู่กระแสเลือด หากไม่ได้รับการรักษาทันที อาจเกิดการอักเสบไปทั่วร่างกาย ส่งผลให้ลิ่มเลือดอุดตัน ขัดขวางการลำเลียงออกซิเจนไปยังอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย เมื่อร่างกายไม่ได้รับออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงอย่างเพียงพอ การทำงานของอวัยวะส่วนนั้นจึงล้มเหลว จนผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตได้
อาการ
- รู้สึกหนาว มือและเท้าเย็นมาก
- ไข้ขึ้นสูง
- ชีพจรเต้นเร็ว
- รู้สึกตัวน้อยลง
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ผิวหนังเป็นจุดหรือแดง หรือลุกลามจนเป็นเหมือนรอยช้ำที่ขยายใหญ่ขึ้น
- ปัสสาวะน้อยลง
- เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะไม่เพียงพอ นำไปสู่ภาวะช็อก
สาเหตุ
- ติดเชื้อจากการเจ็บป่วย
- ภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อในโรงพยาบาล
วิธีรักษา
- การรักษาด้วยยาหรือยาปฏิชีวนะ
- การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ
- การให้ยาเพิ่มความดันโลหิต
- การรักษาผู้ป่วยตามอาการ
- การผ่าตัด
การป้องกัน
ผู้ที่มีไข้หรือสงสัยว่าได้รับเชื้อแบคทีเรีย ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาทันที หากแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นการติดเชื้อจากแบคทีเรียจริง แพทย์จะจ่ายยาปฏิชีวนะให้แก่ผู้ป่วย เพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรียกระจายเข้าสู่กระแสเลือด
ข้อควรระวัง
ควรดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติด ออกกำลังกายเป็นประจำ ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร ระวังการเกิดบาดแผล หรือการสัมผัสสิ่งสกปรกต่างๆ เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย และหากต้องเข้ารับการรักษาหรือทำการผ่าตัด ควรเลือกสถานพยาบาลที่มีมาตรฐาน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
ข้อมูลบางส่วนจาก https://www.pobpad.com
ขอบคุณภาพจาก www.mixmaya.com , https://www.pobpad.com , สสส.