สร้างความโศกเศร้าให้กับคนในวงการบันเทิงและแฟนๆเป็นอย่างมาก สำหรับการจากไปของอดีตพระเอกและผู้กำกับคนดัง ตั้ว-ศรัณยู วงษ์กระจ่าง ที่เสียชีวิตด้วยอาการป่วยมะเร็งตับระยะสุดท้าย ในวัย 59 ปี สำหรับพีธีศพของ ตั้ว-ศรัณยูทางญาติและครอบครัวจะนำร่างไปบำเพ็ญกุศล ณ วัดนาคปรก ศาลาเศรษฐี ซอยเทอดไท 49 ภาษีเจริญโดยจะมีพิธีรดน้ำศพ วันที่ 11 มิถุนายน 2563 ซึ่งพิธีช่วงนี้ ทางครอบครัวขอจัดพิธีเป็นการภายในเฉพาะครอบครัว ญาติ และเพื่อนสนิท
สำหรับกำหนดการพิธีสวดพระอภิธรรมศพ
วันที่ 11 -17 มิถุนายน 2563 เวลา 18.30 น. สวดพระอภิธรรมศพ
วันที่ 18 มิถุนายน 2563 เวลา 17.00 น. ฌาปนกิจ
แหล่งข่าวคนใกล้ชิดเปิดเผยว่าเมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา ตั้ว ศรัณยู ล้มในกองถ่าย และมีอาการปวดหลัง เข้ารับการรักษาที่ รพ.จุฬาฯ พบว่ากระดูกหักและลักษณะของกระดูกหักเหมือนเกิดจากมะเร็ง แพทย์ได้เจาะกระดูกไปตรวจพบว่าเป็นมะเร็งจากตับและพบก้อนที่ตับ เริ่มให้การรักษาโดยวิธีเคมีบำบัด และพบว่าอาการปวดหลังและอาการโดยทั่วไปดีขึ้น
กระทั่ง 1 เดือนก่อนมีอาการเบื่ออาหาร ปวดหลังมากขึ้น และเมื่อวานนี้มีความดันโลหิตต่ำ วันนี้ความดันตกลงมาเรื่อยๆ ทีมแพทย์ได้ยากระตุ้นความดันโลหิต แต่ช่วยไม่ได้ และได้เสียชีวิตในที่สุด ซึ่งเป็นการเสียชีวิตที่เร็วกว่าที่คาดเอาไว้
สำหรับ ศรัณยู วงษ์กระจ่าง มีชื่อจริงว่า นรัณยู วงษ์กระจ่าง (เปลี่ยนมาจาก ศรัณยู วงษ์กระจ่าง) เกิดเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2503 ที่ตำบลกระดังงา อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม
ศรัณยู เป็นนักแสดง พิธีกร ผู้กำกับการแสดงละครและภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในวงการบันเทิงของไทย ก่อนจะเข้ามาในวงการบันเทิง ประกอบอาชีพเป็นสถาปนิกมาก่อน แต่เนื่องจากอาชีพสถาปนิกในเวลานั้น ยังไม่เป็นที่นิยมอย่างในปัจจุบัน ซึ่งศรัณยูได้ร่วมกิจการการแสดงโดยแสดงละครของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 เมื่อยังเป็นนักศึกษาอยู่แล้ว เมื่อจบออกมามีผลงานชิ้นแรกทางโทรทัศน์ โดยแสดงเป็นตัวประกอบในรายการเพชฌฆาตความเครียด ทางช่อง 9 ในปี พ.ศ. 2527 โดยแสดงร่วมกับนักแสดงรุ่นพี่ที่เป็นศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เช่นเดียวกัน เช่น ปัญญา นิรันดร์กุล, เกียรติ กิจเจริญ, วัชระ ปานเอี่ยม เป็นต้น
ศรัณยูรักอาชีพนักแสดงที่สุด เขามีผลงานทางด้านการแสดงมากกว่า 100 เรื่อง ทั้งละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และละครเวที เป็นพระเอกที่ครองความนิยมในประเทศไทยในช่วงยุค 80-90 มีผลงานละครโทรทัศน์โด่งดังมากมาย ได้แก่ เก้าอี้ขาวในห้องแดง (2527) ระนาดเอก (2528) มัสยา (2528) บ้านทรายทอง และ พจมาน สว่างวงศ์ (2530) เกมกามเทพ (2531) เจ้าสาวของอานนท์ (2531) ดอกฟ้าและโดมผู้จองหอง (2532) รัตติกาลยอดรัก (2532) วนาลี (2533) รอยมาร (2533) วนิดา (2534) ไฟโชนแสง (2535) น้ำเซาะทราย (2536) ทวิภพ (2537) มนต์รักลูกทุ่ง (2538) ด้วยแรงอธิษฐาน (2539) และ นายฮ้อยทมิฬ (2544) ซึ่งแทบทุกเรื่องถูกนำมาสร้างใหม่ในภายหลัง ส่วนผลงานละครเวทีที่เป็นที่จดจำมากที่สุด คือ สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ (2530)
นอกจากนั้นแล้ว ศรัณยูยังมีผลงานพิธีกร ผู้กำกับละครโทรทัศน์ และผู้กำกับภาพยนตร์ มากมายหลายเรื่อง อาทิเช่น เป็นผู้กำกับละครโทรทัศน์เรื่อง “เทพนิยายนายเสนาะ” (2541), ละครพีเรียดเรื่อง “น้ำพุ” (2545), ละครสั้นสองตอนจบเรื่อง “ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด” (2545), ละครเรื่อง “สุภาพบุรุษลูกผู้ชาย” (2546), ละครเรื่อง “หลังคาแดง” (2547), ละครเรื่อง “ตราบสิ้นดินฟ้า” (2551) ผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่อง “อำมหิตพิศวาส” (2550) และ “คนโขน” (2554) อีกทั้งศรัณยูยังได้นำบทประพันธ์เรื่อง “หลังคาแดง” มาดัดแปลงและนำเสนอในรูปแบบละครเวทีเรื่อง “หลังคาแดง เดอะมิวสิคัล” (2555) อีกด้วย
ปัจจุบัน ศรัณยูเป็นผู้จัดละครและผู้กำกับการแสดง ผลิตละครโทรทัศน์ ในนาม “สามัญการละคร” มีผลงานการกำกับละครเรื่อง “สุภาพบุรุษลูกผู้ชาย” (2556), หัวใจเถื่อน (2557), รอยรักแรงแค้น (2558) และล่าสุดเรื่อง บัลลังก์หงส์ (2559)
นอกจากนี้ ในปี 2549 ตั้ว ศรัณยู ได้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง กับทางกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)
ขอบคุณข้อมูล : วิกิพีเดีย
ขอบคุณ ภาพ : ple_hattaya , sarunyoo