มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จับมือ มิวเซียมสยาม ชวนชม “นิทรรศการ Change” ถ่ายทอดแรงบันดาลใจจากดอยสู่เมืองผ่านเลนส์ ฝีมือ 3 ช่างภาพรุ่นใหม่

0
1175

  มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ มิวเซียมสยาม จัดงานนิทรรศการภาพถ่าย “Change” (เชนจ์) การเปลี่ยนแปลงผ่านแรงบันดาลใจจากดอยสู่เมือง ถ่ายทอดเรื่องราวการพัฒนาด้านต่างๆ ในพื้นที่ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย ผ่านมุมมองของ 3 ศิลปินช่างภาพรุ่นใหม่ ที่มีผลงานโด่งดังทั้งในและต่างประเทศ สื่อสารผ่านภาพถ่ายอันเป็นเอกลักษณ์

พร้อมแชร์เทคนิคและมุมมองการถ่ายภาพในมิติต่างๆ ในงานเสวนาหัวข้อ  “Photo Talk : พูดด้วยภาพ” โดยมี ธัญธร์รัตน์ โพธานันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ และ จิระนันท์ พิตรปรีชา ที่ปรึกษา สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ ณ มิวเซียมสยาม   

ธัญธร์รัตน์ โพธานันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ว่า นิทรรศการภาพถ่าย “Change” (เชนจ์) ถือเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่าง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และมิวเซียมสยาม จัดนิทรรศการภาพถ่ายที่สะท้อนเรื่องราวการพัฒนาด้านต่างๆ ในพื้นที่ โครงการพัฒนาดอยตุงฯ เพื่อเป็นการเผยแพร่งานพัฒนาในด้านต่างๆ ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อสังคมที่ดำเนินงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ตามหลักการทรงงานของ “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” หรือ “สมเด็จย่า” ผ่านกรอบแนวคิดการพัฒนา 3S Model” (สามเอส โมเดล) แบ่งการพัฒนาเป็น 3 ระยะ ได้แก่ อยู่รอด พอเพียง และยั่งยืน เป็นแกนหลักในการดำเนินงานเพื่อ “ช่วยเขา…ให้เขาช่วยตัวเขาเอง” ตามพระราชปณิธานของ สมเด็จย่า สอดคล้องกับ “เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน” (SDG Goals) ของสหประชาชาติที่เป็นเป้าหมายร่วมกันของประเทศสมาชิกทั่วโลก

โดยโครงการสำคัญของมูลนิธิคือ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก่อตั้งเมื่อปี 2531 จากสภาพป่าเสื่อมโทรม ชุมชนมีสภาพความเป็นอยู่อย่างยากจนแร้นแค้น และยังมีกองกำลังควบคุมพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านต้องหาทางรอดด้วยการประกอบอาชีพผิดกฎหมาย เช่น การทำไร่เลื่อนลอย การปลูกฝิ่น ค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ แต่สมเด็จย่า ได้ใช้หลักการพัฒนาดังกล่าวเข้าไปช่วยทำให้ชาวบ้านในพื้นที่เลิกปลูกฝิ่น เลิกค้ายาเสพติด และหันมาประกอบอาชีพที่ยั่งยืน โดยดำเนินงานมากว่า 30 ปี สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนเพิ่มขึ้นถึง 28 เท่า จนกลายเป็นโครงการต้นแบบที่ได้รับการยอมรับและถูกขยายผลสู่การพัฒนาไปยังชุมชนอื่นๆ ทั่วโลก นอกจากนี้ ยังมีโครงการต้นแบบที่น่าสนใจอื่นๆ ได้แก่  อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง หอฝิ่น อุทยานสามเหลี่ยมทองคำ พระตำหนักดอยตุง สวนแม่ฟ้าหลวง  หอแห่งแรงบันดาลใจ และสวนรุกขชาติแม่ฟ้าหลวงดอยช้างมูบ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม บรรยากาศภายในงานนิทรรศการเต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่หัวใจศิลป์ ที่มาเดินทางมาชมงานนิทรรศการอย่างเนืองแน่น สำหรับภาพถ่ายที่ถูกนำมาจัดแสดงในครั้งนี้มีทั้งหมด 38 ภาพ เป็นฝีไม้ลายมือการลั่นชัตเตอร์ของ 3 ช่างภาพรุ่นใหม่ ได้แก่    รัมภาพร วรสีหะ อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ช่างภาพสาวที่มีมุมมองการถ่ายภาพที่เป็นเอกลักษณ์, วีระกิตติ์ ชื่นภาณุวัฒน์ ช่างภาพสาย Commercial ที่โด่งดังในโลกออนไลน์ และ กัณกวี กาญจนะเดชะ ช่างภาพสาย City Scape ที่โด่งดังในต่างประเทศ

โดยมีภาพไฮไลท์ อาทิ “ภาพเส้นสีในหอแห่งแรงบันดาลใจ” สร้างสรรค์โดย อาจารย์รัมภาพร วรสีหะ เป็นภาพเส้นสีในหอแห่งแรงบันดาลใจ หอที่บันทึกพระราชประวัติและเรื่องราวของราชสกุลมหิดลเป็นสถานที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คน จากหลักการอภิบาลพระราชโอรสและพระราชธิดาของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี “ภาพพลังของคน” โดย วีระกิตติ์ ชื่นภาณุวัฒน์ เป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงพลังของกี่ ซึ่งเป็นอุปกรณ์หลักในการผลิตผ้าทอ และพลังของคนผู้สร้างสรรค์ชิ้นงาน ภาพนี้ถูกบันทึกที่ศูนย์ผลิตและจำหน่ายงานมือ แหล่งผลิตผ้าทอคุณภาพเยี่ยมจาก ภูมิปัญญาท้องถิ่น ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ด้าน กัณณกวี กาญจนเดชะ สร้างสรรค์ที่มีชื่อว่า “แสงสุดท้ายที่ปลายยอดเขา” ถ่ายที่สวนรุกขชาติแม่ฟ้าหลวง ดอยช้างมูบ อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ฉายให้เห็นการทับซ้อนของภูขาน้อยใหญ่ สูงต่ำ ล้วนงดงาม ที่นี่เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ ที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากเส้นทางลำเลียงยาเสพติดสู่พื้นที่พัฒนาภายใต้โครงการพัฒนาดอยตุงฯ

ทั้งนี้ภายในงานยังมีกิจกรรมเสวนาหัวข้อ Photo talk: พูดด้วยภาพ” โดย 3 ศิลปินช่างภาพมาแชร์ความรู้สึกที่ได้ขึ้นไปสัมผัสโครงการพัฒนาดอยตุงฯ โดย กัณณกวี กาญจนเดชะ กล่าวว่า “แรงบันดาลใจสำคัญที่ได้กลับมา คือ “สมเด็จย่า” ท่านทรงงานเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาในพื้นที่ดอยตุง จากภูเขาหัวโล้นสู่พื้นที่อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านมีงานทำ ชาวบ้านภูมิใจและสามารถพึ่งพาตนเองได้” 

ด้าน อาจารย์รัมภาพร วรสีหะ ได้บอกเล่าถึงความรู้สึกว่า “ปกติถ้าไปเที่ยวดอยตุง เราก็จะรู้แค่ว่ามีสวนดอกไม้ที่สวยงาม มีมุมถ่ายรูปมากมาย แต่พอได้รู้ถึงการทำงานด้านการพัฒนาที่ยิ่งใหญ่ที่เป็นเบื้องหลังความสวยงามเหล่านี้ ซึ่งเป็นแนวทางในการทรงงานของ “สมเด็จย่า” ทำให้รู้สึกตื้นตันและเกิดเป็นแรงบันดาลใจที่อยากสื่อสารออกมาเป็นภาพถ่ายที่เราถนัดให้ทุกคนได้เห็น โดยนิทรรศการครั้งนี้เลือกที่จะแสดงภาพออกมาในรูปแบบของการจับคู่ภาพ เปรียบเทียบเส้น แสง ให้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาอย่างแท้จริง

เช่นเดียวกับ วีระกิตติ์ ชื่นภาณุวัฒน์ เผยว่าการขึ้นไปทำงานครั้งนี้รู้สึกประทับใจมาก ตั้งแต่ อากาศ สภาพแวดล้อม และการทำงานของ มูลนิธิฯ และ ชาวบ้านในพื้นที่ ทำให้อยากส่งต่อความรู้ ความสุข ที่ได้จากชุมชน ถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานให้คนในเมืองได้รู้สึกภูมิใจไปด้วยกัน ส่วนเทคนิคการถ่ายภาพในครั้งนี้ใช้การจัดองค์ประกอบแบบจุดตัด 9 ช่อง มาสร้างความน่าสนใจเรียงร้อยออกมาเป็นเรื่องราวต่างๆ

เรียกว่างานนี้ได้เสพศิลป์ อิ่มเทคนิค ไปกับผลงานการพัฒนาในแง่มุมต่างๆ ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ผ่านนิทรรศการสุดสร้างสรรค์กันอย่างเต็มที่

สัมผัสเรื่องราวของการพัฒนาผ่าน นิทรรศการ “Change ถ่ายทอดการเปลี่ยนแปลงผ่านแรงบันดาลใจจากดอยสู่เมือง” โดย มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ มิวเซียมสยาม เปิดให้ประชาชนที่สนใจเข้าชม โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ในระหว่างวันเสาร์ที่ 16 มีนาคม 2562 – วันอาทิตย์ที่ 31 มีนาคม 2562 เวลา 10.00 – 18.00 น. (ปิดให้บริการทุกวันจันทร์) ณ ชั้น 1 มิวเซียมสยาม ติดตามรายละเอียดได้ที่ www.maefahluang.org  แฟนเพจเฟสบุค มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ โทร. 02 252 7114 ต่อ 332

สั่งจองนิตยสาร Howe โดยไม่ต้องรอหาตามแผงสั่งได้ที่
Line : Howemagazine
  Fanpage : Howemagazine
รายละเอียดการสั่ง (คลิ๊ก)

  อ่านนิตยสาร Howe Magazine ออนไลน์ได้ที่

Ookbee-Logo
LOGO-MEB-2017
Facebook Comments

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.