หากเอ่ยชื่อสตรีนักสังคมสงเคราะห์แถวหน้าของไทย ชื่อของ ดร.สายสม วงศาสุลักษณ์ จะเป็นอันดับต้นๆ ที่เราคิดถึง เวลา 50 ปีที่ ดร.สายสมอุทิศตนทำงาน เพื่อช่วยเหลือผู้ขาดโอกาสทางสังคมมากมาย ในฐานะกรรมการและเลขานุการมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ผู้รับใบอนุญาตและประธานกรรมการบริหาร โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ 48 พรรษา ในพระราชูปถัมภ์ ประธานมูลนิธิร่วมน้ำใจต้านภัยเอดส์ และประธานมูลนิธิช่วยคนปัญญาอ่อนแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ รวมทั้งทำงานร่วมกับมูลนิธิอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งเธอยังตั้งมั่นที่จะเป็นแสงสว่างที่ช่วยนำทางชีวิตเด็กๆ และผู้คนที่ขาดโอกาสให้มีทางเดินต่อไปได้
“ดิฉันทำงานเพื่อสังคมมาตั้งแต่อายุ 17 ปี เริ่มต้นจากการจัดคอนเสิร์ตการกุศลที่โรงเรียน เพื่อระดมทุนซื้อตู้กดน้ำที่มีเครื่องกรองให้กับโรงเรียน หลังจากนั้นก็ทำงานด้านนี้มาเรื่อยๆ เพราะใจอยากช่วยเหลือผู้คนที่ขาดโอกาสทางสังคม ให้มีชีวิตที่ดีขึ้น ดิฉันเห็นเด็กนักเรียนที่ไม่มีเงินมาเรียน ไม่มีเสื้อผ้าดีๆ ใส่มาโรงเรียน บางคนแม้แต่อาหารกลางวันยังไม่มีทาน ทำให้รู้สึกว่าเด็กเหล่านั้นควรได้รับการช่วยเหลือ เห็นเขามีความสุข ยิ้มได้ เราก็มีความสุขไปด้วย ถ้ามีอะไรที่ไม่เหนือบ่ากว่าแรงก็จะช่วยเหลือทุกครั้ง การทำงานเพื่อสังคมถือเป็นภารกิจที่ดิฉันปวารณาตน ว่าจะเป็นที่พึ่งของผู้คน ดิฉันอธิษฐานจิตว่าจะ ‘ไม่ขอนิพพาน’ ถ้าเกิดเป็นคนร้อยชาติ ก็จะตั้งใจทำงานช่วยเหลือผู้คนในสังคมให้พ้นจากความทุกข์ เพราะทุกวันนี้ผู้ขาดโอกาสในสังคมยังมีอีกมากมาย ที่รอให้เราเข้าไปช่วยเหลือ”
“การทำงานเพื่อสังคมไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเราต้องเสียสละเวลา สละทุนทรัพย์ ใช้แรงกาย แรงใจในการทำงาน ดิฉันจะยืนหยัดทำงานเพื่อสังคมต่อไปเรื่อยๆ ทุกวันนี้ดิฉันทำงานแบบไม่มีวันหยุด และตั้งใจว่าจะทำงานแบบไม่มีวันเกษียณ เพราะการช่วยเหลือคนเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ เรามีนักเรียนที่ขาดแคลน มีผู้ป่วย HIV เด็กกำพร้า เด็กถูกทอดทิ้ง ไปจนถึงเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ดิฉันมีภารกิจมากมายที่ต้องรับผิดชอบ ก็จะบอกกับตัวเองว่าเราจะป่วยไม่ได้ ตายไม่ได้ ตราบใดที่ยังหาคนมารับช่วงทำงานต่อไม่ได้ จนมีคนตั้งฉายาให้ว่า ‘The Women Who Never Say No’ ซึ่งชีวิตดิฉันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ”
ติดตามอ่านได้ในนิตยสาร HOWE ฉบับ 127
สามารถสั่งซื้อ E-Book ผ่านทาง Meb : https://www.mebmarket.com/ebook-338612-Howe-No–127