งดงามตามแบบฉบับไทย สำหรับนิทรรศการผ้าไทยทอมือย้อมสีธรรมชาติ ในงานเปิดตัว “คัลเลอร์ ไอดี เลเบลลิ่ง”

0
1828

     ยกระดับผ้าไทยให้ก้าวไกลไปอีกขั้น เมื่อ อุมาพร สุขม่วง อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ จัดทำ โครงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ ด้วยการเปิดตัว ‘คัลเลอร์ ไอดี เลเบลลิ่ง’ (Color ID Labeling) แอพพลิเคชั่นสำหรับคนรักผ้าไทย ที่เปรียบเสมือนแคตตาล็อกรวบรวมความงดงามของผ้าไทยทอมือย้อมสีธรรมชาติอันปราณีตบรรจง มาให้คนไทยได้สัมผัสความงดงามของผ้าไทยกันได้ง่ายขึ้น โดยในงานยังได้มีการจัดนิทรรศการผ้าไทยที่คัดสรรฝีมือจากเหล่าช่างชั้นครู พร้อมชมเสื้อผ้าดีไซน์พิเศษในคอลเลกชั่น ‘กลีบใบ เฮือไฟ (เรือไฟ) สายน้ำ’ (Blue voyage and Passage of Petals) ที่นำความงดงามทางธรรมชาติมาผสมผสานกับอัตลักษณ์ของผ้าไทยได้อย่างงดงาม ในค่ำคืนที่ผ่านมา ที่ร้าน QUAINT ซอยสุขุมวิท 61

โดยงานครั้งนี้ได้รับเกียรติจากเหล่าดีไซน์เนอร์และเซเลบริตี้ชื่อดังตบเท้าเข้าร่วมงานกันอย่างคับคั่ง อาทิ พัทธรัตน์ อาจวงษ์, พิมสิริ นาคสวัสดิ์, อริสา อัศวณิชย์ชากร, อมตา-ภัสรา จิตตะเสนีย์, ยุวเรต ศรุตานนท์, ดร.ฐิติพร สงวนปิยะพันธ์, ณัฏฐกรม์-ณัฏฐิ์ประภา ชุณหะวัณ, ชนินธิดา-ชนาทิพย์ จันทรุเบกษา, กรุณา วัจนะพุกกะ, ปวีญลักษณ์ ลิมปิชาติ, ศิริภา อินทวิเชียร, วันชนะ เอี่ยมพิกุล, ภัทรพร-ภัทรพรรณ สาลีรัฐวิภาค, พิพัชรา-จิตริณี แก้วจินดา, ชนบดี ชินวรรโณ, กิตตินันท์ ตั้งสิริมานะกุล, วิชาดา พูลผล และอีกมากมาย

‘คัลเลอร์ ไอดี เลเบลลิ่ง’ (Color ID Labeling) แอพพลิเคชั่นที่รวบรวมความงดงามของผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติของคนไทยจากแหล่งที่ดีที่สุดจำนวน 20 แห่ง จาก 6 จังหวัด ได้แก่ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ โดยมีจุดเด่นอยู่ที่เทคนิคการวิเคราะห์ค่าสีที่ทางกรมวิทยาศาสตร์บริการได้นำมาใช้จำแนกเอกลักษณ์ของกลุ่มทอผ้า จากเฉดสีของผ้าที่มีความแตกต่างกันตามวัตถุดิบทางธรรมชาติที่ช่างแต่ละกลุ่มได้เลือกใช้ในการย้อม ประกอบกับเทคโนโลยี QR Code และ AR Code ที่สามารถแสดงถึงกระบวนการผลิตทั้งในรูปแบบของภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว เผื่อให้เหล่าคนรักผ้าไทยได้สัมผัสถึงวิถีชีวิตการทอผ้าไทยได้อย่างแท้จริง อีกทั้งยังตอบโจทย์การทำงานของเหล่านักดีไซน์ยุคใหม่ที่ต้องการแหล่งผลิตผ้าไทยย้อมสีธรรมชาติคุณภาพดี

อุมาพร สุขม่วง กล่าวถึงจุดเด่นของแอพพลิเคชั่นและแนวคิดหลักในการจัดงานครั้งนี้ว่า ‘เราต้องการยกระดับผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มคนที่ชื่นชอบผ้าไทยมากขึ้น รวมถึงกลุ่มดีไซน์เนอร์ที่ต้องการใช้ผ้าไทยในการออกแบบเสื้อผ้า ก็เลยเป็นที่มาของโครงการนี้ที่ได้รวบรวมแหล่งผลิตผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติที่ดีที่สุดเอาไว้ด้วยกันบนแอพพลิเคชั่นคัลเลอร์ ไอดี เลเบลลิ่ง ซึ่งแหล่งผลิตผ้าแต่ละแห่งจะมีจุดเด่นการทอผ้าและย้อมสีที่แตกต่างกัน เราจึงได้ใช้เทคนิคทางวิทยาศาสตร์ในการวิเคราะห์ค่าสีเพื่อกำหนดเฉดสีออกมาในรูปแบบรหัสตัวเลขที่เป็นสากล ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการอ่านค่าสีให้กับผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ เพื่อให้ผู้ใช้แอพฯ สามารถเลือกเฉดสีผ้าที่ต้องการได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น และยังสามารถสั่งผลิตกับทีมช่างได้โดยตรงจากข้อมูลแหล่งผลิตภายในแอพฯ โดยเราหวังว่าแอพพลิเคชั่นนี้จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนที่ชื่นชอบผ้าไทย และสามารถเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการผ้าทอในประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลได้’

โดยแหล่งผลิตผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติที่ถูกนำมาจัดเป็นนิทรรศการภายในงานนั้นมีทั้งหมดจาก 6 จังหวัดด้วยกัน ประกอบไปด้วยจังหวัดสกลนคร โดยมี กลุ่มทอผ้าภูไทรุณณี, กลุ่มทอผ้าบ้านเหล่าใหญ่, กลุ่มแม่บ้านวิสาหกิจชุมชนหมู่ 8, กลุ่มวิสาหกิจชุมชนย้อมครามบ้านเชิงดอย, กลุ่มสตรีทอผ้าชุมชนที่ 2 แม่ทองสิริ, กลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านหนองครอง, กลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านนาขาม, กลุ่มทอผ้าสีธรรมชาติบ้านพันนา และกลุ่มทอผ้ากี่กระตุกบ้านนางัว ถัดมาที่จังหวัดนครพนม ประกอบไปด้วย ศูนย์เรียนรู้หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านนาคอย และกลุ่มสตรีทอผ้าฝ้ายบ้านโคกสะอาด ต่อมาที่จังหวัดมุกดาหาร ประกอบไปด้วย กลุ่มแม่เวียงบ้านคำอาฮวน, กลุ่มทอผ้าทอมือบ้านคุณย่า และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าไหมบ้านภู จังหวัดต่อมาสุรินทร์ ประกอบไปด้วย กลุ่มมัดหมี่โฮลโบราณย้อมสีธรรมชาติ, กลุ่มทอผ้าไหมสีธรรมชาติบ้านดู่ และกลุ่มสตรีทอผ้าไหมบ้านระงอล ต่อมากับจังหวัดชัยภูมิ ที่ประกอบไปด้วย วิสาหกิจชุมชนทอผ้าย้อมสีธรรมชาติหนองบัวแดง และกลุ่มเลี้ยงไหมตำบลบ้านเขว้า ปิดท้ายที่ศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านอำเภอนาโพธิ์ จากจังหวัดบุรีรัมย์

 

และอีกหนึ่งไฮไลท์ภายในงานนั่นก็คือแฟชั่นโชว์เสื้อผ้าที่ออกแบบขึ้นโดยดีไซน์เนอร์ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการใช้ผ้าไทย ณัฏฐิญาณ์ สุขสถาน ครีเอทีฟไดเร็คเตอร์แห่งแบรนด์ ‘นาดีน เจดีน’ (Nadyn Jadyn) ในเสื้อผ้าคอลเลกชั่นที่ชื่อว่า ‘กลีบใบ เฮือไฟ (เรือไฟ) สายน้ำ’ (Blue voyage and Passage of Petals) ที่ได้รับแรงบันดาลใจหลักมาจากความงดงามของสายน้ำที่เชื่อมต่อระหว่างธรรมชาติกับมนุษย์ ซึ่งเปรียบเสมือนวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่นที่ทุกคนต่างช่วยกันอนุรักษ์ความงดงามของสายน้ำเอาไว้ ประกอบกับประเพณีเรือไฟอันมีชื่อเสียงในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงกลีบของดอกไม้ ใบไม้ และแก่นไม้นานาพรรณ ที่เป็นวัตถุดิบธรรมชาติในการย้อมสีผ้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ถูกนำมาร้อยเรียงให้เกิดเป็นเสื้อผ้าดีไซน์พิเศษที่นำเสนอถึงอัตลักษณ์ความงดงามของผ้าไทยได้อย่างวิจิตรบรรจง โดยใช้ไอเดียการออกแบบชุดที่ผสมผสานรูปทรงเรขาคณิตและการจับจีบซ้อนของเนื้อผ้า ที่แสดงถึงความสวยงามของกลีบดอกไม้และการไหลของสายน้ำ พร้อมเพิ่มเท็กซ์เจอร์ให้กับชุดด้วยการใช้ผ้าลินินซึ่งเป็นเส้นใยธรรมชาติมาช่วยเสริมคาแรคเตอร์ให้เสื้อผ้าสามารถสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงการใช้ผ้าพลิ้วอย่างผ้าสไบที่เป็นเหมือนเอกลักษณ์ของชุดไทยเข้ามาช่วยเสริมความโดดเด่นของคอลเลกชั่นนี้

ด้านเหล่าเซเลบริตี้คนรักผ้าไทยที่มาร่วมงานต่างร่วมเผยถึงช่วงเวลาแห่งความภาคภูมิใจที่เคยสวมใส่ผ้าไทย และเคล็ดลับการแต่งตัวด้วยผ้าไทยในชีวิตประจำวัน เริ่มจากสาวแฟชั่นนิสต้า แพรี่พาย-อมตา จิตตะเสนีย์ เผยว่า ‘เรามีโอกาสได้ไปสัมผัสวิถีการใช้ชีวิตของชาวภาคอีสานอยู่ช่วงหนึ่ง ทำให้ได้รู้จักกับอาชีพทอผ้าอย่างจริงจัง ซึ่งเราได้เห็นความรักและความตั้งใจในการทำผ้าของชาวบ้านที่เขาต้องการถ่ายทอดออกมาให้คนได้เห็นถึงภูมิปัญญาและความปราณีต ก็เลยเกิดความรู้สึกว่าอยากถ่ายทอดสิ่งที่เราได้สัมผัสนี้ออกมาในรูปแบบสไตล์ของเรา โดยทำให้ผ้าไทยมีความโมเดิร์นมากขึ้น ซึ่งอาจจะเลือกจากผ้าที่ชอบนำมาตัดเป็นชุดที่เหมาะกับรูปร่างเรา แต่จะเน้นการแต่งตัวให้สุภาพเรียบร้อยที่สุด เพื่อเป็นการให้เกียรติคนที่ทอผ้าให้เราใส่ และแมทช์กับเครื่องประดับที่ดีไซน์มีความทันสมัยหรือกำลังอยู่ในกระแส เพื่อให้การแต่งตัวดูสนุกขึ้น อย่างตอนไปอินเดียเราเลือกใส่ผ้ามัดหมี่สีชมพูไปเที่ยว ก็มีคนมาต่อแถวขอถ่ายรูปด้วยเยอะมากทั้งๆ ที่เขาก็ไม่รู้จักเรา แต่เพราะเขาบอกว่าชุดของเราสวย’

ต่อมาที่สาวเก๋ หมูแดง-ชนินธิดา จันทรุเบกษา เล่าว่า ‘เริ่มศึกษาเกี่ยวกับผ้าไทยและเริ่มใส่อย่างจริงจังมาสักพักแล้ว ซึ่งจากที่ลองสวมใส่มาจะชอบผ้าหมักโคลนที่สุด เพราะใส่แล้วให้ความรู้สึกสบาย ส่วนใหญ่เราก็จะนำผ้ามาตัดเป็นกางเกงหรือกระโปรงใส่แมทช์กับเสื้อปกติ หรือไม่ก็นำมาทำเป็นแอคเซสเซอรี่อย่างผ้าผูกหัว ผ้าคลุมไหล่ หรือนำมาตัดเป็นสูทเท่ๆ ซึ่งจะเลือกผ้าจากลวดลายการทอที่แปลกตา และถ้ามีโอกาสพิเศษไม่ว่าจะเป็นงานบุญ หรืองานที่ต้องพบปะผู้ใหญ่ เราก็จะเลือกใส่ผ้าไทยเสมอ และรู้สึกดีทุกครั้งที่มีคนมาพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องผ้าไทย แล้วเราก็ชอบที่จะสวมใส่ชุดที่ทำจากผ้าไทยตามสไตล์ของตนเอง’

ส่วนสาวสังคมคนต่อมา ยุวเรต ศรุตานนท์ เผยว่า ‘เสน่ห์อย่างหนึ่งของผ้าไทยในความคิดของเราก็คือความสุภาพเรียบร้อย อย่างเมื่อไม่นานมานี้เรามีโอกาสได้ไปเข้าเฝ้าพระสังฆราชมา ก็เลือกใส่ชุดที่ตัดจากผ้าไทยไป เพราะค่อนข้างมีเอกลักษณ์และสง่างาม โดยผ้าที่ชอบที่สุดคือผ้าไหมมัดหมี่ เพราะมีลวดลายที่หลากหลายที่เลือกสรร ซึ่งเราจะชอบนำมาผ้าไทยมาตัดเป็นชุดต่างๆ และอาจตกแต่งด้วยผ้าลูกไม้ที่เราชอบเข้าไปด้วย ส่วนในชีวิตประจำวันก็จะแต่งให้ดูแฟชั่นขึ้น อาจจะเป็นกระโปรงทรงสอบที่ตัดด้วยผ้าไทยแมทช์กับเสื้อเชิ้ตเท่ๆ แล้วถือกับกระเป๋าลายผ้าไทยสักใบ’

ปิดท้ายที่สาวรอยยิ้มมีเสน่ห์ ปวีญลักษณ์ ลิมปิชาติ เล่าว่า ‘เราได้รับแรงบันดาลใจในการใส่ผ้าไทยมาจากคุณแม่ (พิมพวรรณ ลิมปิชาติ) เพราะท่านจะชอบผ้าไทยมาก ซึ่งเราได้เห็นและสัมผัสมาตั้งแต่เด็กๆ พอโตขึ้นก็เริ่มแต่งตัวด้วยผ้าไทยเองด้วยการนำมาประยุกต์ให้มีความแคชชวลขึ้น ใส่ได้ง่ายขึ้น ซึ่งเราจะชอบผ้าทอย้อมสีธรรมชาติที่มีลวดลายไม่มาก และมักจะนำมาตักเป็นกางเกงใส่กับเสื้อแขนกุด แล้วแมทช์ด้วยเครื่องประดับไทยโบราณอย่างพวกเครื่องเงินสวยๆ ให้ดูเข้ากัน ซึ่งเราเคยแต่งสไตล์แบบนี้ไปดูแฟชั่นโชว์ที่อังกฤษก็มีชาวต่างชาติเข้ามาพูดคุยด้วยเยอะมากเกี่ยวกับผ้าไทยของเรา’

พบกับมิติใหม่ที่ช่วยยกระดับผ้าไทยให้ก้าวไกลไปอีกขึ้นบนแอพพลิเคชั่น ‘คัลเลอร์ ไอดี เลเบลลิ่ง’ (Color ID Labeling) ที่สามารถดาวน์โหลดได้บน APP STORE และ PLAY STORE พร้อมกันได้แล้ววันนี้

 

 

สั่งจองนิตยสาร Howe โดยไม่ต้องรอหาตามแผงสั่งได้ที่
Line : Howemagazine
Fanpage : Howemagazine
รายละเอียดการสั่ง (คลิ๊ก)

อ่านนิตยสาร Howe Magazine ออนไลน์ได้ที่

Ookbee-Logo

LOGO-MEB-2017

Facebook Comments

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.