หมอจุฬาฯลั่นเคยเตือนแล้ว โควิดระลอกสามมาแน่ และเป็นศัตรูที่ร้ายกาจ

0
627

วันที่ 29 เมษายน 2564 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสาม ซึ่งก่อนหน้านี้เคยออกมาเตือนแล้วว่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และจะระบาดกระจายไปทั่ว พร้อมแนะนำ 4 นโยบายหลักที่ควรพิจารณาดำเนินการ เพื่อทวงชีวิตความเป็นอยู่กลับคืนมาจากโควิด-19 โดยมีเนื้อหาสำคัญ ดังนี้

“…การประเมินสถานการณ์เพื่อวางแผนจัดการรับมือนั้น ต้องรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างรอบด้าน ก่อนสังเคราะห์ออกมาเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

ยังจำได้สมัยระลอกสองเริ่มใหม่ๆ วงบริหารหนึ่งเคยแซวว่าชอบมาขู่ให้กลัว หลังจากที่ได้รับฟังการนำเสนอ คาดการณ์ว่าจะรุนแรงกว่าระลอกแรก และมียอดการติดเชื้อต่อวันสูงสุดราว 5 เท่า หรือ 940 คนต่อวัน โดยใช้เวลาในการต่อสู้ยาวนาน 2 เท่าหรือ 88 วัน และคาดว่าจะมีคนติดเชื้อจากระลอกสองนี้ระหว่าง 23,635-33,088 คน

เวลาก็พิสูจน์ให้เห็นว่าเราสิ้นสุดระลอกสองด้วยตัวเลขใกล้เคียงประมาณนั้น

ระลอกสามนี้ หากจำกันได้ เคยเตือนแล้วเช่นกันว่าจะเกิดขึ้นได้แน่ เป็นผลต่อเนื่องจากระลอกก่อนหน้า เพราะเห็นจากบทเรียนต่างประเทศมากมายหลายประเทศที่เผชิญมาก่อนเรา

ปัจจัยหลักจะแปรผันตามจำนวนการติดเชื้อต่อวันที่กดได้จากระลอกก่อนหน้านั้น และนโยบายแวดล้อมที่จะส่งผลต่อเรื่องความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการนำเชื้อเข้ามา หรือระบบการกักตัว รวมถึงระดับความเข้มแข็งภายในประเทศ เช่น ระบบการตรวจคัดกรองโรค การจัดซื้อจัดหาเตรียมอาวุธป้องกันที่มีประสิทธิภาพและปริมาณมากเพียงพอ และการผ่อนคลายมาตรการใช้ชีวิตของประชาชน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเราประจักษ์ชัดแล้วว่า ศัตรูที่ชื่อโควิด-19 นี้มันร้ายกาจมาก และระบาดกระจายทั่วไป

สิ่งที่เราทุกคนจะทำได้คือ ช่วยกันสู้ยิบตา เพื่อปกป้องสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของตนเอง ครอบครัว และเพื่อประเทศของเรา

เรียนรู้จากบทเรียนที่ผ่านมา และระแวดระวังอย่าหวนกลับไปทำซ้ำอีก

ใส่หน้ากากเสมอ ปิดจมูกปิดปาก ใส่สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า

พกเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ติดตัวเสมอ ล้างมือบ่อยๆ ทุกครั้งหลังจับต้องสิ่งของสาธารณะ

อยู่ห่างคนอื่นหนึ่งเมตร เจอกันน้อยๆ สั้นๆ

ระวังเรื่องสุขาสาธารณะ ปิดฝาก่อนชักโครก ล้างมือทุกครั้ง และใส่หน้ากากเสมอ

เลี่ยงการกินดื่มในร้านอาหาร โรงอาหาร ศูนย์อาหาร ซื้อกลับจะดีกว่า

ไม่ตะลอนท่องเที่ยว หรือพบปะสังสรรค์

คอยสังเกตอาการตนเองและครอบครัว หากไม่สบาย ควรหยุดงาน แล้วรีบไปตรวจรักษา

ระบาดช่วงถัดจากนี้ มีโอกาสเกิดทั้งที่ทำงานต่างๆ ห้าง ร้านอาหาร โรงอาหาร ศูนย์อาหาร ขนส่งสาธารณะ รวมถึงในที่พักอาศัย ทั้งบ้าน แฟลต หอพัก คอนโด อพาร์ตเมนท์ และชุมชนที่แออัด จึงต้องระวังอย่างยิ่ง

ที่สำคัญที่เราควรพิจารณาระดับนโยบายคือ

หนึ่ง “ไม่ควรโปรโมทให้คนท่องเที่ยว” เพราะระบาดต่อเนื่อง ได้จะไม่คุ้มเสียอย่างยิ่ง

สอง ควรจัดหาวัคซีนที่หลากหลาย มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย เพื่อให้ใช้ได้หลายสถานการณ์ และมีปริมาณครอบคลุมทุกคนในประเทศ โดยรวมถึงคนต่างชาติที่อาศัยในประเทศด้วย

สาม ระบาดระดับที่เราเผชิญอยู่ตอนนี้ จำเป็นต้องใช้มาตรการเข้มข้นเพียงพอที่จะหยุดการระบาด การล็อคดาวน์ระยะสั้นในพื้นที่จังหวัดหรือภาคที่มีจำนวนการติดเชื้อต่อวันเกิน 10 คน เป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง เพื่อจัดการการระบาด ความสูญเสียทางเศรษฐกิจจะน้อยกว่า และจะช่วยให้ระบบสุขภาพมีเวลาฟื้นฟูสภาพ

สี่ เร่งเพิ่มศักยภาพระบบการตรวจคัดกรองโรค

ในสถานการณ์ปัจจุบัน การตัดสินใจข้างต้น ผมคิดว่าประชาชนทุกภาคส่วนน่าจะพร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่

เพื่อที่จะทวงชีวิตความเป็นอยู่กลับคืนมาจากโควิด-19

ประเทศไทยต้องทำได้ ถ้าเราทุกคนช่วยกัน

ด้วยรักและห่วงใย”

ขอบคุณ ที่มา : Thira Woratanarat

สั่งจองนิตยสาร Howe โดยไม่ต้องรอหาตามแผงสั่งได้ที่

Line : Howemagazine
  Fanpage : Howemagazine
รายละเอียดการสั่ง (คลิ๊ก)

  อ่านนิตยสาร Howe Magazine ออนไลน์ได้ที่

Ookbee-Logo
LOGO-MEB-2017
Facebook Comments

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.