“วสท.” อธิบาย กระจ่างชัด สาเหตุอาคาร 3 ชั้น พังถล่ม สังเวยชีวิตหลายราย

0
935

ความคืบหน้าเหตุการณ์สลด เพลิงไหม้บ้านหรู ภายในหมู่บ้านกฤษดานคร 31 ซอยบรมราชชนนี 105 ถนนบรมราชชนนี ย่านพุทธมณฑล สาย 3 แขวงและเขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ของนายอดิสรณ์ โสภา นักธุรกิจ ก่อนที่ตัวอาคารจะพังถล่มลงมาระหว่างเจ้าหน้าที่กู้ภัยกำลังปฏิบัติหน้าที่ เป็นเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

ล่าสุด แฟนเพจเฟซบุ๊ก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) Engineering Institute of Thailand ได้โพสต์ภาพและข้อความเปิดเผยสาเหตุเบื้องต้นของการเกิดเพลิงไหม้จนทำให้อาคารถล่มลงมา หลังจากทีมวิศวกร นำโดย รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ อุปนายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่ตรวจสอบอาคารดังกล่าว

“วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) โดย รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ อุปนายก และทีมวิศวกร ลงพื้นที่ตรวจสอบอาคารที่เกิดเพลิงไหม้ และถล่ม ที่หมู่บ้านกฤษดานคร ถนนบรมราชชนนี พร้อมให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน จากการตรวจสอบ สรุปได้ดังนี้

การยุบตัวลงมาของอาคารสูง 3 ชั้น ขนาดใหญ่ จนเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตจำนวนหลายรายนั้น ในเบื้องต้นขอให้แน่ใจก่อนว่าขณะเกิดอัคคีภัยในอาคารนั้น หากวัสดุติดไฟส่วนใหญ่เป็นกระดาษ หรือเสื้อผ้า ที่นอนหมอนมุ้ง ขณะเกิดไฟลุกเต็มที่อาจมีความร้อนตั้งแต่ 400 องศาเซลเซียสขึ้นไปจนถึง 500 องศาเซลเซียส อาคารนี้ก่อสร้างด้วยวัสดุที่เรียกว่าคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งคุณสมบัติของคอนกรีต ทราบกันดีว่ามีความแข็งแรง มีอัตราการทนไฟได้มากชั่วโมง ส่วนเหล็กเสริมที่อยู่ภายในเนื้อคอนกรีตนั้น ถึงแม้ว่าจะไม่ติดไฟ แต่จะมีอัตราทนไฟได้น้อยกว่าคอนกรีต จึงต้องฝังไว้ให้ทำงานภายในเนื้อคอนกรีต ที่มีระยะหุ้มมากพอที่จะหน่วงความร้อนให้ผ่านคอนกรีตเข้าไปถึงเหล็กเสริมยาก


อย่างไรก็ตาม วัสดุต่าง ๆ เมื่อโดนไฟเผาด้วยอุณหภูมิสูง ๆ และใช้เวลานาน ๆ ความร้อนจะทำให้คุณสมบัติที่ดีของคอนกรีตลดลง กำลังรับแรงอาจลดต่ำลง สูญเสียความแข็งแรง อาจมีการเปลี่ยนรูป เช่น มีการโก่งงอ ตกท้องช้าง หรือบิดเบี้ยว ความคงทนหรือเรียกว่า Durability ก็จะลดลงตามการเชื่อมประสาน (Bonding Agent) จะถูกความร้อนทำให้ระเหยหายไป คอนกรีตจะแปรสภาพกลับไปเป็นวัสดุหินทรายดังเดิม (จากการจับดูเนื้อคอนกรีตจะเป็นลักษณะยุ่ย ๆ) เกิดจากการแยกตัว จะเห็นการแตกร้าวของชิ้นส่วนโครงสร้าง เหล็กเสริมภายในจะสัมผัสโดยตรงกับความร้อน และยืดตัว ทำให้ชิ้นส่วนโครงสร้าง เช่น พื้น คาน เสา แอ่น หรือโก่งตัว ยิ่งเกิดมากเท่าไรจะเกิดการดึงรั้งที่จุดต่อกับส่วนอื่น ทำให้ชิ้นส่วนเกิดการแยกตัว หรือแอ่นตัวมากขึ้น เกิดการแตกร้าว และหลุด หรือขาดออกจากกัน คอนกรีตเป็นวัสดุแข็งก็จริง แต่มีความเปราะ จึงพังลงอย่างทันทีทันใด

ก่อนจะถึงจุดนี้จะมีสัญญาณเตือนอยู่พอสมควร เพราะโครงสร้างอาคารไม่ได้อยู่โดด ๆ มี่ชิ้นส่วนอื่น ๆ ประกอบอยู่ด้วย เช่น ผนังก่ออิฐ ประตู หน้าต่าง เป็นต้น ดังนั้น เมื่อเกิดกรณีเช่นนี้ จะเห็นรอยแยกต่าง ๆ ระหว่างผนัง หรือประตูกับโครงสร้างเกิดขึ้น และยิ่งโครงสร้างเปลี่ยนรูปมากเท่าไร สัญญาณดังกล่าวก็จะเพิ่มมากขึ้น ๆ บางครั้งอาจมีเสียงลั่นที่เกิดจากการขาดหรือหลุดจากกันบางส่วน เป็นสัญญาณเตือนก่อนที่จะพังถล่ม ในตัวโครงสร้างของอาคารอาจมีบางจุดที่อ่อนแอ หรือไม่สมบูรณ์ การหลุดหรือขาดจากกันเพียงแค่หนึ่งจุดหรือสองจุดเท่านั้น ก็ทำให้เสาอาคารศูนย์เสียเสถียรภาพ และถล่มตามลงมาในที่สุด


วสท. กำลังดำเนินการประสานกับทีมงาน เพื่อสรุปหาสาเหตุที่อาคารพังถล่ม เพื่อจัดเสวนานำเรื่องดังกล่าวเป็นกรณีศึกษาอีกกรณีหนึ่ง”

ขอบคุณที่มา : วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) Engineering Institute of Thailand , มูลนิธิ ป่อเต็กตึ๊ง / POH TECK TUNG FOUNDATION

สั่งจองนิตยสาร Howe โดยไม่ต้องรอหาตามแผงสั่งได้ที่

Line : Howemagazine
  Fanpage : Howemagazine
รายละเอียดการสั่ง (คลิ๊ก)

  อ่านนิตยสาร Howe Magazine ออนไลน์ได้ที่

Ookbee-Logo
LOGO-MEB-2017
Facebook Comments

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.