วันที่ 8 มีนาคม 2564 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat” โดยมีใจความสำคัญเกี่ยวกับยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากทั่วโลก ที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในบราซิล ที่คาดว่าจะแซงขึ้นมาในอันดับ 2 ภายในสัปดาห์นี้
นอกจากนี้ รศ.นพ.ธีระ ยังเปิดเผยด้วยว่า จากข้อมูลที่มีพบว่าสถานการณ์โควิด-19 มีโอกาสกลับมาระบาดซ้ำอีกระลอก ในเดือนมิถุนายนนี้
สถานการณ์ทั่วโลก 8 มีนาคม 2564…
บราซิลมียอดรวมทะลุ 11 ล้านไปแล้ว จี้ตามหลังอินเดียอยู่สองแสน คาดว่าจะแซงขึ้นอันดับ 2 ภายในสัปดาห์นี้
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 357,272 คน รวมแล้วตอนนี้ 117,403,434 คน ตายเพิ่มอีก 5,587 คน ยอดตายรวม 2,604,244 คน
อเมริกา เมื่อวานติดเชิ้อเพิ่ม 40,963 คน รวม 29,687,228 คน ตายเพิ่มอีก 743 คน ยอดตายรวม 537,723 คน กำลังจะมียอดรวมแตะสามสิบล้านคนภายในสัปดาห์นี้
อินเดีย ติดเพิ่ม 18,769 คน รวม 11,229,271 คน
บราซิล ติดเพิ่ม 80,508 คน รวม 11,019,344 คน
รัสเซีย ติดเพิ่ม 10,595 คน รวม 4,322,776 คน
สหราชอาณาจักร ติดเพิ่มอีก 5,177 คน รวม 4,218,520 คน
อันดับ 6-10 เป็น ฝรั่งเศส ตุรกี อิตาลี สเปน และเยอรมัน ส่วนใหญ่ติดกันหลายพันถึงหลายหมื่นต่อวัน
แถบอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงบังคลาเทศ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น
แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็ยังมีติดเชื้อเพิ่ม ส่วนใหญ่หลักร้อยถึงพันกว่า
ในขณะที่แถบตะวันออกกลาง ประเทศส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักพัน
เกาหลีใต้ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนเมียนมาร์ จีน สิงคโปร์ ไทย ฮ่องกง เวียดนาม และกัมพูชา ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ
…การระบาดในยุโรปบางประเทศ เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี ช่วยให้เราเห็นลักษณะของธรรมชาติการระบาดซ้ำได้ดี โดยทั้งสองประเทศเคยพยายามกดการระบาดลงไปได้จากหลายหมื่นต่อวันเหลือระดับหมื่นต่อวัน แต่ด้วยจำนวนการระบาดต่อวันที่สูงมากเช่นนั้น ทำให้ระยะคงที่มีสั้นมากคือราวหนึ่งสัปดาห์ จากนั้นก็เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นใหม่
เล่ามาให้ฟังเพื่อกระตุ้นให้เราทราบถึงความสำคัญของมาตรการป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดที่ควรทำอย่างต่อเนื่อง
ด้วยข้อมูลต่างประเทศที่มีอยู่ หากระบาดซ้ำครั้งนี้เรากดลงเหลือต่ำกว่าร้อยต่อวันได้จริงหลังกลางเดือนมีนาคมนี้ ระยะคงที่ที่เราจะเห็นการติดเชื้อระดับนี้ไปเรื่อยๆ น่าจะยาวประมาณ 10 สัปดาห์ (72 วัน) บวกลบได้ราว 3 สัปดาห์ นั่นคือหากมองโลกในแง่ดี จะประมาณ 3 เดือน โดยอาจมีโอกาสปะทุระบาดซ้ำระลอกถัดไปประมาณมิถุนายน หากไม่ป้องกันอย่างเคร่งครัดเข้มแข็ง
แต่หากเป็นหลักร้อยต่อวัน ระยะคงที่จะเหลือประมาณ 7 สัปดาห์ หลักพันต่อวันจะเหลือ 4 สัปดาห์ ส่วนหลักหมื่นแบบบางประเทศในยุโรปนั้นเราคงไม่เป็นเช่นนั้น
ตอนนี้มีข่าวว่าที่อินเดีย บางรัฐเริ่มให้ทางเอกชนดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนแล้ว เพราะกลไกรัฐอย่างเดียวอาจไม่สามารถดำเนินการให้บริการได้อย่างทันเวลาและเพียงพอทั่วถึง
หากมองตามความเป็นจริง ปัญหาโรคระบาดรุนแรงนี้ส่งผลต่อทุกภาคส่วนและทุกคนในสังคม การดำเนินการทั้งเรื่องการดูแลรักษาพยาบาล การจัดซื้อจัดหาหยูกยารวมถึงวัคซีนป้องกัน และการดำเนินการฉีดวัคซีน ก็ควรให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมด้วยช่วยกันทำ และเป็นการแสดงออกถึงความโปร่งใส ไม่ปิดกั้นทางเลือกต่างๆ ที่มี
วัคซีนนั้นมีมากมายหลายชนิด แต่ละประเทศล้วนขวนขวายหาวัคซีนที่มีความปลอดภัย และสรรพคุณสูง มาให้แก่ประชาชนของตนเอง เพราะเป็นสิ่งสำคัญในการพิสูจน์ความจริงใจและมุ่งมั่นในการปกป้องชีวิตประชาชนของตน และพิสูจน์ความสามารถของกลไกบริหารจัดการอย่างแท้จริง
สรรพคุณที่พึงประสงค์ ควรมีทั้งการป้องกันการติดเชื้อ การป้องกันการเจ็บป่วย การลดความรุนแรงและการเสียชีวิต รวมถึงการป้องกันไวรัสสายพันธุ์ที่เกิดจากการกลายพันธุ์ใหม่ๆ ด้วย
การตัดสินใจรับหรือไม่รับวัคซีนใดๆ ถือเป็นสิทธิของประชาชนทุกคน เพราะส่งผลโดยตรงต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิต
โดยแต่ละประเทศควรสนับสนุนให้คนของตนมีทางเลือกของวัคซีนที่หลายหลาย สรรพคุณสูง ปลอดภัย และเหมาะสมกับแต่ละคน
ทั้งนี้การจัดสรรให้ฟรี อาจไม่ได้แปลว่าเป็นชนิดที่ดีที่สุดหรือเหมาะสมที่สุดของทุกคนเสมอไป จะเพราะข้อจำกัดด้านทรัพยากรหรือเหตุผลอื่นๆ ก็ตามแต่
ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ ต้องสร้างกลไกให้เกิดการจัดหาทางเลือกที่ดีและที่เหมาะสมอื่นๆ ให้คนสามารถเข้าถึงได้ด้วยน่าจะดีกว่า
อย่าลืม…ใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ อยู่ห่างคนอื่นหนึ่งเมตร ลดละเลี่ยงการตะลอนท่องเที่ยงพบปะสังสรรค์ปาร์ตี้หรือไปในที่อโคจร คอยสังเกตอาการตนเองและครอบครัว หากไม่สบาย ควรหยุดเรียนหยุดงานแล้วรีบไปตรวจรักษา
ด้วยรักและปรารถนาดี
ขอบคุณ ที่มา : Thira Woratanarat