“ผศ.ศิวะ วสุนธราภิวัฒก์” ปลุกแนวคิด สร้างมิติใหม่การศึกษาไทย

0
1135

สถานการณ์เศรษฐกิจที่ทรุดหนัก บริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลกปิดกิจการ จำนวนคนตกงานเพิ่มมากขึ้น ในทุกวันนี้หากมองอย่างไม่คิดอะไรก็คงจะบอกได้แค่ว่านั่นเป็นเพราะการลงทุนระดับโลกที่ผกผันไปตามกระแสการเมืองของชาติมหาอำนาจ ทว่า ความเป็นจริง หากวิเคราะห์เจาะลึกแล้ว ทั้งหมดเป็นผลมาจากการศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของโลก

ประเด็นการศึกษา ไม่ใช่แค่จะต้องรู้รายละเอียดและความสำคัญ เท่านั้น “ผศ.ศิวะ วสุนธราภิวัฒก์” อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ (มทร.รัตนโกสินทร์) บอกเล่าถึงความเป็นห่วง วงการศึกษาในประเทศไทย “คนที่จะเข้ามาขับเคลื่อนการศึกษาต้องมีความเข้าใจในหลายๆ เรื่องด้วย เช่น จะต้องรู้ว่าเป้าหมาย หรือวัตถุประสงค์ของการศึกษาที่แท้จริงคืออะไร รวมถึงต้องทำงานอย่างมุ่งมั่นและจริงจัง ยิ่งวันนี้จะเห็นได้ว่าโลกของเรามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเนื้อหาในเรื่องของการศึกษา จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้ทันกับยุคสมัย โดยการศึกษาไทยวันนี้ ค่อนข้างมีความน่าเป็นห่วงอยู่มาก”

งานการศึกษาไม่ง่ายอย่างที่คิด

“การทำงานด้านการศึกษาเป็นอะไรที่ใครๆ ก็พูดได้ง่าย ผู้บริหารด้านการศึกษาบางคนอาจพูดว่า เราผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพ ให้เป็นคนดี เป็นคนเก่ง แต่ผมอยากถามว่า คำว่าคุณภาพตามที่พูดนั้นคืออะไร แล้วคำว่าคนดี คนเก่ง ที่บอกกันนั้นหมายความว่าอย่างไร” แค่เริ่มต้นการพูดคุยช่วงแรก เนื้อหาที่ท่านอธิการบดีหยิบยกขึ้นมาก็เข้มข้นแล้ว “ซึ่งคำตอบในความหมายนั้นอาจจะบอกแค่เป็นการพัฒนาคน หรือแค่บอกว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือให้ความรู้ เพื่อให้นักศึกษาที่เรียนจบออกไปเป็นคนดีและคนเก่ง ซึ่งก็ทำให้ต้องย้อนกลับไปที่คำถามเดิมอีกว่า คนดี คนเก่งในแง่มุมของเขาเป็นอย่างไร ประเด็นนี้ ผมคิดว่าสำคัญไม่น้อยทีเดียวที่จะต้องมาทำความเข้าใจกันใหม่”

การศึกษาในบ้านเราทุกวันนี้เป็นสิ่งที่อธิการบดี มทร.รัตนโกสินทร์ เห็นมาตลอดว่าเป็นการเลียนแบบมาจากต่างประเทศ “ไม่ว่าจะเป็นยุโรปหรืออเมริกา หรือที่ไหนก็ตาม เราไปเลียนแบบเขามาใช้ เป็นเพราะเราไม่เข้าใจในสถานะของประเทศเรา ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก อย่างประเทศของเราเป็นประเทศที่ทำเกษตรกรรมมานาน แต่การศึกษาของเรามุ่งเน้นไปที่การเกษตรหรือไม่ ในอดีตสมัยที่ผมเรียนหนังสือก็มีให้เห็นอยู่ แต่พอมาถึงปัจจุบันแทบไม่เห็นเลยเพราะเราไปเกาะกระแสต่างชาติ”

เป้าหมายที่เป็นตาม “ปณิธาน”

“ผมไม่ว่านะในเรื่องเกาะกระแส แต่ถามว่าการเกาะกระแสทุกอย่างจะไปกันได้หมดทุกคนจริงหรือ?…เอาจริงๆ ไม่หมดหรอกครับ การเกาะกระแสเป็นเรื่องไม่ผิด เพราะทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสโลก แต่ต้องไม่ลืมสถานะของบ้านเราว่าเป็นอย่างไร ดังนั้นจะต้องมีหลายๆ มิติมาช่วยขับเคลื่อนการศึกษา” เช่นเดียวกับการมานั่งบริหารงานที่ มทร.รัตนโกสินทร์ของอธิการบดีท่านนี้ ต้องรู้และเข้าใจแนวคิด รวมถึงต้องบริหารจัดการด้านการศึกษาในแบบหลายมิติ เพื่อให้ทุกกระบวนการเป็นไปตามเป้าหมายและนโยบายของมหาวิทยาลัยที่วางไว้

“ด้วยปณิธานของมหาวิทยาลัยฯ คือการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งสังคมการประกอบการ (The Leading University of Entrepreneurship) เป้าหมายในการผลิตนักศึกษาของเราจึงมุ่งเน้น ไปที่เมื่อนักศึกษาจบออกไปต้องมีงานทำทุกคน และสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข และนอกจากเด็กจะมีงานทำและดำรงชีวิตได้แล้ว พวกเขายังต้องไม่สร้างหรือเป็นปัญหาให้กับสังคมด้วย เพราะพวกเขาถือเป็นกำลังสำคัญในการช่วยพัฒนาชาติ ดังนั้นการผลิตบัณฑิตของเราจึงต้องมีเป้าหมายในหลายๆ เรื่อง”

แต่รู้หรือไม่ว่าการจะวางเป้าหมายให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ได้ ต้องคิดและวิเคราะห์เนื้อหาการเรียน รวมถึงการปรับเปลี่ยนคอนเทนต์ไปพร้อมกัน “จะมาบอกว่า ในอดีตเรามีการเรียนวิชาหน้าที่พลเมือง ศีลธรรม แต่วันนี้ไม่มีแล้ว ทว่า มทร.รัตนโกสินทร์ของเรา ได้นำกลับมาเรียนอีกครั้ง และเป็นหนึ่งในวิชาบังคับที่ทุกสาขาต้องเรียน รวมไปถึงวิชาประวัติศาสตร์ เราก็นำกลับมาให้เด็กๆ เรียนเหมือนกัน”

“ถึงการศึกษาในบ้านเราวันนี้จะเปลี่ยนไปตามกระแสโลกก็ไม่ว่ากัน แต่สิ่งที่เป็นรากเหง้าหรือสถานะประเทศเราเป็นอะไร ตรงนี้ต้องรู้และต้องยังคงอยู่ต่อไป อย่างวันนี้ ทำอย่างไรให้เด็กของเรารู้จักคำว่า เศรษฐกิจพอเพียง ทาง มทร.รัตนโกสินทร์ ก็นำประเด็นนี้มาให้เด็กๆ ได้เรียนรู้กัน ขณะเดียวกัน เรายังปลูกฝังแนวคิดด้านการศึกษาในด้านต่างๆ เช่น การมีคุณธรรม รู้จักความซื่อสัตย์ รู้จักให้เกียรติคน และอ่อนน้อมถ่อมตน” อาจเรียกได้ว่าเป็นคำตอบที่ชัดเจนที่สุดในความหมายของคำว่า “คนดี” อย่างที่ท่านอธิการบดีได้กล่าวไว้ข้างต้น

“ธรรมะเป็นอีกประเด็นที่เรานำมาสอน เพราะถ้าคุณเรียนธรรมะ ก็จะทำให้เกิดสติ เมื่อเกิดสติก็จะไม่มีโลภ โกรธ หลง แต่ที่ผ่านมาเราไม่ได้เรียน แต่วันนี้ มทร.รัตนโกสินทร์ของเราก็ได้นำมาเสริมในการเรียน เช่น การทำกิจกรรมหรือเชิญวิทยากรมาบรรยายธรรมะ จริงๆ เด็กทุกวันนี้จำเป็นต้องรู้วิชาดำรงชีวิต ธรรมะ และวิชาชีพ ควบคู่กับวิชาความรู้ทั่วไป เพื่อให้พวกเขานำไปทำมาหากินในอนาคต”

สร้างคนเท่ากับสร้างงาน

มุมมองการศึกษาในวันนี้จึงมีหลายมิติ ซึ่งหากพูดก็อาจจะง่าย แต่กลับทำยาก “บางอย่างสิ่งที่พูดอาจสวนทางกับสิ่งที่ทำก็ได้ ดังนั้นการทำงานด้านการศึกษา นอกจากจะต้องมีความเข้าใจ และมุ่งมั่นแล้ว ผู้ที่มาทำงานก็ต้องมีความเสียสละ ไม่ใช่เลียนแบบเขามาอย่างเดียว เพราะแต่ละประเทศก็มีจุดดีต่างกัน เหมือนกับที่ผมพูดทุกวันว่า ใครจะไปทางออโตเมชั่นก็ว่ากันไป แต่คนที่ไม่ใช่ออโตเมชั่น ก็ต้องปล่อยเขา เราต้องค่อยๆ ปรับ ค่อยๆ เปลี่ยน เหมือนกับ ใครถนัดทางไหนไปทางไหน แต่เป้าหมายหลักคือทุกคนต้องมีงานทำ เมื่อมีงานทำก็จะทำให้ไม่เป็นปัญหาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ ทุกอย่างในประเทศก็จะดีตามไปด้วย”

“เด็กเรียนพืชสวน เรียนพืชไร่ ถามว่าเขาเลี้ยงตัวเองได้ไหม แน่นอนว่าได้อยู่แล้ว ปลูกกล้วยก็กินเองได้ แต่ทุกวันนี้ปล่อยให้คนตกงานกันเยอะ หากเราปล่อยทุกอย่างเป็นออโตเมชั่นหมดก็เชื่อว่า สถานการณ์แรงงานในอนาคตอาจจะย่ำแย่มากขึ้น ลองคิดเล่นๆ ถ้าคนไม่มีงานทำ คนเหล่านี้จะทำอย่างไร เขาก็ต้องดิ้นรนเพื่อมีชีวิตรอด วิธีแก้ที่ดีที่สุดคือต้องให้เขามีอาชีพ” แต่จะทำอย่างไรให้พวกเขามีอาชีพ ตรงนี้คือประเด็นที่ท่านอธิการบดี มทร.รัตนโกสินทร์ มีความเป็นห่วง

“ปัญหาฉกชิงวิ่งราว เขาทำเพราะเขาไม่มีอาชีพ ไม่มีงานทำ สุดท้ายก็กลายเป็นปัญหาสังคม ผมเป็นห่วงเรื่องนี้มาก และพยายามที่จะทำให้เด็กของเรามีงานทำ มทร.รัตนโกสินทร์ มีโรงแรมราชมงคลชมคลื่น เพื่อตอบโจทย์สิ่งที่เราพูดมาตลอดว่า เราผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติ ซึ่งความหมายคือนักศึกษาของเราต้องรู้และทำได้จริง ฉะนั้นเราต้องมีสถานที่ให้เด็กฝึกปฏิบัติ หรือบางครั้งหากนักศึกษาคนไหนขาดแคลนหรือไม่มีทุนทรัพย์ ก็จะให้เขาไปทำงานพาร์ตไทม์ ได้ค่าแรงไว้ใช้จ่าย แต่จุดประสงค์หลัก เราเน้นทักษะในทางปฏิบัติ ถ้าเขารู้จริงในเชิงวิชาชีพหรือบางวิชาชีพ เขาไม่จำเป็นต้องไปเป็นลูกจ้างก็ได้”

อธิการบดี มทร.รัตนโกสินทร์ ยกตัวอย่างด้วยว่า นักศึกษาบางคนเรียนเกี่ยวกับเครื่องดื่มหรือฝึกเป็นบาร์เทนเดอร์ ขณะที่เขาอยู่ในจังหวัดท่องเที่ยว เขาก็สามารถนำความรู้ที่ได้ไปเปิดบาร์หรือคาเฟ่เล็กๆ ไม่จำเป็นต้องไปเป็นลูกจ้าง คนไหนมีศักยภาพก็ไปเป็นเจ้าของธุรกิจได้เลย แค่เราให้ทักษะที่จริงและถูกต้องกับเขา ไม่ใช่รู้แค่ทฤษฎีอย่างเดียว นี่จึงเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดที่ มทร.รัตนโกสินทร์ วางไว้ แล้วยังเป็นอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ในฐานะแหล่งผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติ และบัณฑิตเพื่อเป็นผู้ประกอบการตัวจริง

ความสำเร็จจากทักษะ

“ทุกวันนี้ เรามี 10 คณะวิชา ทั้งสายช่าง สังคมศาสตร์ ในหลักสูตรเราเน้นปฏิบัติ 70% ทฤษฎี 30% ซึ่งไม่ใช่แค่นักศึกษาเท่านั้นที่เราเน้นให้เขารู้จริง แม้แต่บุคลากรในมหาวิทยาลัย เรายังเน้นพัฒนาให้ครูอาจารย์รู้จริงในการปฏิบัติด้วย โดยในช่วงปิดภาคเรียนก็จะส่งครู อาจารย์แต่ละภาควิชาไปฝังตัวอยู่ในสถานประกอบการ เรียกว่า ไปฝึกเหมือนกัน เพราะเราถือว่าถ้าอาจารย์ทำไม่ได้แล้วเด็กจะทำได้อย่างไร ด้วยเหตุนี้ ทำให้แต่ละปีนักศึกษากว่า 90% ของเรา เมื่อจบออกไปก็มีงานทำทันที ส่วนอีก 10% ที่เหลือก็อาจจะไปเรียนต่อตามที่เขาต้องการ”

เรียกได้ว่าเป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งที่อธิการบดี มทร.รัตนโกสินทร์ ภูมิใจ แต่ยังไม่ถือเป็นที่สุด เพราะยังคงมีงานด้านการศึกษาอีกหลายเรื่องที่ต้องทำ “เราให้ความสำคัญเรื่องทักษะมาก ซึ่งสิ่งที่เรากำลังพยายามทำเพิ่มอีกอย่างคือ ทำอย่างไรให้เด็กที่จบจาก มทร.รัตนโกสินทร์ของเราสื่อสารภาษาอังกฤษได้คล่อง รวมถึงทำอย่างไรให้เด็กของเราทันต่อเทคโนโลยีที่พัฒนาอยู่ตลอดและสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งความรู้วันนี้เราสามารถหาจากไหนก็ได้ เพราะเรามีอินเทอร์เน็ต แต่ทักษะเราหาไม่ได้เอง จะได้มาก็ต้องปฏิบัติ และทักษะที่จะหาได้นั่นคือมหาวิทยาลัยเป็นช่องทางหนึ่ง โดยเฉพาะที่ มทร. รัตนโกสินทร์ เพราะที่นี่มีเครื่องมือพร้อม อาจารย์ผู้สอนของเราก็มีความพร้อมที่จะสอนให้เด็กๆ ปฏิบัติได้ด้วย”

ช่วงท้ายของการพูดคุย ผู้บริหารระดับสูงของ มทร.รัตนโกสินทร์ ยังได้บอกเล่าถึงความภูมิใจในฐานะอธิการบดีของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ว่า วันนี้ มทร.รัตนโกสินทร์ ถือได้ว่าประสบความสำเร็จกับการทำงานด้านการศึกษาแล้วในบางมิติ รวมทั้งมีนักศึกษาสมัครเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ถึง 4,000 คนต่อปี “นั่นเป็นเพราะเราไม่ได้สร้างแค่ทักษะ การเป็นผู้ประกอบการแบบมืออาชีพให้เด็กๆ เท่านั้น แต่สถาบันแห่งนี้ ยังได้ปลูกฝังแนวคิด ระเบียบวินัย รวมถึงทัศนคติที่ดีในการอยู่ร่วมกับสังคม เพื่อสุดท้ายแล้วนักศึกษาเหล่านั้นจะได้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม รวมถึงสติปัญญาที่จะช่วยพัฒนาและสร้างความแข็งแกร่งให้ตนเองและประเทศชาติต่อไป”

สั่งจองนิตยสาร Howe โดยไม่ต้องรอหาตามแผงสั่งได้ที่
Line : Howemagazine
  Fanpage : Howemagazine
รายละเอียดการสั่ง (คลิ๊ก)

  อ่านนิตยสาร Howe Magazine ออนไลน์ได้ที่

Ookbee-Logo
LOGO-MEB-2017
Facebook Comments

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.