“ศศิวิมล สิงหเนตร” สานต่อ-ตั้งใจ สร้างสังคม “มีสุข” ให้คนสูงวัย

0
1720

ถามว่าหากคุณทำงานในบริษัทมั่นคง มีเงินเดือนหลายแสน มีชีวิตในเมืองหลวงอย่างมีความสุข ซื้อทุกสิ่งได้อย่างต้องการ…คุณกล้าที่จะทิ้งสิ่งเหล่านี้แล้วหันกลับไปสู่บ้านเกิดหรือไม่?…หลายคนคงส่ายหน้าและคงบอกว่า “กล้าทิ้งก็บ้าแล้วล่ะ” เพราะรายได้มหาศาลขนาดนั้นสามารถบันดาลความสุขได้ทุกอย่างตามที่ต้องการ

ทิ้งเงินหลักแสน ค้นหาความสุขที่แท้จริง

ทว่า นั่นไม่ใช่สิ่งที่ “ตุ้ม-ศศิวิมล สิงหเนตร” Founder & Happy Director แห่ง “มีสุข โซไซตี้” คิดในวันนั้น เพราะเธอยอมทิ้งชีวิตในเมืองหลวงกับรายได้หลายแสนแล้วกลับมาอยู่กับครอบครัว พร้อมใช้ความรู้ที่มีสานต่อธุรกิจที่สร้างความสุขให้กับสังคมผู้สูงวัย “หลังจากจบปริญญาตรีพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็เข้ากรุงเทพฯ ค่ะ ไปเรียนปริญญาโทการตลาด คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) และทำงานไปด้วย ซึ่งงานส่วนใหญ่ที่ทำตอนนั้นเกี่ยวกับธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ทำให้เรามีรายได้ไม่ต่ำกว่า 3 แสนบาทต่อเดือน อยากได้อะไรซื้อหมด เรียกว่ามีความสุขมากกับการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ค่ะ”

20 ปีกับการทำงานและใช้ชีวิตอย่างมีความสุข กระทั่งวันที่คุณน้า (รศ.พญ.ศิวาพร จันทร์กระจ่าง) ได้มาให้ข้อคิดในการใช้ชีวิต “ช่วงนั้นบอกเลยว่าไม่ได้คิดอะไรจริงๆ ทำงานแล้วก็สนุกกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง จนวันที่คุณน้ามาถามว่าเมื่อไหร่จะกลับบ้าน (เชียงใหม่) จะมัวหาเงินเพื่ออะไร บ้านเราก็มี ถ้าวันหนึ่งกลับมาบ้านแล้วไม่มีแม่ ไม่มีน้าอยู่ ตุ้มจะมีความสุขไหม กลับมาช้าเวลาที่มีก็จะเหลือน้อยลงด้วย และเราก็ไม่สามารถย้อนเวลากลับมาได้นะ”

จากแรงบันดาลใจสู่ “มีสุข โซไซตี้”

“คำพูดของคุณน้าวันนั้น เราก็ยังไม่คิดอะไรนะ จนวันที่คุณแม่ (รศ.ศิริพร สิงหเนตร อาจารย์ภาควิชาบริหารการพยาบาล) มีอาการป่วยเป็นเส้นเลือดในสมองตีบ เราแค่กลับมาเยี่ยม รอบกายคุณแม่มีแต่ลูกศิษย์พยาบาลคอยดูแล สะท้อนภาพที่เห็นว่าเรามัวทำอะไรอยู่ ใช้เวลาแต่ละวันอย่างไร้ประโยชน์ในความสุขฉาบฉวย ทำให้เราได้คิดอะไรหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องความสุขที่แท้จริงที่คุณน้าตอกย้ำมาตลอด พอกลับมากรุงเทพฯ ก็ไปขอลาออกกับเจ้านายเลยค่ะ เป็นการลาออกล่วงหน้า 6 เดือน เพื่อส่งต่องานให้คนต่อไป”

“วันที่กลับมาบ้านก็ยังไม่ได้คิดหรือวางแผนจะทำอะไรต่อ แค่อยากกลับมาดูแลแม่ก่อน ขณะที่คุณน้าซึ่งเกษียณแล้วก็มาเปิดคลินิกส่วนตัวและเนอร์สซิ่งโฮมดูแลผู้ป่วยทางด้านสมอง สมองเสื่อม (Dementia) อัลไซเมอร์ (Alzheimer’s) และพาร์กินสัน (Parkinson’s) ซึ่งเป็นโรคในผู้สูงอายุ ก็เลยให้เรามาช่วยดูแลด้านการจัดตั้งระบบการจัดการและการตลาด เพราะเห็นว่าเรามีประสบการณ์ทางด้านนี้มาพอสมควร และหลังจากได้ศึกษาข้อมูลด้านผู้สูงอายุก็เห็นว่า ตลาดผู้สูงอายุเป็นตลาดที่ใหญ่มากและมีแนวโน้มโตขึ้นเรื่อยๆ” และนั่นก็เป็นจุดเปลี่ยนอีกครั้งของผู้หญิงคนนี้ โดยได้แรงบันดาลใจจากคุณน้าและคุณแม่ของเธอเอง

จากเนอร์สซิ่งโฮมสู่ “มีสุข โซไซตี้”

อย่างที่บอก ตลาดผู้สูงอายุเป็นตลาดใหญ่มาก ขณะที่ตัวของเรามีความรู้เรื่องอสังหาริมทรัพย์ และบ้านของเรามีที่ดินอยู่ ก็เลยนำเข้าสู่กระบวนการอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างมีสุข โซไซตี้ ขึ้นมา หลังจากที่ก่อนหน้านี้เราได้ทำวิจัยจากผู้สูงอายุจนรู้ว่าผู้สูงอายุต้องการอะไรบ้างในโครงการ ทั้งสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงการดูแลผู้สูงอายุโดยทีมเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการอบรมมาเป็นอย่างดี ตลอดจนระบบการรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมงที่มากกว่าความปลอดภัยของทรัพย์สิน แต่ยังเตรียมพร้อมสำหรับทุกกรณีฉุกเฉินด้านสุขภาพไว้อีกด้วย”

“มีสุข โซไซตี้ ไม่ได้ดูแลแค่สุขภาพร่างกายของผู้สูงอายุ แต่ยังดูแลจิตใจไปพร้อมกัน คุณแม่ ซึ่งเป็นหลักในการจัดการอบรมบุคลากรจะให้ข้อคิดเสมอว่า เราต้องดูแลทุกคน ตั้งแต่ผู้สูงวัย ญาติของลูกค้า และเจ้าหน้าที่ทุกคนในโครงการ ให้มีความสุขทุกวันครบถ้วน ตั้งแต่ร่างกาย อารมณ์ จิตใจ และสังคม ทำให้การคัดสรรพนักงาน เราจึงมีการคัดเลือกมาเป็นอย่างดี โดยไม่เพียงต้องมีจิตใจในการให้บริการ รักและชอบดูแลผู้สูงอายุเท่านั้น แต่พวกเขาต้องเข้าใจในตัวของผู้สูงอายุด้วย เรียกง่ายๆ ว่าจะต้องมีความเป็น ‘มีสุข’ เหมือนกับเราด้วย เพื่อทำให้ผู้สูงอายุมีความสุขที่สุด นอกจากการสร้างความสุขในการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมแบบครอบครัวแล้ว ทุกกิจกรรมที่มีสุขยังถูกจัดขึ้นตามความพอใจและความเหมาะสมกับผู้อยู่แบบเป็นรายบุคคล ในลักษณะ Tailor Made หรือ Customized จริงๆ ยกตัวอย่างเช่น การไปชอปปิงไปทำบุญ หรือแม้แต่ไปรับประทานอาหารด้วยกัน” ดังนั้นจึงไม่แปลกใจว่าทำไมผู้สูงอายุที่ “มีสุข โซไซตี้” จึงมีความสุขกันทุกคน เพราะที่นี่ไม่ได้เป็นแค่บ้านอีกหลัง แต่เป็นอีกครอบครัวของทุกท่านอีกด้วย

“มีสุข” กระจายความสุขสู่ชุมชน

จุดเด่นอีกอย่างของมีสุข โซไซตี้ คือ การสร้างความสุขให้กับชุมชนโดยรอบ “อย่างที่บอกค่ะ มีสุขของเราไม่ได้แค่จะทำให้คนที่อาศัยมีความสุขในทุกด้านแค่นั้น ทุกๆ คนที่อยู่ในชุมชนรอบมีสุขก็มีความสุขไปกับเราด้วยเหมือนกัน เริ่มจากงาน เราเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่เข้ามาสมัครและทำงานกับเรา ซึ่งไม่ใช่แค่เขาจะมีรายได้ มีเงินเดือนเลี้ยงดูครอบครัว แต่เขายังได้ความรู้ ความเข้าใจเรื่องการดูแลผู้สูงอายุของที่นี่ไปดูแลครอบครัวของเขาด้วย”

…ด้วยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในทุกเรื่องของผู้สูงวัย “มีสุข โซไซตี้” จึงเป็นกรณีศึกษาที่จับต้องได้ สำหรับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่สนใจตลาดผู้สูงวัย “มีสุข โซไซตี้”พร้อมต้อนรับทุก ๆ ท่านทั้งในฐานะที่ปรึกษาหรือผู้ร่วมพัฒนาเพื่อสร้างสังคมเป็นสุขให้ยั่งยืน…

สั่งจองนิตยสาร Howe โดยไม่ต้องรอหาตามแผงสั่งได้ที่
Line : Howemagazine
  Fanpage : Howemagazine
รายละเอียดการสั่ง (คลิ๊ก)

  อ่านนิตยสาร Howe Magazine ออนไลน์ได้ที่

Ookbee-Logo
LOGO-MEB-2017
Facebook Comments

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.