เอพริล ศรีวิกรม์ “ดิจิทัล” โลกอีกใบของผู้หญิงเก่ง

0
1970
เอพริล ศรีวิกรม์

นับตั้งแต่มีคำว่า “ดิจิทัล” ขึ้นมา หลายคนอาจมองว่า จะต้องเป็นเรื่องของผู้ชายเท่านั้น แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง แล้ว “ผู้หญิง” ก็มีความสามารถในเรื่องของ “ดิจิทัล” ไม่แพ้ผู้ชายเลยแม้แต่น้อย


“เอพริล ศรีวิกรม์” Country Manager, Google Cloud Google ประเทศไทย เวียดนาม และ ฟิลิปปินส์ อาจเรียกว่า เป็นผู้หญิงไทยยุคใหม่ ที่ตอบคำถามความสามารถของผู้หญิงกับประเด็น “ดิจิทัล” ได้เป็นอย่างดี เพราะเธอเป็นผู้หญิงไทย เพียงไม่กี่คน ที่ได้เข้ามาทำงานร่วมกับองค์กรธุรกิจดิจิทัลระดับโลก และเป็นอีกหนึ่งองค์กรธุรกิจที่มีส่งเสริมให้เกิดการเติบโตให้กับหลายธุรกิจทั่วโลก และยังเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจโลก เดินหน้าต่อไปได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน


บทบาทหน้าที่
เมื่อมองถึงบทบาทหน้าที่ของผู้หญิงคนนี้ “เอพริล” เล่าว่า งานหลักของเธอ คือ การดูแลหน่วยงาน กูเกิล คลาวน์ “เรามีหน้าที่ช่วยเหลือองค์กรต่างๆ ที่เป็นลูกค้าของเรา ช่วยคิดกลยุทธ์ และการบริหารจัดการ Digital Translation รวมถึง การช่วยสนับสนุนให้แต่ละองค์กรสามารถใช้เครื่องมือดิจิทัลที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างการปรับเปลี่ยนระบบการทำงาน Business Process ตลอดจนวัฒนธรรมองค์กร ไปพร้อมๆ กับการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ในการเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น” หรืออาจเรียกง่ายๆ ว่า เธอ มีหน้าที่เข้าไปช่วยองค์กร ใช้นวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะ นวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วย Data เป็นหัวใจสำคัญ


“จริงๆ ดิจิทัลเทคโนโลยี เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายองค์กรมาระดับหนึ่งแล้ว แต่พอเกิดวิกฤตโควิด-19 ภาพของดิจิทัล ก็ยิ่งชัดเจนมากขึ้น ซึ่งโควิด-19 กลายเป็นตัวเร่งให้การใช้ดิจิทัล เทคโนโลยี ให้เร็วมากขึ้น” สอดรับกับงานวิจัยหนึ่งที่เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า ระยะเวลาการดำเนินโครงการดิจิทัลของแต่ละองค์กรมีความเร็วขึ้น 3-4 ปี ทั่วโลก

“ด้วยขนาดของโครงการที่ใหญ่ขึ้น และครอบคลุมการทำงานมากขึ้น ทำให้เราเห็นน้ำหนักการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน ที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน โดยเฉพาะ โครงสร้างขององค์กร” ผู้หญิงเก่งคนนี้ย้ำว่า ภายในปี 2025 การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยดิจิทัลเทคโนโลยี อาจจะโตไปถึง 1.6 แสนล้านบาท เลยทีเดียว


“จะว่าไปแล้ว การทำงานของเราร่วมกับลูกค้า ไม่ได้ช่วยแค่ในส่วนของ โปรดักซ์โซลูชั่น อย่างเดียว แต่เรายังถือเป็นผู้ที่นำวัฒนธรรมการเปลี่ยนแปลงมาสู่แต่ละองค์กรอีกด้วย เช่น การให้คำแนะนำว่า ทำอย่างไรให้ ดีเอ็นเอ ของ อินโนเวชั่น หรือ การบริหารจัดการ ถูกส่งต่อไปเป็นการเรียนรู้สำหรับลูกค้า ซึ่งตรงนี้มีความสำคัญมากขึ้นในยุคสมัยนี้”

“เอพริล ศรีวิกรม์” Country Manager, Google Cloud Google ประเทศไทย เวียดนาม และ ฟิลิปปินส์

ดิจิทัล กับผู้สูงวัย

ด้วยประสบการณ์ในตัวของ “เอพริล” ที่เคยทำงานในองค์กรใหญ่ระดับประเทศ อาทิ ตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักกลยุทธ์องค์กร บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา ทำให้เธอไม่ได้มองแค่การทำงานกับกลุ่มคนที่เน เจเนอเรชั่นใหม่เท่านั้น “แต่วันนี้ ภาพที่เห็นคือ แพลตฟอร์มต่างๆ เริ่มให้ความสำคัญในเชิงการศึกษากับกลุ่มเจเนอเรชั่น รุ่นก่อน หรือ กลุ่มสูงวัย เพื่อการเข้าถึงเครื่องมือเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ผู้สูงวัยรู้สึกเหมือนอยู่โดดเดี่ยว โดยเฉพาะในต่างประเทศ


“ตรงนี้เอง เราเองมองว่า กลุ่มผู้สูงวัยยังมีความสำคัญในองค์กร เพราะหากมองในเชิงธุรกิจ คนกลุ่มนี้ ถือเป็นความท้าทายของหลายองค์กร ในการเปลี่ยนแปลงไปสู่ การเป็นองค์กร ดิจิทัล เทคโนโลยี เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการทำงาน ซึ่งสิ่งนี้จะมีนัยยะสำคัญที่เราเรียกว่า Digital Workforce เพราะทุกวันนี้ แต่ละบริษัทจะมีคนทำงานอยู่ด้วยกันถึง 3 เจเนอเรชั่น ตั้งแต่ผู้บริหาร ไล่ไปจนถึง ผู้ปฏิบัติงานที่เป็นเด็กรุ่นใหม่”


เอพริลอธิบายให้ฟังว่า แต่ละเจเนอเรชั่น จะมีความคิดแตกต่างกัน รวมถึงวิธีการสื่อสาร และความแตกต่างในการจัดลำดับความสำคัญ “จึงเป็นจุดสำคัญที่ว่า เราจะทำอย่างไรให้คนรุ่นเก่า และคนรุ่นใหม่ในองค์กร มาช่วยกันขับเคลื่อนองค์กรให้เดินหน้าไปได้ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และทั้งหมดจะทำได้ เราต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้ ทั้งการแชร์ความคิด และประสบการณ์ของแต่ละคน แต่ละช่วงวัย ขณะเดียวกัน ก็ต้องสร้าง เป้าหมายในแต่ละมิชชั่น และสุดท้าย คือการรับฟังอย่างเปิดใจ ซึ่งทั้งหมดจะช่วยทำให้เกิดการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในองค์กร เป็นไปอย่างราบรื่น”


มุมมอง ดิจิทัล กับความเป็นส่วนตัว

เรื่องของความเป็นส่วนตัว เป็นอีกหัวข้อที่ทีมงาน HOWE Magazine ถามกับ Industry Head, Google Thailand คนนี้ เพราะดูเหมือนว่า ยิ่ง ดิจิทัล เทคโนโลยี เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ก็ทำให้ชีวิตการทำงาน และ ชีวิตส่วนตัว แทบจะแยกออกจากกันไม่ได้เลย “ทั้งนี้ ทั้งนั้น ตัวของเอ มองว่า เป็นความยืดหยุ่นของแต่ละคน ซึ่งคำจำกัดความของคำว่า Work Life Balance แต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ไม่ใช่ทุกคนที่บอกว่า วันหยุดเสาร์ และ อาทิตย์ เป็นความลับ ห้ามแตะ แต่บางคนอาจบอกว่า ทำงานวันเสาร์ครึ่งวันก็ได้”


เอพริล อธิบายส่วนนี้ ให้ฟังด้วยว่า ก่อนอื่นเลย เราต้องถามก่อนว่า อะไรสำคัญสำหรับแต่ละคน หรือ ทีมทำงาน รวมถึง องค์กรเอง “เราควรสร้างความยืดหยุ่นนี้อย่างไร การตอบโจทย์ของแต่ละก็ไม่เหมือนกัน แล้วเราจะปรับตัวอย่างไรกับโลก ที่มีดิจิทัล เทคโนโลยี เข้ามาอยู่ในชีวิตของทุกคน ซึ่งส่วนนี้ กูเกิลเอง ก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วม ที่จะช่วยทุกคน และทุกองค์กร ให้รู้สึกว่า เขามีเครื่องมือดิจิทัล ที่จะมาช่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
หาความบาลานซ์ให้ชีวิต


ผู้หญิงเก่ง แห่งกูเกิล บอกอีกว่า หากอยากจะให้ชีวิตการทำงาน และ ชีวิตไลฟ์สไตล์ มีความสุข ก็จำเป็นต้องสร้างความบาลานซ์ของชีวิตให้ดีก่อน “สำหรับตัวเอง เป็นคนทำงาน และมีลูกด้วยแล้ว ถือเป็นคนโชคดีมาก ที่มีคนมาคอยซับพอร์ตทั้งในเรื่องของงาน และ ชีวิตครอบครัวเป็นอย่างดี แต่หากเราต้องการให้ชีวิตการทำงานดี และชีวิตส่วนตัวก็ดี จะต้องคิดหาความบาลานซ์ ชีวิตตัวเองให้ได้ก่อน ซึ่งเราเองก็ต้องยอมรับว่า สิ่งสำคัญสำหรับเรา คงจะไม่สามารถทำทุกอย่างได้พร้อมกัน ดังนั้น เราเองก็จะต้องเปิดใจคุยกับ คนในครอบครัวของเราก่อนอย่างตรงไปตรงมา ว่างานของเราเป็นแบบนี้ และทำความเข้าใจกันระหว่างคนในครอบครัว เราก็จะรู้สึกถึง ความบาลานซ์ของชีวิตแล้ว”


กระนั้นก็ตาม ความบาลานซ์ในชีวิตของเธอคนนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องของการทำงาน และ การดูแลครอบครัว แต่ยังมีเรื่องของการเดินทางเข้ามาร่วมอยู่ด้วย “แพสชั่นหนึ่งของเรา คือ การเดินทาง ซึ่งก่อนเกิดโควิด-19-19 เดินทางไปท่องเที่ยวมาแล้ว 115 ประเทศ ขณะที่สามีทำสถิติไว้ที่ 135 ประเทศ ซึ่งตอนนั้น เรากำลังทำสปีดได้ดีมาก แต่พอเจอโควิด-19-19 ก็หมดกันเลยค่ะ คงต้องมาวางแผนกันใหม่ว่า หลังจากโควิด-19-19 เราจะไปต่อยอดการเดินทางที่ไหน ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว คิดเอาไว้ว่า อยากจะไปประเทศที่ยังไม่ได้ไป ในโซนแอฟริกา แต่ก็ไม่รู้ว่า หลังจากนี้ จะไปยากขึ้นหรือเปล่า”


ความภูมิใจ กับการทำงาน
ในช่วงสุดท้าย ก็ขอถามถึงความภูมิใจ กับการทำงาน ในองค์กรระดับโลกอย่างกูเกิลของผู้หญิงคนนี้สักหน่อย “ก็รู้สึกภูมิใจค่ะ ที่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งในองค์กร ที่ช่วยการขับเคลื่อน และปลดล็อกให้กับหลายธุรกิจที่ปรับตัวในยุคดิจิทัล เราก็รู้สึกว่า ตอนนี้ กูเกิล ให้โอกาสเราสามารถช่วยทรานฟอร์ม บริษัท ในระดับที่กว้างมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา เราอาจเคยทำงานให้กับองค์กรเพียงองค์กรเดียว แต่พอมาทำงานที่กูเกิล เราไม่ใช่ทำแค่องค์กรเดียวแล้ว แต่เราได้ทำงานกับหลายๆ องค์กร พร้อมกัน และไม่ใช่แค่มุมมองของการเป็นที่ปรึกษาเท่านั้น แต่เรายังต้องอยู่กับลูกค้าในทุกขั้นตอนอีกด้วย”


เอพริล เสริมด้วยว่า เธอรู้สึกสนุกกับการทำงานมากขึ้น แม้จะเจอปัญหาที่แตกต่างกันไป แต่ก็ทำให้เธอ ได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน “บางทีเรามองจากองค์กรที่เป็นดิจิทัลเนทีฟ พอไปทำความเข้าใจ และหาทางแก้ไข โดยเฉพาะ องค์กรแบบดั้งเดิม ที่เติบโตขึ้นมาเป็น องค์กรระดับเอ็นเตอรไพรส์ ซึ่งนั่น ก็เหมือนทำให้เราได้เข้าไปผจญภัยร่วมกับลูกค้า และสร้างทุกอย่างให้เกิดขึ้นไปด้วยกัน”


…เอพริล ศรีวิกรม์ เป็นอีกหนึ่ง ผู้หญิงเก่ง ที่บอกเลยว่า รู้ และ เข้าใจเรื่อง ดิจิทัล เทคโนโลยี ไม่แพ้ผู้ชายเลยแม้แต่น้อย…

Facebook Comments

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.