เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ที่โรงแรมเอเซีย พญาไท มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) ร่วมกับเครือข่ายสื่อสร้างสรรค์เพื่อการขับเคลื่อนสังคม ได้มีการจัดประชุมเสวนาระดมความเห็นเรื่อง “มองหลากมุม 15 ปี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง” เนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยมีนักวิชาการ ภาคีภาคประชาสังคมและนักการเมืองรวมทั้งสื่อมวลชน เข้าร่วมอย่างคับคั่ง
ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาการสุขภาพ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นักวิจัยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า ข้อมูลการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และผลกระทบเปรียบเทียบช่วงก่อนและหลัง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บังคับใช้ พบว่า สัดส่วนผู้บริโภคแอลกอฮอล์ในปี 2550 อยู่ที่ 30.0% ส่วนปี 2564 อยู่ที่ 28.0% ลดลง 2% โดยเพศชายลดจาก 52.3% เหลือ 46.4% หรือลดลง 5.9% ส่วนเพศหญิงกลับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 1.7% เมื่อจำแนกตามกลุ่มอายุ พบว่ากลุ่มอายุ 15-19 ปี และอายุ 60 ปีขึ้นไป มีการดื่มลดลง ส่วนกลุ่มอายุ 20-49 ปี มีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนักคือน้อยกว่า 1% ในขณะที่ผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์เช่นเมาแล้วขับช่วงเทศกาลปีใหม่ ลดลงจาก 37.8% ในปี 2551 เหลือ 25.6% ในปี 2565 หรือลดลง 12.2% ส่วนเมาแล้วขับช่วงเทศกาลสงกรานต์ ลดลงจาก 35.5% ในปี 2551 เหลือ 26.0% ในปี 2565 หรือลดลง 9.5%
นักวิจัยจากศูนย์วิจัยปัญหาสุรากล่าวต่อว่าการมีกฎหมายฉบับนี้ส่งผลให้การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงและยังช่วยลดผลกระทบจากปัญหาการเมาแล้วขับด้วย ทั้งนี้ในการสำรวจความเห็นของประชาชนต่อมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายใต้ พ.ร.บ.ดังกล่าว เมื่อเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา พบว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยและสนับสนุนให้จำกัดสถานที่จำหน่ายถึง 94.5% จำกัดช่วงเวลาจำหน่าย 93.1% และจำกัดการโฆษณา 91% มีเพียง 5.5% ที่ไม่เห็นด้วยกับมาตรการจำกัดสถานที่จำหน่าย อีก 6.9% ไม่เห็นด้วยกับการจำกัดเวลาจำหน่าย และ 9% ไม่เห็นด้วยกับการจำกัดการโฆษณา อย่างไรก็ตามควรจะมีการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะปัจจุบันมีการเติบโตของโซเชียลมีเดียและการเกิดขึ้นของทุนขนาดเล็ก ซึ่งควรให้โอกาสได้เติมโต แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีมาตรการในการควบคุมทุนแอลกอฮอล์ขนาดใหญ่ให้มากขึ้น
ด้านนายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานภาคีเครือข่ายป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า เมื่อ 15 ปีที่แล้ว แม้จะมีกลุ่มทุนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขนาดใหญ่เคลื่อนไหวคัดค้านการออกพ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ภาคประชาชน รวมถึงประชาชนกว่า 13 ล้านคน ได้ร่วมกันผลักดันจนกฎหมายออกมาบังคับใช้เมื่อปี 2551 เจตนารมณ์สำคัญคือการป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ คุ้มครองสุขภาพประชาชน และลดผลกระทบทางสังคม สาระสำคัญนอกจากมีกลไกรับผิดชอบระดับนโยบายและปฏิบัติรวมทั้งมีสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แล้วกฎหมายได้กำหนดสถานที่ห้ามขาย ห้ามขายให้ผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปีและคนเมาครองสติไม่ได้ การจำกัดวิธีการขายและห้ามส่งเสริมการขาย การควบคุมการโฆษณา รวมถึงการบำบัดฟื้นฟูผู้ที่ติดสุราด้วย ส่งผลให้ลดจำนวนนักดื่มและจำกัดการดื่มให้อยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม รวมทั้งการจำกัดการเข้าถึงทำให้เพิ่มพื้นที่ปลอดภัยต่อสังคมโดยรวม
อย่างไรก็ตามนายธีรภัทร์ ยอมรับว่า 15 ปีที่ผ่านมาแม้กฎหมายจะมีข้อดีหลายอย่างแต่ก็พบปัญหาในทางปฏิบัติที่ทุกฝ่ายต้องหาทางป้องกันแก้ไขต่อไป เช่น ธุรกิจแอลกอฮอล์ใช้ตราสัญลักษณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปโฆษณาสินค้าประเภทอื่นเช่นน้ำดื่ม โซดาหรือที่เรียกกันว่าตราเสมือน ทำให้คนนึกถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ดี การขาดแนวปฏิบัติหรือเกณฑ์พิจารณาลักษณะผู้ซื้อที่เข้าข่ายเมาครองสติไม่ได้ การขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่ยังพบได้ทั่วไปในร้านค้ารายย่อยและผับบาร์ รวมทั้งการเข้าถึงการบำบัดฟื้นฟูของผู้ติดสุรายังมีข้อจำกัดอยู่พอสมควร ดังนั้นถึงเวลาที่ต้องปรับปรุงพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ทันกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปแต่ยังคงรักษาเจตนารมณ์เดิมไว้อย่างเคร่งครัดไม่ทำให้กฎหมายอ่อนแอลง ซึ่งจากการพูดคุยกับกลุ่มผลักดันพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ก็พบจุดร่วมในหลายประเด็น เช่น การลดทุนผูกขาด การจัดการเรื่องตราเสมือนซึ่งเป็นความฉ้อฉลที่ทุนสุรารายใหญ่ได้เปรียบ รวมทั้งการอบรมผู้ขายให้มีทักษะมากขึ้น
นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สส. กทม. พรรคก้าวไกล กล่าวว่า พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นกฎหมายที่ดีในแง่ของการควบคุม แต่ยังมีปัญหาในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ส่วนเนื้อหาที่อยากจะให้มีการแก้ไขคือให้มีการโฆษณาได้ โดยห้ามโฆษณาที่เข้าถึงเด็กที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ลงมา หรืออาจจะกำหนดวงเงินในการโฆษณาของธุรกิจแอลกอฮอล์รายใหญ่เพื่อไม่ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกับผู้ผลิตรายย่อย ส่วนเรื่องข้อเสนอให้มีการแก้กฎหมายห้ามใช้สัญลักษณ์หรือตราเสมือนเดียวกัน สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำดื่ม โซดา นั้นก็เห็นด้วยเช่นดียวกัน จากเวทีเสวนาในวันนี้ทุกฝ่ายเห็นร่วมกันว่าทำอย่างไรถึงจะจำกัดบทบาทของธุรกิจแอลกอฮอล์ที่เป็นทุนขนาดใหญ่ แล้วเปิดโอกาสให้คนเล็กคนน้อยที่เป็นทุนขนาดเล็กได้มีบทบาทมากขึ้น เพื่อลดการผูกขาด ส่วนการขับเคลื่อน หลังจากนี้ก็ต้องรอผลการเลือกตั้ง สส. และสภาชุดใหม่ จะเป็นอย่างไร โดยส่วนตัวถ้าได้กลับมาเป็น สส. ก็จะผลักดันเรื่องนี้ร่วมกับ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อไป
ด้านสื่อมวลชนที่เข้าร่วมประชุมเสวนาได้แสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจ เช่น นายเทพสิทธิ์ โมฬีชาติ บรรณาธิการบริหาร ชมรมคอลัมนีสต์ นักจัดรายการวิทยุฯ กล่าวว่า การมีกฎหมายฉบับนี้เป็นสิ่งที่ดีแล้ว ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทำงานได้ผล เพราะคนดื่มแอลกอฮอล์ไม่เพิ่มขึ้น แต่ยังมีปัญหาเรื่องบังคับใช้กฎหมาย และเห็นด้วยกับการห้ามใช้ตราสัญลักษณ์เดียวกัน ส่วนนายสุเมธ จันสุตะ บรรณาธิการข่าว สำนักข่าวยุทธศาสตร์ออนไลน์ เสนอว่า ควรมีกฎหมายหรือข้อห้าม ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มีบทบาทในการกำกับดูแลเรื่องแอลกอฮอล์ ไปรับตำแหน่งต่าง ๆ ในธุรกิจแอลกอฮอล์หลังเกษียณอายุราชการ เพราะเป็นผู้ที่รู้เรื่องกฎระเบียบต่าง ๆ ที่จะมีผลต่อการเอื้อประโยชน์ของธุรกิจแอลกอฮอล์ ในขณะที่ นายศักดา แซ่เอียว การ์ตูนนีสต์ จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ แสดงความเห็นว่า กฎหมายดีอยู่แล้ว แต่จะต้องทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ โดยการบังคับใช้กฎหมาย ควบคู่ไปกับการให้ความรู้เรื่องสุขภาพ เห็นด้วยกับการห้ามใช้ตราเสมือน ส่วนเรื่องข้อเสนอให้โฆษณาได้ ตนมองว่า ยิ่งโฆษณามาก จะทำให้คนหันมาดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น