วันนี้ใครเห็นสัญลักษณ์สีม่วง สีขาว และรูปวีนัส ในโซเชียลมีเดีย หรือสื่อต่างๆ ไม่ต้องแปลกใจ
นั่นคือ สัญลักษณ์แห่ง วันสตรีสากล (International Women’s Day หรือ IWD)
ย้อนไปถึงเหตุการณ์ในปี 1897 และอีกครั้งใน ปี 1907-1908 ที่สาวๆ ในอเมริกานับหมื่นเดินขบวนเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาทำงานลงจาก 12-15 ชม. เหลือวันละ 8 ชม. และขอเพิ่มค่าแรงแบบไม่เอารัดเอาเปรียบ รวมถึงให้ผู้หญิงมีสิทธิ์เลือกตั้ง
โดยขอเรียกร้องดังกล่าวเหล่านี้เป็นผลสำเร็จ ในอีก 2-3 ปีถัดมา เมื่อตัวแทนสตรีกว่า 10 ประเทศทั่วโลก เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยม ที่ เดนมาร์ก เพื่อเดินหน้าข้อตกลง สาม 8 คือ 8-หนึ่ง ลดเวลาทำงานเหลือเพียงวันละ 8 ชม. 8-สอง มีเวลาพักผ่อนวันละ 8 ชม. และ 8-สาม มีช่วงศึกษาหาความรู้ และพัฒนาตัวเอง 8 ชม.
พร้อมทั้งกำหนดค่าแรงสาวๆ ให้เท่าเทียมกับแรงงานชาย รวมไปถึงสวัสดิการของสตรีและแรงงานเด็กด้วย
และการรำลึกถึงข้อเรียกร้องนี้ ทำให้ การมีวันสตรีสากล ค่อยๆ ขยายตัวไปยังหลายประเทศในยุโรป ในปีต่อๆ มา กระทั่งถูกกำหนดวันอย่างเป็นทางการ ในปี 1921 และเลิกฮอตฮิตไประยะหนึ่ง กระทั่ง 1960 เมื่อลัทธิสตรีนิยมเติบโต องค์การสหประชาชาติจึงสนับสนุนให้วันนี้กลับมามีความสำคัญอีกครั้งในช่วงปลายศตวรรษที่ 20
ความหมายของสีในสัญลักษณ์ ในอดีตและวันนี้
สีม่วง หมายถึง ความยุติธรรมและศักดิ์ศรี
ซึ่งแต่เดิมมี สีขาวและเขียวด้วย
สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์
สีเขียว หมายถึง ความหวัง
ภายหลัง นิยาม สีขาว-ความบริสุทธิ์ อาจหลายๆคนมองว่าไม่เปิดกว้าง และสุดท้ายคงไว้เพียงสีม่วงแห่งความเป็นธรรมเท่านั้น
ส่วนวีนัส คือ สัญลักษณ์แห่งสตรี นั่นเอง เกิดขึ้นในระลอกสองของความนิยมหลังปี 1960
นับเวลาจาก 1910 จนถึงวันนี้เป็นเวลา 112 ปีแล้ว
คุณๆ ที่มี คนในปกครอง ไม่ว่าจะเป็น สาวน้อย สาวสูงวัย โปรดอย่าลืมปฏิบัติกับเขาอย่าง เท่าเทียม และเป็นธรรม
อ้างอิงข้อมูล สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมป์ และ ศิลปวัฒนธรรม