“คุณกลาง-ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) หนึ่งในบุคคลสำคัญที่ช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยพัฒนาก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและเติบโต รวมทั้งยังส่งมอบคุณค่า “Soft Power of Thailand” ผ่านกลยุทธ์ Year of Soft Power Collaborations โดยร่วมมือกับพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้การท่องเที่ยวไทยเติบโตด้วย Amazing Experience ผ่าน 5F ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาหาร ภาพยนตร์ กีฬามวยไทย แฟชั่นและเทศกาล ส่วนตัวเธอเองเป็นอีกหนึ่งคนที่หลงรัก “ผ้าไทย” ที่งดงาม และมีเอกลักษณ์ ซึ่งเธอเชื่อมั่นว่าด้วยศักยภาพของประเทศ และแผนงานของ ททท. ที่ได้วางไว้ จะสามารถขับเคลื่อนให้การท่องเที่ยวไทยเติบโตด้วยการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ทรงคุณค่า และมุ่งสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน
“ดิฉันมองว่างานที่รับผิดชอบมีความท้าทายเป็นอย่างมาก เนื่องจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวถือเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่สร้างรายได้ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างงาน และกระจายรายได้สู่ชุมชนได้อย่างมหาศาล แม้ไทยจะต้องเผชิญกับการแข่งขันกับนานาประเทศทั่วโลกที่พยายามสร้างกลยุทธ์เพื่อช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งประเทศไทยเองก็มีกลยุทธ์ที่จะสร้างกลุ่มลูกค้าใหม่ และรักษาฐานลูกค้าเก่า เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว และสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น ซึ่งปีนี้ ททท. จะดึงจุดแข็งความเป็นไทยด้วยการชูกลยุทธ์ ‘Soft Power of Thailand’ เป็นจุดขาย โดยจะสะท้อนศักยภาพต้นทุนทางวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ และเพิ่มมูลค่า Soft Power ของไทยให้ทรงพลังมากยิ่งขึ้นในระดับโลก ททท. มุ่งนำเสนอจุดแข็งสู่จุดขายของ Soft Power ของ 5F ได้แก่ Food, Film, Fashion, Festival และ Fight รวมถึงการลงลึกถึงกลุ่มวัฒนธรรมย่อยที่สะท้อนอัตลักษณ์ประจำท้องถิ่นของแต่ละภาค ผ่านกลยุทธ์ ‘Year of Soft Power Collaborations’ โดยร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้การท่องเที่ยวไทยคึกคักตลอดทั้งปี และกระตุ้นให้เกิด Amazing Experience ที่มีคุณค่า”
“สำหรับในส่วนของ 5F ของไทย แต่ละภูมิภาคก็มีความแตกต่างและมีเสน่ห์ไม่แพ้กันค่ะ ซึ่งนี่ถือเป็นจุดแข็งสำคัญที่ ททท. จะนำมาเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางเพื่อตามหาอาหารพื้นถิ่นอร่อยๆ เดินทางตามรอยภาพยนตร์ที่ชื่นชอบ ส่งเสริมการเรียนรู้ศิลปะการต่อสู้มวยไทย การเดินทางเพื่อเปิดประสบการณ์ในการไปร่วมเทศกาลงานบุญประจำพื้นถิ่น หรือแม้แต่ออกไปชอปปิงผ้าไทยที่ชื่นชอบในแต่ละภูมิภาค ซึ่งดิฉันก็เป็นคนหนึ่งที่ชอบเรื่องสวยๆ งามๆ และชื่นชอบผ้าไทยมาก โดยเฉพาะผ้าไหมแพรวาของจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งดิฉันเชื่อว่าหลายคนที่ใส่และสะสมผ้าไทยก็อยากไปเที่ยวแหล่งผลิตผ้าเพื่อชมกระบวนการผลิต และเลือกซื้อผ้า ยิ่งออกแบบให้มีความเก๋ ทันสมัย ก็สามารถเพิ่มมูลค่าได้มากขึ้น”
“นอกจากนี้ ‘อาหารไทย’ ก็เป็นอีกหนึ่งเสน่ห์มัดใจนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะ Street Food ที่ได้รับความสนใจอย่างมาก ซึ่ง ททท. จะประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ว่าไทยเรามีอาหารอร่อยๆ มากมาย ไม่ได้มีแค่ผัดไทยหรือต้มยำกุ้งเท่านั้น เชื่อว่าในส่วนนี้จะกระจายรายได้ให้กับผู้ประกอบการรายย่อยได้มากขึ้น และในเรื่องของประเพณีเราก็ให้ความสำคัญไม่แพ้กันหลังจาก UNESCO ประกาศให้ ‘ประเพณีสงกรานต์ของไทย’ เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติลำดับที่ 4 ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจให้กับคนไทยทั้งประเทศ และ ททท. ได้ขานรับนโยบายของรัฐบาลที่จะยกระดับ ‘สงกรานต์’ ให้เป็นเทศกาลระดับโลก”
“ททท. จะเดินหน้าขับเคลื่อน soft power หลังได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ให้เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการจัดงาน ‘Maha Songkran World Water Festival 2024’ เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567” ในวันที่ 11 – 15 เมษายน 2567 ณ พื้นที่ท้องสนามหลวงและถนนราชดำเนินนอก โดยมีแนวคิดการจัดงานที่มุ่งเน้นการนำเสนออัตลักษณ์ประเพณีสงกรานต์ผ่านวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อยกระดับประเพณีไทยให้กลายเป็นเทศกาลระดับโลก เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมถึงสื่อมวลชนเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งภายในงานจะมีกิจกรรม เช่น ขบวนพาเหรดรถสงกรานต์การแสดงดนตรีจากศิลปินที่มีชื่อเสียงทั้งในประเทศและต่างประเทศ การแสดงศิลปวัฒนธรรมลานสงกรานต์ 5 ภาค ลานน้ำพุและการเล่นน้ำ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์และสุดยอดของดี 77 จังหวัด การทำบุญตักบาตร รดน้ำผู้สูงอายุและสรงน้ำพระเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ไทย รวมถึงสนับสนุนการจัดกิจกรรมสงกรานต์ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อรักษาและสืบทอดประเพณีสงกรานต์ และกระตุ้นนักท่องเที่ยวทั่วทุกมุมโลกให้เข้ามามากขึ้น”
“ปีนี้ ททท. จะมีอายุครบ 64 ปี ด้วยประสบการณ์และพันธมิตรมากมายที่เรามี ซึ่งในฐานะที่ ททท. เป็นผู้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทย ในการสร้างประสบการณ์ทรงคุณค่าและมุ่งสู่ความยั่งยืน เราจึงได้กำหนดกลยุทธ์การดำเนินงานด้วยหลัก P A S S คือ P : Partnership 360o ประสานความร่วมมือพันธมิตรรอบทิศ ทั้งในและนอกอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เนื่องจากการประสานความร่วมมือและจัดกิจกรรมเสริมศักยภาพทางการท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยว A : Accelerate Access to Digital World ผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนองค์กร ทั้งการตลาดและการพัฒนาด้วยฐานข้อมูลและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ S : Sub Culture Movement ลงลึกถึงกลุ่มวัฒนธรรมย่อย ทั้งในกลุ่ม Mass และ Niche เพื่อเพิ่มค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว S : Sustainably NOW ผลักดันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ให้ความสำคัญเรื่องของความยั่งยืน Shape to Net Zero Tourism ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีมีการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ฉะนั้นจึงต้องยกระดับองค์กรสู่องค์กรสมรรถนะสูง มุ่งเน้นพัฒนาบุคลากรให้เป็นเลิศ โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการทำงาน เพื่อความคล่องตัว มีศักยภาพ มีความ Adaptive และ Resilient พร้อมเผชิญกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกอยู่เสมอ”
“ททท. ยังให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อกระจายการท่องเที่ยวจากช่วงวันหยุดเป็นช่วงวันธรรมดา ให้สามารถท่องเที่ยวได้แบบ 365 วัน เที่ยวได้ทุกซีซัน โดย ททท. จะส่งเสริมโดยเน้นโปรโมตอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของเมืองรอง พร้อมทั้งส่งมอบประสบการณ์การท่องเที่ยวผ่านการเล่าเรื่องที่น่าสนใจ และร่วมมือกับพันธมิตรผ่านเครื่องมือสื่อสารการตลาดแบบบูรณาการ ทำ Sales Promotion โฆษณาประชาสัมพันธ์ และจัดกิจกรรมกระตุ้นให้เดินทางมากขึ้นค่ะ” “สำหรับในปีนี้ ททท. มุ่งเน้นที่จะสร้างคุณค่าจากการเดินทางท่องเที่ยวผ่านแคมเปญ ‘สุขทันที ที่เที่ยวไทย’ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเที่ยวในรูปแบบสร้างความสุขแบบทันที ‘เพราะแค่คิดจะเที่ยวปุ๊บ…ความสุขก็มาปั๊บ’ สุขตั้งแต่เริ่มวางแผนการท่องเที่ยว ในระหว่างทริปก็ได้อยู่กับตัวเองและคนที่เรารัก ได้เรียนรู้และสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ และหลังจบทริปก็แชร์ความประทับใจไปให้กับผู้คนรอบข้างได้อีกด้วย ประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวเยอะมาก ใกล้ ไกล ไปสะดวก ไม่ต้องวางแผนล่วงหน้าก็ไปได้เลย ซึ่งนี่จะเป็นแคมเปญใหม่ๆ ที่ช่วยกระตุ้นคนในประเทศให้ออกท่องเที่ยว สร้างการกระจายรายได้สู่ชุมชนเพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดการท่องเที่ยวยั่งยืนอย่างแท้จริง”