“ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ” ปรับกลยุทธ์ เปลี่ยนวิธีคิด เพื่อองค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน

0
822
การบริหารองค์กรที่ต้องช่วยเหลือประชาชน และต้องสร้างรายได้ที่ดีไม่ใช่เรื่องง่าย อย่าง “คุณทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ” ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เข้ามาดำรงตำแหน่งในช่วงที่องค์กรต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนนโยบายเปลี่ยนความคิดของบุคลากรในองค์กร และปรับกลยุทธ์สร้างที่พักอาศัยให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้มีรายได้น้อย ให้มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ขณะที่การเคหะแห่งชาติก็สามารถสร้างรายได้หล่อเลี้ยงองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน

“หลังจากที่ผมรับตำแหน่งผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ งานหลักก็คือการบริหารงานและดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่กำกับดูแล รวมถึงนโยบายของคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติด้านการบริหารงานของผมจะมุ่งเน้นการทำงานแบบทีมเวิร์ก ซึ่งหน่วยงานในการเคหะแห่งชาติจะมี 37 ส่วนงาน โดยส่วนใหญ่จะทำงานเป็นเอกเทศที่ต่างคนต่างทำ แต่ควรบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการเชื่อมโยงข้อมูลด้านต่างๆ ส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

“นอกจากนี้ยังได้กำหนดวัฒนธรรมองค์กรจาก 3S เป็น 5S ได้แก่ Spirit ร่วมพลังใจในการขับเคลื่อนองค์กร Skill มุ่งแสวงหาและเพิ่มพูนความรู้ Sevice ให้บริการที่ตอบโจทย์ทุกภาคส่วนของสังคมไทย Speed รวดเร็ว ตรงเวลา และทันต่อสถานการณ์ และ Sustainability พัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน และเปลี่ยนค่านิยมจากเดิม SOCIAL เป็น HOMES ได้แก่ Happiness to all เสริมสร้างความสุข Open to collaborate ประยุกต์ความร่วมมือ Mastering to innovate ยึดถือนวัตกรรม Efficient & Ethical process ประสิทธิภาพพร้อมคุณธรรม Service excellence ยกระดับการบริหาร”

“ผมอยากให้ทุกคนในองค์กรทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่ ทำงานด้วยใจบริการให้กับลูกค้าภายใน ซึ่งก็คือบุคลากรของการเคหะแห่งชาติ และลูกค้าภายนอกที่เป็นผู้สนับสนุนในผลิตภัณฑ์ของการเคหะแห่งชาติ รวมถึงการปรับเปลี่ยน Mindset เรื่องการทำงานจากคำว่า ‘ทำงานเสร็จ’ เป็น ‘ทำงานสำเร็จ’ ซึ่งหมายความว่าคุณต้องวางแผนการทำงานอย่างรอบคอบ และติดตามงานที่เชื่อมโยงกับส่วนงานอื่นอย่างต่อเนื่องจนงานนั้นสัมฤทธิ์ผล เพื่อยกระดับองค์กรให้มีคุณภาพดีขึ้นในทุกมิติ นอกจากนี้ในปีที่ผ่านมาการเคหะแห่งชาติยังได้ปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์องค์กรใหม่ จากเดิม ‘เป็นองค์กรสมรรถนะสูงในการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมือง เพื่อให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตที่ดี’ เปลี่ยนเป็น ‘สร้างบ้าน สร้างสุข เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี’ โดยดึงใจความสำคัญจากพระราชบัญญัติการเคหะแห่งขาติ พ.ศ.2537 มาตรา 6 ที่ระบุว่า ให้จัดตั้งการเคหะแห่งชาติขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัย ตลอดจนจัดให้มีสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้อยู่อาศัย ทำนุบำรุง ปรับปรุง และพัฒนาที่อยู่อาศัย รวมทั้งพัฒนาผู้อยู่อาศัยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งในทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมมาเป็นวิสัยทัศน์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันแทน”

“การเคหะแห่งชาติต้องทำงานเชิงรุกเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายสร้างบ้านคุณภาพที่ทุกคนเป็นเจ้าของได้ สร้างความสุขในชุมชน และสร้างสังคมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อให้แผนการดำเนินงานต่าง ๆ ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน เนื่องจากเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ต้องช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งต้องหารายได้เพื่อให้องค์กรสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ การเคหะแห่งชาติจึงต้องสร้างบ้านเชิงพาณิชย์เพื่อนำส่วนต่างมาสร้างบ้านเชิงสังคมให้กับผู้มีรายได้น้อย แต่พอมาเจอกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 โอกาสของผู้มีรายได้น้อยจะมีบ้านเป็นของตนเองก็ยิ่งน้อยลง ซึ่งคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติมองว่าการจะเพิ่มโอกาสให้กับผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มครัวเรือนเปราะบางได้มีที่อยู่อาศัย จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ จากที่การเคหะแห่งชาติเคยสร้างบ้านขาย 80% บ้านเช่า 20% ก็เปลี่ยนเป็นสร้างบ้านให้ประชาชนได้เช่าในราคาถูกเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น”

ผมอยากให้เจ้าหน้าที่การเคหะแห่งชาติทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่ ทำงานโดยไม่รู้สึกว่าคือหน้าที่ แต่ทำด้วยใจบริการ เพื่อยกระดับองค์กรให้มีคุณภาพด้านการบริการที่ดียิ่งขึ้น รวมทั้งมุ่งหวังให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงในการอยู่อาศัย และทุกคนมีความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยอย่างเสมอภาค

“การดำเนินงานของการเคหะแห่งชาติในปี พ.ศ. 2566 จึงเข้มข้นขึ้น มีการสานต่อโครงการสำคัญอย่างโครงการบ้านเคหะสุขประชา ซึ่งเป็นโครงการบ้านเช่าพร้อมอาชีพมุ่งเน้น ‘มีบ้าน มีอาชีพ มีรายได้ มีความสุข’ ขณะนี้ได้ก่อสร้างโครงการนำร่องและส่งมอบพร้อมทำสัญญาเช่าให้กับผู้ได้สิทธิ์แล้ว 2 โครงการ ได้แก่ โครงการบ้านเคหะสุขประชาฉลองกรุง จำนวน 302 หน่วย และโครงการบ้านเคหะสุขประชาร่มเกล้า จำนวน 270 หน่วย นอกจากนี้ยังได้จัดทำโครงการตันแบบบ้านเคหะสุขประชา ภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 จำนวน 3 พื้นที่ ได้แก่ โครงการบ้านเคหะสุขประชา ‘วังน้อย’ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โครงการบ้านเคหะสุขประชา ‘ลำลูกกาคลอง 12’ จังหวัดปทุมธานี และโครงการบ้านเคหะสุขประชา ‘ธรรมศาลา’ จังหวัดนครปฐม”

ขณะเดียวกัน การเคหะแห่งชาติยังได้ทบทวนความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการจัดทำโครงการบ้านเคหะสุขประชาตามแนวทางการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน ภายใต้ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เพื่อนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พิจารณาให้ความเห็นชอบอีก 10 โครงการ ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี สมุทรปราการ สุพรรณบุรี เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน สระบุรี (หนองปลาหมอ) สระบุรี (แก่งคอย) กำแพงเพขร นครสวรรค์ และระยอง ซึ่งถ้ามองจากทำเล ราคา และแนวคิดของโครงการ จะทำให้ได้การตอบรับที่ดีอย่างแน่นอน”

“สำหรับ Mission ที่ผ่านมา การเคหะแห่งชาติได้พัฒนาและบริหารองค์กรให้มีความโปร่งใส จนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งขาติ ได้ประกาศผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 การเคหะแห่งขาติได้คะแนนผลการประเมินฯ 97.96 คะแนน จาก 100 คะแนนเต็มเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ระดับคะแนน 97.93 คะแนน และคะแนน ITA ของการเคหะแห่งชาติได้คะแนนเป็นอันดับที่ 1 ของหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และได้คะแนนเป็นอันดับที่ 5 ของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจทั้งหมดที่เข้าร่วมการประเมิน 51 แห่ง รวมทั้งได้ระดับผลการประเมิน AA ในระดับประเทศ ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจของผมและทุกคนในองค์กรครับ”

Facebook Comments

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.