ถึงจะมีประสบการณ์การทำงานเพียง 10 กว่าปี แต่มุมมองและการทำงานของนักบริหารรุ่นใหม่อย่าง “ธนโชติ บุญมีโชติ” กรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจกุ้ง แห่ง บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) แล้ว เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจในวันนี้จริงๆ
กว่า 10 ปีที่คุณเยน-ธนโชติ บุญมีโชติ ได้ก้าวเข้ามาทำงานในฐานะผู้บริหารของ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หลังจากที่สำเร็จการศึกษาจาก University of San Francisco ซึ่งถือเป็นการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการทำงานมาพอสมควร “ปีนี้เป็นการก้าวสู่ปีที่ 11 แล้ว สำหรับการเข้ามาทำงานของผม ซึ่งหน้าที่แรกที่ผมเข้ามาทำงานก็ได้รับมอบหมายให้ไปดูแลด้านมาร์เก็ตติ้งในส่วนตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกา ช่วงนั้นทำให้ผมได้เรียนรู้การทำธุรกิจค่อนข้างเยอะทีเดียว เพราะเราต้องติดต่อกับทางลูกค้าฝั่งอเมริกา ที่ถือเป็นลูกค้าเจ้าใหญ่ๆ และเป็นพอร์ตที่ใหญ่ที่สุดของเราตอนนั้น”
เรียนรู้จากพื้นฐาน สู่การเป็นนักบริหารมืออาชีพ
ากนั้นอีกประมาณ 4 – 5 ปี ต่อมา ผู้บริหารหนุ่มก็บอกด้วยว่าเขาได้รับมอบหมายให้มาดูเรื่องของการจัดซื้อวัตถุดิบ “ก็เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่ทำให้ผมมีความเข้าใจในเรื่องของการจัดซื้อและขายสินค้า ตลอดจนได้เห็นกระบวนการทำงานของทีม และการดีลหลังบ้าน เช่น การแจ้งวัตถุดิบเข้า และมองเห็นมุมต่างๆ ของการจัดซื้อ”
ในการเข้ามารับผิดชอบและดูแลตลาดในประเทศ นอกจากจะทำให้เจ้าตัวได้เห็นพอร์ตลูกค้าในประเทศที่เรียกว่าใหญ่ไม่แพ้กับตลาดต่างประเทศเท่านั้น แต่ยังทำให้เขารู้สึกสนุกกับการทำงานในอีกรูปแบบ “อย่างที่ทราบกันดีครับว่าช่วงแรกบริษัทของเราเป็นการทำงานด้วยการรับผลิตสินค้าแบบ OEM แต่ด้วยการ
ทำงานในรูปแบบดังกล่าว มีเรื่องของ Margin หรือยอดขายเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งก็
ไม่ได้มีรายได้เยอะมาก ส่วนใหญ่จะเป็น Single Digit และมักต้องเจอกับปัจจัยภายนอก อย่างอัตราแลกเปลี่ยนเข้ามากระทบด้วย ซึ่งทำให้เราอาจได้กำไรเยอะขึ้น หรือบางทีขาดทุนไปก็มี ทำให้ช่วงหลังๆ เราหันมาสร้างแบรนด์สินค้าของเราเองในชื่อ QFresh ที่เราทำการตลาดทั้งแบบ B to B และ B to C ไปจนถึงการจัดงานอีเวนต์และการจัดโปรแกรมร่วมกับร้านอาหารและเชฟชื่อดังหลายๆ เจ้า”
ความสนุกในการทำงาน
ความสนุกไม่ใช่แค่การได้มองเห็นการทำงานด้านการตลาดในแบบใหม่ๆ
แต่เป็นการได้เจอกับลูกค้าในทุกกลุ่มเป้าหมายของเรา “เราจะเชิญลูกค้าของเราในประเทศทั้งหมดมาพบกันไตรมาสละครั้ง มานั่งพูดคุยทางธุรกิจไปพร้อมๆ กับการนำเสนอผลิตภัณฑ์ด้านอาหารแช่แข็งของเราให้กับลูกค้าได้ลองสัมผัสถึงความพรีเมียม ซึ่งนั่นก็ทำให้ยอดขายสินค้าของเราทั้งหมด ทั้งที่เป็นแบรนด์ของเราเอง และการผลิตแบบ OEM มียอดรายได้แตะไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาทแล้ว” คุณเยนกล่าว
ความท้าทายในธุรกิจที่แตกต่าง
นักบริหารหนุ่มเล่าถึงความยากและความง่ายในการทำธุรกิจตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาว่า “ธุรกิจของเรามีความท้าทายในทุกปี ช่วงแรกที่ผมสัมผัสได้เลยก็คงเป็นตอนที่ประเทศไทยของเราส่งออกกุ้งไปยังอเมริกาปีละมากกว่า 6 แสนตัน ซึ่งถือเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดส่งออกกุ้งของเราช่วงนั้น เรียกได้เลยว่าเราแทบไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะลูกค้าส่วนใหญ่จะวิ่งเข้ามาหาเราเกือบทั้งหมด ทำให้ไม่ว่าเราจะขายราคาใดก็ขายได้ และมีกำไร ถือเป็นการทำธุรกิจที่ไม่ได้ยากเท่าไร”
ทว่าหลังจากนั้น 1 ปีผ่านมา สิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น “เราเจอปัญหาโรคในกุ้ง ที่เรียกว่า EMS ซึ่งนั่นส่งผลทำให้การผลิตกุ้งของเราจาก 6 แสนตันเหลือเพียง 2 แสนตันเท่านั้น และเราก็คงระดับนี้มาตลอดจนถึงทุกวันนี้ ทำให้ประเทศไทยของเราจากการเป็นผู้เล่นเบอร์หนึ่งในเรื่องกุ้งขาวในตลาดโลก ต้องหล่นลงมาอยู่อันดับที่ 5 ทำให้ผมมองว่าธุรกิจในแต่ละปีมีความยากง่ายที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะดีมานด์การสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศที่ไม่แน่ไม่นอน”
“ข้อดี” ระหว่างนักบริหารรุ่นก่อนและรุ่นใหม่
หากพูดถึงข้อดีของการเป็นนักบริหารรุ่นก่อนและรุ่นใหม่ คุณเยนมองว่ามีข้อดีแตกต่างกันไป “คนรุ่นก่อนมักจะใช้เวลาอยู่กับธุรกิจค่อนข้างมาก บางคนถึงกับกินนอนอยู่กับโรงงานเลยก็มี นั่นจึงทำให้คนรุ่นก่อนมีประสบการณ์ค่อนข้างเยอะ และวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ ก็มาจากประสบการณ์ที่คนรุ่นก่อนเจอมาทั้งสิ้น เช่นเดียวกับการตัดสินใจที่มีรากฐานมาจากประสบการณ์ของตัวเองเหมือนกัน”
เจ้าตัวยังบอกถึงข้อดีของนักบริหารรุ่นใหม่ด้วยว่า “เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากขึ้น มีเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง ความรู้ของคนรุ่นใหม่ที่มักอยู่กับโซเชียลเยอะก็มีส่วนสำคัญในการช่วยทำให้เกิดการขับเคลื่อนธุรกิจได้เหมือนกัน เพราะวันนี้การตัดสินใจอะไรหลายๆ อย่างในธุรกิจอาจไม่ได้ใช้แค่ประสบการณ์หรือความรู้สึกของผู้ประกอบการอย่างเดียวแล้ว แต่ยังมีการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ด้วย อย่างการประเมินตัวเลขหรือราคาของวัตถุดิบ ก็จะนำเอา AI เข้ามาช่วยคำนวณ ซึ่งจะทำให้เกิดความรวดเร็วและมีความแม่นยำในการทำงานที่มากขึ้น ช่วยเซฟเวลาในการทำงาน และช่วยลดเรื่องค่าใช้จ่ายแอบแฝง (Hidden Cost) ด้วย”
คุณเยนบอกด้วยว่า “บริษัท ไทยยูเนี่ยนฯ ถือเป็นองค์กรที่ค่อนข้างมีความทันสมัย เราโชคดีมากที่ผู้ใหญ่หลายๆ ท่านในบริษัทให้การยอมรับการทำงานของคนรุ่นใหม่ และการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำงาน ขณะเดียวกัน มายด์เซตของผู้บริหารในองค์กรยังเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้ที่ผ่านมาบริษัทมีการดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ” เช่นเดียวกับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ “ผมมองว่าใครก็ตามต่อให้เก่งอย่างไร ไม่มีใครที่สามารถทำธุรกิจได้ด้วยตัวคนเดียวแน่นอน ดังนั้นกลยุทธ์ที่สำคัญที่สุดในการทำงานก็คือทีมงาน และไม่ใช่แค่ทีมงานเพียงทีมเดียวเท่านั้น แต่ต้องมีหลายๆ ทีม โดยจะต้องมีการวางแผนผู้สืบทอดธุรกิจ (Succession Planning) ไปพร้อมกันด้วย และหากทุกคนมองไปในทิศทางเดียวกันได้ ผมก็ว่าน่าจะเป็นอะไรที่ดีเหมือนกัน”
เป้าความสำเร็จไม่ใช่ยอดกำไร
กระนั้นก็ตาม จุดความสำเร็จหรือเป้าความสำเร็จก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่นักบริหารทุกคนตั้งไว้ในใจ เช่นเดียวกับคุณเยนที่เขาก็มีเป้าความสำเร็จในใจเหมือนกับหลายคน “แต่เป้าความสำเร็จของผมไม่ได้เป็นเป้าหมายที่ตายตัว หรือจะต้องประสบความสำเร็จในปีนี้หรือปีหน้า หรือแม้แต่ต้องมียอดตัวเลขผลกำไรมากเท่าไร แค่ผมมองว่าในแต่ละปีผมจะทำอย่างไรให้ผลงานที่ผมรับผิดชอบออกมาดีที่สุด”
“และในเวลาเดียวกัน สิ่งที่ทำให้ผมแฮปปี้มากที่สุดคือ เวลาที่บริษัทจ่ายเงินเดือนเยอะให้กับพนักงาน หรือจ่ายโบนัสหลายๆ เดือน เพราะทุกครั้งที่บริษัทจ่ายเงินพิเศษให้กับพนักงาน ผมก็จะเห็นรอยยิ้มและความสุขของทุกคนในบริษัท เพราะพวกเขารู้สึกว่าพอได้ทุ่มเทการทำงานให้กับบริษัท ทางบริษัทก็ช่วยซัปพอร์ตเขากลับมา ทำให้เขามีความตั้งใจทำงานมากกว่าเดิม นี่เป็นอีกความรู้สึกที่ผมสัมผัสได้จากพนักงานทุกคน ผมว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่ผมให้ความสำคัญมาก” คุณเยนตอกย้ำด้วยว่า “เมื่อพนักงานทุกคนในองค์กรมีความสุข มีชีวิตที่ดี นั่นไม่ใช่แค่ความสุขที่ผมได้รับกลับมาเท่านั้น แต่ยังถือเป็นความสุขของเขาอีกด้วย”