เพลินจันทร์ วิญญรัตน์ อาร์ตดีไซเนอร์ตัวแม่สุด “รักษ์” โลก

0
417
ท่ามกลางกระแส “รักษ์” โลก ที่กำลังแผ่ขยายอิทธิพลออกไปทั่วโลก และทั่วทุกวงการเวลานี้ บางคนอาจจะเพิ่งตอบรับกระแสดังกล่าวในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทว่าสำหรับผู้หญิงที่ชื่อ “มุก-เพลินจันทร์ วิญญรัตน์” แล้ว อาจเรียกได้ว่าเป็น “ตัวแม่” ที่นำเทรนด์รักษ์โลกมาก่อนใครก็ว่าได้

เจ้าของแบรนด์ผ้าทอแฮนด์เมด MookV และบริษัท บียอนด์ ลิฟวิ่ง (Beyond Living Co., Ltd.) รวมถึงเป็นผู้อยู่เบื้องหลังผลงานศิลปะชิ้นสำคัญที่ทำจากผ้าทอมือความยาวถึง 16 เมตร อย่าง “The River of Kings” หรือ “สายน้ำของพระราชา” ซึ่งจัดแสดงอยู่ภายในร้านหลุยส์ วิคตอง บูติค ที่ห้างสรรพสินค้าไอคอนสยาม ได้เล่าให้ทีมงาน HOWE Magazine ฟังว่าเธอทำงานศิลปะมานานกว่า 25 ปีแล้ว “ตัวเองเรียนจบมาทางด้านการออกแบบสิ่งทอ ซึ่งก็ทำให้เราคิดมาตลอดว่าอะไรที่เป็นเส้นยาวๆ ก็สามารถเอามาทอได้หมด” ด้วยแนวความคิดที่ว่านี้ อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอสร้างสรรค์ผลงานศิลปะจากของเหลือใช้ ที่เราหลายคนมักจะเรียกว่า “เศษขยะ” “ทุกครั้งที่เราทำงาน ไม่ว่าจะการทอผ้าหรือพรมให้กับโรงแรม ในแต่ละผืนเราจะมีการคิดคำนวณแล้วว่าจะต้องใช้ฝ้ายกี่กิโลกรัม ซึ่งก็มีตั้งแต่ 300 กิโลกรัมบ้าง 400 กิโลกรัมบ้าง แต่พอใช้จริงเราอาจจะใช้แค่ 250 กิโลกรัม หรือ 398 กิโลกรัม ทำให้ฝ้ายที่เหลือ ไม่สามารถนำไปทอได้อีก เพราะเวลาที่เราสั่งต้องสั่งเป็นล็อต และย้อมสีก็ต้องเป็นล็อตเดียวกัน ไม่สามารถเอาส่วนที่เหลือไปย้อมอีกสีแล้วทอเป็นพรมผืนอื่นในโปรเจกต์ใหม่ๆ ได้อีก ดังนั้นก็จะทำให้ฝ้ายที่เหลือในแต่ละโปรเจกต์เหลือ 3 กิโลกรัมบ้าง 5 กิโลกรัมบ้าง พอผ่านไป 20 ปีก็จะเหลือเศษฝ้ายหรือวัสดุที่ทอพรมเยอะมากขึ้นเรื่อยๆ”

แค่รู้สึกเสียดายของ

ถามว่าการนำเศษฝ้ายหรือสิ่งของเหลือใช้ต่างๆ มาทักหรือทอให้เป็นผลงานศิลปะนั้น เกิดจากกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือไม่ ซึ่งคุณมุกย้ำอย่างชัดเจนเลยว่า การทำงานของเธอแต่ชิ้นที่ผ่านมานั้น เธอไม่ได้มองไปถึง Sustainability หรือรักษ์โลกอะไรขนาดนั้นเลย “แค่เรารู้สึกเสียดายของ และเราก็อยากให้พนักงานที่ทำงานกับเรามองเห็นความสำคัญในเรื่องของ Zero Waste ไปด้วยแค่นั้น ซึ่งในการทอพรมหรือทำงานทอที่โรงงานของเรา คนทอผ้าก็จะมีถุงเก็บเศษฝ้ายทุกคน เหมือนเป็นการรวบรวมเศษฝ้ายที่เหลือจากการทอในทุกๆ ครั้ง”

“เราทำแบบนี้กันมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว และไม่เคยมองเรื่องของ Sustainability เลย แค่บอกกับตัวเองว่าฉันเป็น Sustainable Artist รู้แค่ว่าฉันไม่ชอบทิ้งของ ฉันเสียดายของ และฉันก็สามารถเอาของมาหมุนเวียนใช้ใหม่ได้ แต่ด้วยประเทศไทยของเราอยู่ในช่วงกระแสรักษ์โลกพอดี เลยทำให้เรื่องที่เราทำอยู่แล้วนั้นบูมขึ้นมา”

ไอเดียเปลี่ยนเศษขยะเป็นศิลปะ

อาร์ติสต์ที่ควบตำแหน่งดีไซเนอร์เล่าด้วยว่า บางครั้งเศษฝ้ายที่เหลือไม่สามารถนำไปทอเป็นพรมได้เต็มผืน เธอก็เลยเกิดไอเดียเปลี่ยนมาทอให้เป็นกระเป๋าแทน “มุกเรียกวิธีเหล่านี้ว่าเป็นการหมุนเวียนการใช้ประโยชน์จากสิ่งของที่เรามีอยู่ ให้กลายเป็นของอีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งที่บ้าน (โรงงานทอ) ก็จะมีกล่องอยู่หลายใบมาก แต่ละใบก็จะมีเศษผ้าทอที่เหลือจากแต่ละโปรเจกต์ที่เก็บมานาน 10 – 20 ปี และเราก็จะเอาเศษเหล่านี้มาสร้างเป็นงานอาร์ตอย่างที่เห็นๆ กันในหลายๆ แห่ง” เช่นเดียวกับงานอาร์ตผืนใหญ่สุดอลังการ บริเวณทางเดินภายในศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่เธอใช้ชื่อว่า “Woven Symphony” และ Adam’s Bridge ซึ่งมีความสูง 6 เมตร และมีความยาวถึง 25 เมตร ถือเป็นผลงานศิลปะชิ้นใหญ่ที่สุดเท่าที่เธอเคยทำมา “ตอนนั้นเราได้รับโจทย์มา 3 คำ คือ สืบสาน รักษา และต่อยอด ก็เลยทำให้นึกถึงชื่อของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่ตั้งตามพระนามของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งพระองค์ท่านได้ทรงงานเรื่องผ้าไหมเยอะมาก รวมถึงเรื่องของโขนอีกด้วย เราก็เลยไปคุยกับสามีที่เราเปรียบเขาเป็นเหมือนกูเกิลส่วนตัวของเรา และเขาก็แนะนำว่าลองทำฉากในโขนสิ” นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่เยี่ยมที่สุดทั้งสองชิ้นขึ้นมา

ติดตามอ่านต่อได้ใน นิตยสาร HOWE เล่ม 115

สามารถซื้อได้ที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ

หรือสั่งซื้อ E-Book ได้ผ่านช่องทาง

Ookbee : https://www.ookbee.com/…/HOWEMAGAZINE/howemagazine…

Meb : https://www.mebmarket.com/index.php?action=search_book…

Facebook Comments

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.