รองศาสตราจารย์ ดร.อุดมวิทย์ ไชยสกุลเกียรติ วิสัยทัศน์สู่เส้นทาง “มหาวิทยาลัยระดับโลก”

0
624

นับจากนี้ “มหาวิทยาลัย” อาจไม่ใช่แค่สถาบันการศึกษา ที่สร้างให้นักศึกษาเพียงแค่ก้าวสู่เส้นทางอาชีพในฝันอีกต่อไปแล้ว เพราะ “มหาวิทยาลัย” ตามวิสัยทัศน์ของ รศ.ดร.อุดมวิทย์ ไชยสกุลเกียรติ อธิการบดี มหาวิทยาลัยในยุคต่อไปนี้ ต้องเป็นสถาบันที่สร้างนักศึกษาให้เป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสูงสุดไปพร้อมๆ กับสร้างชุมชน สังคม และประเทศชาติ ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน

ตามยุทธศาสตร์ว่าด้วยการบริหารมหาวิทยาลัยของ รศ.ดร.อุดมวิทย์ ไชยสกุลเกี่ยรติ อธิการบดี ไม่เพียงแค่การสร้างจุดเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับบุคลากร และการบริหารกิจการภายในมหาวิทยาลัยแต่เพียงอย่างเดียว ทว่ายั่งมีความหมายมุ่งเน้นไปที่การขับเคลื่อนหลักสูตรการเรียนการสอน ตลอดจนแนวทางในการนำมหาวิทยาลัยแห่งนี้มุ่งสู่มาตรฐานของการเป็นมหาวิทยาลัยระดับสากล “แนวคิดที่ว่านี้ ผมได้ริเริ่มมาตั้งแต่เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการของ มทร.รัตนโกสินทร์ ที่เน้นหลักสูตรการเรียนการสอนที่มีความแตกต่างไปจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ โดยเฉพาะการเพิ่มเติมในวิชาที่เรียกว่า “ผู้ประกอบการใหม่’ ใส่ลงไปในหลักสูตร”

สร้างบัณฑิตเป็นนักปฏิบัติ
ด้วยแนวคิดนี้ จึงทำให้เกิดเป็นอัตลักษณ์ความเป็น มทร.รัตนโกสินทร์ ในวันนี้ ซึ่งทางอธิการบดีย้ำอย่างหนักแน่นด้วยว่า หลักสูตรนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ มทร.รัตนโกสินทร์ สามารถผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติที่มีคุณภาพมากขึ้นในทุก ๆ ปี “หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผมรับตำแหน่งอธิการบดี มทร.รัตนโกสินทร์ ผมก็ยังคงดำเนีนนโยบายตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ก่อนหน้านี้ เพื่อสร้างบัณทิตของมหาวิทยาลัยให้เป็นบัณฑิตนักปฏิบัติให้มากขึ้น” ซึ่งทั้งหมดถูกรวมไว้ในหลักสูตร CWIE (Cooperative and Work Integrated Education) โดยทางอธิการบดี มทร.รัตนโกสินทร์ กล่าวว่า เป็นหลักสูตรการเรียนการสอนในลักษณะความร่วมมือของ มทร.รัตนโกสินทร์ ที่จับมือกับสถานประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างบัณฑิตให้พร้อมก้าวสู่โลกการทำงานจริงได้ทันที และตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน “จากนี้ไปอีก 4 ปีข้างหน้า เราจะได้เห็นการใช้หลักสูตรนี้มากขึ้น เพื่อสร้างบัณฑิตให้เป็นนักปฏิบัติ 100% ในทุกหลักสูตร” ยุทธศาสตร์บริหารงาน มทร.รัตนโกสินทร์

อธิการบดีกล่าวด้วยว่า นอกจากจะได้เห็นบัณฑิตจบใหม่ทำงานได้ตรงตามสาขาอาชีพอย่างที่เขาตั้งใจแล้ว “นี่ยังเป็นหลักสูตรที่มีความโดดเด่น และจะเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวงการศึกษาของไทยด้วย” ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ RMUTR Transformation โดยทุกตัวอักษรภาษาอังกฤษล้วนมีความหมายในตัวเอง

“อันดับแรกคือตัว P หรือ Reorganization ที่เราจะมุ่งเน้นไปที่ตัวองค์กร ต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการทำให้องค์กรมีความกะทัดรัด แต่เปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพและคุณภาพในตัวเอง” อธิการบดียังอธิบายความหมายของตัวอักษร M (Modern) ที่มีความหมายถึงการบริหารจัดการด้วยความทันสมัย “การบริหารจัดการถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะวันนี้มีการนำเทคโนโลยีและโปรแกรมต่างๆ มากมายมาใช้สนับสนุนการบริหารจัดการภายใน มทร.รัตนโกสินทร์ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และมีทิศทางไปในทางที่ดีขึ้น โดยโปรแกรมเหล่านี้จะมาช่วยวิเคราะท์แนวทางการทำงาน รวมถึงการใช้งบประมาณของมหาวิทยาลัยในกิจการและโครงการต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

“ส่วนตัว U แน่นอนครับ วันนี้ทุกมหาวิทยาลัย (University) พูดถึงความเป็นดิจิทัล ยูนิเวอร์ซิตี้ (Digital University) ซึ่งเราพยายามที่จะนำเรื่องของ MIS (Management Infomation System) หรือระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร ตลอดจนระบบ AR และ U ApP มาใช้ให้มากขึ้น” ในส่วนนี้อธิการบดี มทร.รัตนโกสินทร์ เน้นย้ำว่าเรื่องของแอปพลิเคชันหรือระบบสารสนเทศเหล่านี้จะทำให้เกิดความสะดวกทั้งตัวของนักศึกษาเอง และบุคลากรในมหาวิทยาลัย “เป็นอีกส่วนที่สำคัญ เพราะไม่ว่าจะเป็น E-Document หรือ E-Library และแอปพลิเคชันอื่นๆ นักศึกษาก็สามารถเข้าไปใช้งานได้โดยผ่านสมาร์ทโฟนเพื่อลงทะเบียนเรียน หรือจะเป็นการตรวจเซ็กตารางสอบของแต่ละคน” ไม่ได้จำกัดเฉพาะนักศึกษา หรือบุคลากรในมหาวิทยาลัยเท่านั้น “แม้แต่นักศึกษาที่จบไปแล้ว ก็สามารถใช้แอปพลิเคชันนี้เข้าไปขอใบรับรองการศึกษา โดยไม่ต้องเข้ามาที่สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียนในมหาวิทยาลัย แค่กดแอปพลิเคชันและชำระค่าธรรมเนียม ก็สามารถไปรับได้ที่ธนาคารกรุงไทยได้เลย ซึ่งตรงนี้เราได้มีการทำ MOA กับทางธนาคารกรุงไทยไว้แล้ว ทำให้เกิดความสะดวกสบายมากขึ้น”

มากันที่ตัวอักษร T ซึ่งมีความหมายถึงเทคโนโลยี (Lechnology) “เรื่องเทคโนโลยี เป็นหนึ่งในวิสัยทัศน์ที่ผมให้ไว้กับทางสภามหาวิทยาลัยอยู่แล้วว่า จะดำเนินการผลักดันให้ มทร.รัตนโกสินทร์ ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งที่ผ่านมา 17 ปี ทางมหาวิทยาลัยของเราได้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่มาใช้ เพียงแต่เราไม่เคยนำออกมาโชว์ให้เห็น” ด้วยเหตุนี้ รศ.ดร.อุดมวิทย์ จึงมีนโยบายที่จะจัดงาน Innovation Day หรืองานวันแห่งนวัตกรรมขึ้น เพื่อนำเอาผลงานของนักศึกษาในปีสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นโปรเจกต์งาน ปริญญานิพนธ์ หรือวิทยานิพนธ์ต่างๆ มาจัดแสดงในงานนี้พร้อมกับเชิญสถานประกอบการเข้ามาชมงานด้วย

“อย่างที่ผมเรียนไปแล้วว่า หลักสูตรของ มทร.รัตนโกสินทร์ จะมีความแตกต่างไปจากมหาวิทยาลัยอื่น โดยเฉพาะหลักสูตรการเรียนการสอนที่เน้นให้นักศึกษาเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งจะทำให้นักศึกษาที่จบไปแล้วไม่อยากเป็นลูกจ้างก็สามารถเป็นเถ้าแก่น้อยได้เลย พร้อม ๆ กับนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เขาได้เรียนรู้ไปใช้ให้สอดคล้องกับอาชีพที่เขาอยากทำ”

มุ่งเน้นความรับผิดชอบต่อชุมชน และสังคม
สำหรับ R ตัวอักษรสุดท้าย คือ Responsibility ความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม “แม้ว่า มทร.รัตนโกสินทร์ ของเรา จะได้รับการยอมรับว่าเป็นมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์เทคโนฯ แต่เรื่องของชุมชนและสังคม ก็เป็นอีกสิ่งที่เราต้องรับผิดชอบ ที่ผ่านมาเรามีเครือข่ายชุมชนอยู่มากถึง 50 ตำบล 8 จังหวัด ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ในการนำเอาเทคโนโลยี วิชาการและความรู้ต่างๆ ไปให้กับชุมชน เพื่อสร้างความแข็งแกร่ง และสร้างรายได้ให้กับชุมชนมากขึ้น” เป็นอีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงที่อธิการบดีเชื่อว่าหลังจากนี้ไปอีก 4 ปี จะได้เห็นความโดดเด่น และมีความชัดเจนมากขึ้น “หลังจากที่ มทร.รัตนโกสินทร์ ทำ SWOT ขึ้นมา ก็ทำให้เราได้เห็นจุดแข็งของมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะบัณฑิตที่จบจากสถาบันของเราไปมีงานทำถึง 85% ซึ่งผมมองว่านี่คือสิ่งที่มหาวิทยาลัยของเราเดินมาถูกทางแล้ว กับการสร้างบัณฑิตให้เป็นนักปฏิบัติ ที่สถานประกอบการสามารถนำนักศึกษาของเราไปทำงานกับสถานประกอบการได้เลย ถือเป็นอีกความโดดเด่นของ มทร.รัตนโกสินทร์ในวันนี้

พลังงานทดแทน เพื่อความเป็นมหาวิทยาลัยต้นแบบ
ไม่ใช่แค่เรื่องของหลักสูตรการเรียนการสอน ที่ทาง รศ.ดร.อุดมวิทย์มุ่งเน้นสร้างประโยชน์ให้กับวงการศึกษาเท่านั้น เรื่องของการใช้พลังงานทดแทนภายในมหาวิทยาลัย ก็ยังเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ถูกนำมาปรับใช้เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน “เรื่องของพลังงานทดแทน เป็นอีกเรื่องที่ทางมหาวิทยาลัยของเราให้ความใส่ใจ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าในวันนี้ประเทศไทยของเรามีก๊าซเรือนกระจกค่อนข้างเยอะ ซึ่งหลังจากนี้ไป มทร.รัตนโกสินทร์ของเราจะพยายามลดเรื่องของพลังงาน โดยเฉพาะการนำโซลาร์รูฟ (Solar Roof) มาใช้ รวมถึงการลดปริมาณขยะในมหาวิทยาลัยให้เป็นศูนย์(Zero Waste)

ความเป็นกลางทางคาร์บอน
เช่นเดียวกับนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน ที่อธิการบดีเล่าว่าได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ทรงคุณวุฒิหลายๆ ท่านของสภามหาวิทยาลัย โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค ค่าน้ำ ค่าไฟ ของมหาวิทยาลัย ที่เรียกว่าต้องใช้จ่ายปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท “ขณะที่งบประมาณที่รัฐบาลจัดมาให้นั้นมีเพียง 15 ล้านบาท นั่นทำให้เราต้องมาคิดกันว่าจะทำอย่างไรเพื่อลดการใช้พลังงาน” เรื่องของการปล่อยก็าซคาร์บอนไม่ได้เกี่ยวพันแค่ค่าใช้จ่ายเท่านั้นแต่ยังส่งผลต่อการจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลกด้วย

“เราได้มีการตั้งคณะกรรมการด้านพลังงานขึ้นมา และได้ประสานงานกับทางการไฟฟ้าฯ ซึ่งทางการไฟฟ้าฯ ก็ยินดีที่จะให้การสนับสนุนเรื่องของโซลาร์ รูฟ อีกหนึ่งตัวช่วยที่จะช่วยลดค่าไฟฟ้าภายในมหาวิทยาลัยได้ถึง 20%” ไม่ใช่แค่ลดค่าใช้ไฟฟ้า แต่ยังช่วยเรื่องของการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการผลิตไฟฟ้าด้วย “ในส่วนนี้จะทำให้การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงไปได้ถึง 50 – 60% ทีเดียว” และเพื่อให้สอดรับกับนโยบายดังกล่าว ในอนาคตการส่งเสริมให้นักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัยร่วมกันแยกขยะอย่างชัดเจน หรือแม้แต่การรณรงค์ให้นักศึกษาหันมาใช้จักรยานภายในมหาวิทยาลัยแทนการใช้จักรยานยนต์ ก็จะช่วยลดการใช้พลังงาน และไม่ก่อให้เกิดมลพิษอีกด้วย

อธิการบดี มทร.รัตนโกสินท ย้ำด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ ไม่เพียงจะทำให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นกรีนยูนิเวอร์ซิตี้ (Green University) ที่สมบูรณ์แบบเท่านั้น “แต่ผมยังมีแนวคิดการทำงาน เพื่อนำไปสู่การจัดอันดับมหาวิทยาลัยในระดับโลก ซึ่งภายใต้การบริหารมหาวิทยาลัยของผมนับจากนี้ไป ผมสัญญาว่าจะนำพาให้ มทร.รัตนโกสินทร์ ก้าวขึ้นไปอยู่ในอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลกต่อไป”

ภาพในอนาคต มทร. รัตนโกสินทร์
อย่างที่อธิการบดีกล่าวถึง วิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนให้ มทร.รัตนโกสินทร์เป็นมหาวิทยาลัยที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม. สู่สังคมการเป็นผู้ประกอบการ และการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนนั้น “จากนี้ 4 ปีข้างหน้า ผมจะเน้นให้นักศึกษาทุกคน ทุกคณะ ได้ใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ ที่ไม่เพียงแค่เกิดประโยชน์กับตัวของเขาเองเท่านั้น แต่ยังสร้างประโยชน์และพัฒนาประเทศชาติให้มากขึ้น ซึ่งผมคิดว่าความเจริญก้าวหน้าจากนี้เป็นต้นไป มทร.รัตนโกสินทร์ จะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีเทคโนโลยีและมีนวัตกรรมอีกมาก ที่จะนำมาเผยแพร่ และช่วยกันพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศต่อไป”

ไม่เพียงเท่านั้น ความร่วมมือกับหน่วยงานภาคเอกชน ก็เป็นอีกภาพในอนาคตที่ รศ.ดร.อุดมวิทย์ มองว่าวันนี้ มทร.รัตนโกสินทร์ ได้ก้าวไปถึงระดับอินเตอร์แล้ว “โดยเฉพาะโครงการที่จับมือร่วมกับ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) นำโดยคุณแอน-จักรพงษ์ จักราจุทาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ จัดทำโครงการ โปรเจกต์รันย์เวย์ ไทยแลนด์ (Project Runway Thailand) เพื่อสร้างนักดีไซเนอร์รุ่นใหม่ระดับประเทศ ซึ่งผมมองเห็นว่ามหาวิทยาลัยของเรามีความพร้อมในทุกๆ ด้าน” ถือเป็นอีกหนึ่งโปรเจกต์ที่จะมาสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษาของมหาวิทยาลัย

ก้าวสู่มหาวิทยาลัยระดับโลก
ขณะเดียวกัน อธิการบดี มทร.รัตนโกสินทร์ ยังบอกด้วยว่า มหาวิทยาลัยแห่งนี้ยังมีวิทยาลัยผู้ประกอบการสร้างสรรค์นานาชาติ “ซึ่งมีหลักสูตรเกิดขึ้นใหม่ และสอดรับกับบริบทการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย และยังมีสถานประกอบการที่แข็งแกร่งเข้ามาช่วยสนับสนุน ซึ่งจุดเด่นอยู่ที่นักศึกษาที่เข้ามาเรียนในหลักสูตรดังกล่าว จะได้รับปริญญาบัตรถึง 2 ใบ ทั้งจาก มทร.รัตนโกสินทร์เอง และปริญญาจากสถาบันการศึกษาของฝรั่งเศส ที่จะช่วยให้นักศึกษามีความแข็งแกร่ง และมีอนาคตกว้างไกลมากขึ้น”

วันนี้ รศ.ดร.อุดมวิทย์ ไชยสกุลเกียรติ อธิการบดี จึงอาจเรียกว่าเป็นผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ที่ตอบสนองนโยบายด้านการศึกษายุคใหม่ ไปพร้อมๆ กับการนำพานักศึกษาไทยก้าวออกไปรับประสบการณ์ในโลกที่กว้างใหญ่กว่าเดิม เพื่อเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาชุมชน สังคม และสร้างประเทศไทยของเราให้แข็งแกร่งและยั่งยืน

Facebook Comments

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.