ผู้บริหารไฟแรง “คุณธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี (SCG) บุคคลสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรด้วยความมุ่งมั่น พร้อมรับมือกับทุกความท้าทาย ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน โดยไม่หยุดมองหานวัตกรรมและกลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อสร้างโอกาสและความยั่งยืนให้กับเอสซีจี
โดยในการแถลงผลประกอบการ 9 เดือน ปี 2567 เอสซีจีมีรายได้อยู่ที่ 380,660 ล้านบาท จากปริมาณการขายของเอสซีจี เคมิคอลส์ และเอสซีจีพี ในขณะที่ยอดขายกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับซีเมนต์และการก่อสร้างลดลง ส่วน EBITDA ลดลง 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 38,768 ล้านบาท กำไรสำหรับงวดและกำไรที่ไม่รวมรายการพิเศษเท่ากับ 6,854 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 75 และร้อยละ 46 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากค่าใช้จ่ายในการเดินเครื่องโครงการลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ (Long Son Petrochemicals – LSP) ที่ประเทศเวียดนาม ซึ่งค่าใช้จ่ายนี้รวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการเดินเครื่อง ทั้งที่เป็นเงินสดและค่าเสื่อมราคาที่ไม่เป็นเงินสด ประกอบกับส่วนต่างราคาสินค้าเคมีภัณฑ์และส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมที่ลดลง
ความท้าทายที่ถาโถมเข้ามา ทั้งในส่วนของความผันผวนทางเศรษฐกิจโลกที่รุนแรง ความต้องการเคมีภัณฑ์โลกชะลอตัว สินค้าจากประเทศจีนที่เข้ามาแข่งขันภายในประเทศมากขึ้น อีกทั้งผลกระทบข้างเคียงจากสงครามตะวันออกกลาง รวมถึงค่าเงินบาทของไทยที่ผันผวน ทำให้คุณธรรมศักดิ์ต้องตรึกตรอง คิดวิเคราะห์ แล้วหากลยุทธ์ในการแก้เกมระยะสั้นอย่างรัดกุม เพื่อให้เกิดผลลัพธ์รวดเร็ว ด้วยการเพิ่มความคล่องตัวและมุ่งรักษาเสถียรภาพทางการเงิน โดยลดต้นทุนภาพรวมทั้งองค์กร 5,000 ล้านบาท ภายในปี 2568 ลดเงินทุนหมุนเวียนลง 10,000 ล้านบาท ภายในไตรมาส 1 ปี 2568 ยกเลิกกิจการที่ไม่ทำกำไร ขายสินทรัพย์เพื่อเพิ่มความคล่องตัว และเน้นรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ควบคู่ไปกับการยกระดับประสิทธิภาพการผลิต รักษา EBITDA ให้อยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงทดแทนโรงงานปูนซีเมนต์ในไทย 50% ภายในปีนี้ การใช้หุ่นยนต์อัตโนมัติผลิตกระเบื้องได้อย่างแม่นยำ รวดเร็ว ลดวัสดุเหลือใช้ ฯลฯ
ขณะที่การเดินเกมระยะยาวจะมุ่งไปที่การเสริมความแข็งแกร่งตามแนวทาง Inclusive Green Growth ซึ่งนับเป็นโอกาสและความได้เปรียบทางธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถแข่งขันกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีทั่วโลก ทั้งยังช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิต โดยเร่งพัฒนาและส่งออกนวัตกรรมกรีน พลาสติกรักษ์โลก SCGC GREEN POLYMER™ ปูนคาร์บอนต่ำให้โต 100% ในปี 2568 รวมทั้งพลังงานสะอาด เติบโต 3,500 MW ในปี 2573 นอกจากนี้ยังจะมีการลงทุนอีเทน ลดต้นทุนวัตถุดิบในปิโตรเคมีเวียดนาม 700 MUSD ให้เสร็จในปี 2570 เพื่อสามารถรับก๊าซอีเทนประเทศสหรัฐอเมริกา ช่วยลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มความยืดหยุ่นของวัตถุดิบในการผลิต เงินลงทุนส่วนใหญ่เพื่อสร้างถังรับก๊าซอีเทน และสาธารณูปโภคการรับวัตถุดิบ และในขณะเดียวกัน เอสซีจีก็ยังคงมีการลงทุนในอาเซียนอย่างต่อเนื่อง
ไม่เพียงเท่านั้น ผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์เอสซีจี ยังได้รับการรับรองมาตรฐานสิ่งแวดล้อมระดับสากล (Environmental Product Declaration – EPD) ในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ต่อยอดเทคโนโลยีก่อสร้างด้วย 3D Printing พัฒนาวัสดุที่สามารถแข็งตัว และให้กำลังอัดคล้ายกับปูนซีเมนต์ชนิดพิเศษ รองรับการผลิตขึ้นรูปในตลาดโลก โดยล่าสุด SCG International ได้ส่งมอบปูนมอร์ตาร์ล็อตแรกไปยังซาอุดิอาระเบีย พร้อมแผนขยายตลาดไปยังภูมิภาคเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา รองรับภาคธุรกิจและการก่อสร้างในภูมิภาค พร้อมผลักดันโซลูชันตอบโจทย์ อุตสาหกรรมที่อยู่อาศัยรักษ์โลก “รถโม่เล็ก CPAC” เหมาะกับงานก่อสร้างในพื้นที่จำกัด และคอนกรีตคาร์บอนต่ำซีแพค ช่วยลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์เอสซีจี ยังได้รับการรับรองมาตรฐานสิ่งแวดล้อมระดับสากล (Environmental Product Declaration – EPD) ในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์อีกด้วย
ส่วน เอสซีจี เดคคอร์ นั้นมุ่งลดต้นทุน เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด พร้อมเดินหน้ารุกตลาดเวียดนามสร้างการเติบโตต่อเนื่อง มีการเร่งปรับไลน์ผลิตกระเบื้องเซรามิก เป็นกระเบื้องพอร์ซเลนขนาดใหญ่ ขยายช่องทางจัดจำหน่าย พร้อมเสิร์ฟสินค้าหลากหลายตอบโจทย์ ทั้งยังเปิดร้านจำหน่ายกระเบื้องเซรามิกและสุขภัณฑ์ V-Ceramic ร้านแรกทางภาคใต้ของเวียดนาม ในขณะที่ เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ ก็มีการเติบโตต่อเนื่อง จากความต้องการและผลักดันการใช้พลังงานสะอาดภายในประเทศมากขึ้น โดยมีการร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทย ลงนามการสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว วงเงิน 1,500 ล้านบาท เพื่อลงทุนในโครงการ Solar Private PPA (Power Purchase Agreement) สำหรับการลงทุนติดตั้งโซลาร์ในรูปแบบต่างๆ ให้กับองค์กรและบริษัท โดยมีกำลังผลิตรวม 88.5 เมกะวัตต์ และเชื่อมต่อด้วยระบบเครือข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Microgrid)
คุณธรรมศักดิ์ยังได้กล่าวว่า “ช่วงเวลาที่ท้าทายนี้ ทุกภาคส่วนต้องรวมพลังช่วยเหลือกันและกัน สำหรับเหตุการณ์อุทกภัยที่ผ่านมา เอสซีจีร่วมกับภาคีเครือข่ายให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยมอบถุงยังชีพ สุขากระดาษ เตียงกระดาษ ห้องน้ำสำเร็จรูป ตั้งโรงครัว ทำอาหารให้ชุมชน 8 แห่ง สนับสนุนวัสดุซ่อมแซมโรงเรียน 15 แห่ง ในพื้นที่ประสบภัย ส่วนภาคธุรกิจต้องเร่งปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ ให้พร้อมรับมือกับกฎเกณฑ์มาตรการที่เกี่ยวกับโลกร้อน นอกจากเอสซีจีจะจัดโครงการ Go Together ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมฯ เพื่อยกระดับความสามารถผู้ประกอบการ SMEs ให้ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แล้ว ยังได้จัดหลักสูตร NZAP (NET ZERO Accelerator Program) สำหรับผู้ประกอบการ SMEs และผู้บริหารภาครัฐรุ่นใหม่ ให้เข้าใจนโยบายภาครัฐ กลไกการค้า การเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับธุรกิจคาร์บอนต่ำ เพื่อติดอาวุธ ลดต้นทุน เพิ่มกำไร และเกิดอุตสาหกรรมสีเขียวควบคู่กับการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ”
ติดตามอ่านได้ในนิตยสาร HOWE ฉบับ 127
สามารถสั่งซื้อ E-Book ผ่านทาง Meb : https://www.mebmarket.com/ebook-338612-Howe-No–127