Biz Talk : สุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ยกระดับมาตรฐาน ส่งเสริมบุคลากรเพื่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรม

0
71

คุณสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) : GIT เชื่อมั่นว่าธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับไทยยังเป็นอุตสากรรมที่มีอนาคต และสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ พร้อมประกาศผลักดันผู้ประกอบการไทยสร้างแบรนด์ตัวเองเพื่อยกระดับสินค้าสู่ตลาดโลก พร้อมเร่งส่งเสริมหลักสูตรช่างเจียระไนพลอยร่วมกับสถาบันการศึกษาที่มีความพร้อม เพื่อสร้างแรงงานคุณภาพให้มีอาชีพที่ยั่งยืนอีกด้วย


“ภาพรวมของอุตสาหกรรมธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในช่วงปีที่ผ่านมาถือว่ามีการเติบโตขึ้นกว่า 13% ซึ่งผมมองว่าธุรกิจที่เป็นกลุ่มสินค้า Luxury ยังไปได้ ถ้าหากนับรวมกับการซื้อขายสินค้าในประเทศที่มี Buyer เดินทางเข้ามาซื้อด้วย ตัวเลขก็น่าจะสูงกว่านี้ ภาพตลาดโดยรวมถือว่าดี สังเกตได้จากการประมูลพลอยในประเทศ เพราะมีเข้ามากี่ล็อตก็มีคนเข้าประมูลขายได้หมดทุกครั้ง แสดงว่าความต้องการของตลาดยังมี ปีๆ หนึ่งมีการประมูลเกือบ 10 ครั้ง จากเหมืองระดับโลก ซึ่งมีทั้งทับทิม ไพลิน บุษราคัม และพลอยเนื้ออ่อนชนิดต่างๆ ซึ่งเป็นพลอยที่ได้รับความนิยมค่อนข้างสูง ในขณะที่เพชรแล็บมีราคาลดลง และได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ใส่เป็นเครื่องประดับ ไม่ได้สนใจว่าจะซื้อเพื่อสะสมหรือเป็นมรดก”

“ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ ประเทศไทยถือว่าเป็นตลาดใหญ่ และรับทำ OEM ให้กับแบรนด์ต่างๆ เยอะมาก สิ่งที่เราจะมุ่งเน้นพัฒนาก็คือการสร้าง Product Brand ซึ่งเราจะเห็นชัดมากว่าทุกวันนี้การรับทำOEM เราจะได้แค่ค่าแรงและค่าจำหน่ายอัญมณี ซึ่งมีมูลค่าไม่มากเมื่อเทียบกับการขายสินค้าภายใต้แบรนด์ ซึ่ง GIT อยากเห็นผู้ประกอบการที่ทำร้านจิวเวลรีหรือโรงงานให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า อย่างในต่างประเทศหลายแบรนด์จะมีความยูนีก มีแครักเตอร์ และสตอรี่ที่สร้างขึ้นมา ผมอยากให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ ซึ่งที่ผ่านมาทาง GIT ก็ให้ความสำคัญและสนับสนุนเรื่องนี้มาโดยตลอด โดยเฉพาะการวางฐานประเทศไทยให้เป็นฮับของตลาดอัญมณีและเครื่องประดับ ด้วยศักยภาพของเราไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพ ฝีมือ การออกแบบ ผลักดันให้เราเป็น ‘Thailand Land of Jewel’ ซึ่งก็จะสอดคล้องกับนโยบายรัฐที่สนับสนุนเรื่องการท่องเที่ยว เมื่อมีกลุ่มนักท่องเที่ยวมากขึ้น จิวเวลรีก็จะมียอดขายที่เติบโตมากยิ่งขึ้น ก็จะทำให้รายได้รวมเติบโตมากขึ้นกว่าเดิม”


“สำหรับในส่วนของ GIT หนึ่งนโยบายสำคัญก็คือการสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการเครื่องประดับ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสินค้าและการสร้างแบรนด์ ซึ่งเราทำแบบบูรณาการในต่างจังหวัด โดยจะเน้นจังหวัดที่มีศักยภาพในการทำเครื่องประดับ ซึ่งมีทั้งอัญมณีและวัสดุในท้องถิ่นที่สร้างจุดขายด้วยการสร้างอัตลักษณ์ มีเรื่องราว มีที่มาที่ไป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ซึ่งปีที่ผ่านมา GIT ได้เข้าไปช่วยในส่วนของ Product Development ในจังหวัดทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก เช่น เชียงใหม่ แพร่ น่าน สุโขทัย กาญจนบุรี เพชรบุรี และจันทบุรี GIT ก็จะเข้าไปช่วยสอนในส่วนของการทำตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ สอนวิธีพัฒนาสินค้าให้อยู่ในเทรนด์ที่สากลยอมรับ รวมทั้งเรายังมีโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้เรื่องการออกแบบ การทำตลาด การวางแผนธุรกิจ และการสร้างแบรนด์ โดยจะมีกูรูเข้ามาให้คำแนะนำว่าควรจะปรับตรงไหน ทำอย่างไรถึงจะประสบความสำเร็จ ซึ่งปีที่ผ่านมาก็มีผู้ประกอบการหน้าใหม่ๆ เข้ามาเยอะมาก รวมทั้งเรายังจัดงานประกวด GIT’s World Jewelry Design Awards 2024 ซึ่งมีผู้ประกอบการส่งผลงานเข้าประกวดเกือบ 900 แบบวาด จาก 27 ประเทศ ซึ่งผลงานชนะเลิศก็เป็นของคนไทยครับ”


“ถ้าถามผมถึงสไตล์การทำงาน ผมชอบให้ทุกคนในองค์กรมีส่วนร่วมในการคิด ในการพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนในองค์กร โดยเราจะจัดกิจกรรมในองค์กรอย่างต่อเนื่องทั้งเรื่อง Sustainable ซึ่งบทบาทของ GIT จะไปในทิศทางไหน น้องๆ ในองค์กรจะได้มีการ Challenge ตัวเอง ใครมีโปรเจกต์อะไรให้นำเสนอ หากน่าสนใจก็นำมาเกลาแล้วส่งให้สภาพัฒน์พิจารณา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นการสร้างโอกาสให้กับน้องๆ ในองค์กร ผมเองเป็นคนที่ค่อนข้างเข้มงวด งานที่ทำต้องออกมาดีถึงดีมาก เพราะงานของ GIT ต้องรองรับอุตสาหกรรม ฉะนั้นเราก็จะต้องมีมาตรฐานและมีความเป็นกลาง เรากำหนด GIT Standard ขึ้นมา โรงงานก็แฮปปี้ที่ใช้ Standard ของเรา ซึ่งเป็น Thailand Standard แต่มีมาตรฐานเดียวกันกับระดับโลก โดยเรามีการเทสต์เยอะมากเพื่อมาจูนให้ได้ผลที่เป็นมาตรฐาน โดยเราเข้าเป็นสมาชิกองค์กรมาตรฐานระดับสากลต่างๆ ซึ่งปีที่ผ่านมาเราก็มีการเทสต์และเทียบเคียงประสิทธิภาพของเครื่องมือใหม่ด้วยเช่นกัน”


“วันนี้ถ้าพูดถึงอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ต้องยอมรับว่าเราเป็นหนึ่งในระดับโลกในเรื่องของอัญมณี ส่วนเครื่องประดับเงินก็มียอดส่งออกเป็นอันดับหนึ่ง เครื่องประดับทองฝีมือก็ไม่ได้ด้อยกว่าที่อื่น แต่เราใช้อัญมณีเป็นตัวตั้งต้นในการทำเครื่องประดับ อย่างนาฬิกาและเครื่องประดับแบรนด์ Luxury พลอยส่วนใหญ่ก็เป็นฝีมือช่างไทยแทบทั้งหมด ตั้งแต่เจียระไน ไล่เฉดสี ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น นี่เป็นจุดแข็ง และเป็นโอกาสที่จะสร้างทิศทางที่ดีในอนาคต”

“ทั้งนี้ GIT ไม่ได้สนับสนุนแค่การสร้างแบรนด์ สร้างบุคลากร และสร้างมาตรฐานเท่านั้น แต่เรายังเป็นหน่วยงานที่พัฒนาอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เราอยากให้องค์กรเราเข้าถึงง่าย แม้จะเป็นหน่วยงานราชการ แต่วิธีทำงานไม่ใช่ราชการจ๋า ด้วยแนวทางบริหารและการให้บริการ เราจะเข้าถึงตลาด มีการปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอ วาง Positioning ของตัวเองให้ชัดเจน สิ่งสำคัญคือการสร้างแรงงานคุณภาพให้เพิ่มมากขึ้น เดี๋ยวนี้เด็ก Gen Y, Gen Z ไม่สนใจทำงานฝีมือ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เราได้ทุนจากต่างประเทศมาพัฒนาช่างเจียร คนที่มาสมัครมีแค่คนวัย 40 ขึ้นไป แต่ไม่มีเด็กรุ่นใหม่ ซึ่ง GIT ต้องหาทางว่าจะทำอย่างไรให้เด็กสนใจทำงานด้านนี้ เพราะเป็นงานที่รายได้ดีมาก”

“ช่างที่เจียรคล่องๆ สามารถสร้างรายได้วันละหลักพันบาท GIT เองจะพยายามปรับทัศนคติคนรุ่นใหม่ว่างานเจียระไนพลอยก็สนุก และท้าทายไม่แพ้การเล่นเกม และเมื่อคุณเก่งก็จะมีอาชีพที่ยั่งยืน เราเองก็พยายามร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่างๆ ที่จะสนับสนุนให้มีเด็กรุ่นใหม่เข้ามาสู่อุตสาหกรรมมากขึ้น ซึ่งมหาวิทยาลัยหลายแห่งก็มีความสนใจที่จะบรรจุหลักสูตรเข้าไปให้นักศึกษาได้เลือกเรียน วิชาเหล่านี้เป็นอาชีพสงวนสำหรับคนไทย ผมมองว่าในอนาคตช่างเจียระไนจะเป็นอาชีพที่เป็นที่ต้องการของตลาด ก็ตั้งใจว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนการสร้างแรงงานฝีมือดีให้เพิ่มมากขึ้น”

Facebook Comments

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.