ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นำกลยุทธ์เที่ยวไทยวิถีใหม่ ทะยานไกลระดับโลก

0
67

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย ถือเป็นหัวใจหลักอีกภาคส่วน ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งบุคคลที่ก้าวเข้ามารับหน้าที่บริหาร เป็นกลไกผลักดันให้การท่องเที่ยวไทยก้าวไกลก็คือ คุณฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่สร้างแรงกระเพื่อมให้ไทยมุ่งสู่การเป็นจุดหมายในฝัน ของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ได้อย่างงดงามตลอดปี 2567

การบริหารงานด้านการท่องเที่ยว มักมีโจทย์ใหม่ตลอดเวลา ด้วยความกล้าที่จะคิดนอกกรอบ วางแนวทางปฏิบัติให้ประสบความสำเร็จ พร้อมรับมือกับความท้าทายของการท่องเที่ยวในยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่าน ทำให้คุณฐาปนีย์เป็นทั้งนักปฏิบัติและผู้มีความมุ่งมั่นเต็มเปี่ยม ที่จะทำให้ทุกภารกิจบรรลุเป้าหมาย ทุ่มเทใช้ทั้งความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ที่เก็บเกี่ยวจากการทำงานใน ททท. มากว่า 25 ปี เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวไทยสู่มาตรฐานโลก ปรับโฉมการท่องเที่ยวไทยให้ทันสมัย ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวยุคใหม่ แต่ยังคงรักษาเสน่ห์ความเป็นไทยไว้ได้อย่างลงตัว การท่องเที่ยวจึงไม่ใช่เพียงแค่เครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นสะพานที่เชื่อมโลกเข้ากับเอกลักษณ์ของประเทศไทย โดยมีหลักสำคัญคือการวางกลยุทธ์ PASS เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้เติบโตอย่างยั่งยืน กลายเป็น Sustainable Tourism Destination อันดับต้นๆ ของโลกที่นักเดินทางต่างปักหมุด

การปักธงกลยุทธ์ PASS โดยตั้งเป้าให้ผลปรากฏชัดในระหว่างปี 2567 – 2570 นั้นมีหัวใจสำคัญคือ

P : Partnership 360 องศา การประสานความร่วมมือแบบรอบทิศ อย่างมีประสิทธิภาพและไร้รอยต่อ เพื่อประโยชน์ในการขับเคลื่อนทั้งห่วงโซ่อุตสาหกรรม สร้างพลังส่งเสริมการตลาดในประเทศและทั่วโลก ด้วยการสร้างพันธมิตรหรือพาร์ตเนอร์ที่อยู่ทั้งในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงที่อยู่นอกอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงแรงงาน เป็นต้น เพราะการท่องเที่ยวเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน ไม่สามารถเติบโตได้โดยลำพังอย่างยั่งยืน หากปราศจากความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงคนในชุมชนท้องถิ่น

A : Accessibility through Digital World เร่งผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนองค์กร ทั้งการตลาดและการพัฒนา ด้วยฐานข้อมูลการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังให้ความสำคัญกับการยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยว ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีบทบาทสำคัญในยุคปัจจุบัน ส่งเสริมและพัฒนาตลาดด้วยแพลตฟอร์มออนไลน์รูปแบบต่างๆ เปลี่ยนแปลงมุมมองเก่าๆ จากยุคก่อนที่มองว่า อินเทอร์เน็ตดุจดั่งแดนสนธยา ให้กลายเป็นเแดนสวรรค์สำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพราะเป็นช่องทางที่ทำให้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงข้อมูลการท่องเที่ยวไทยได้ง่ายดายเพียงแค่คลิก

S : Sub-culture Movement ก้าวสู่การตลาดคุณภาพ เจาะกลุ่มวัฒนธรรมย่อยมุ่งสู่ผู้มีอิทธิพลทางการท่องเที่ยว เพื่อร่วมสร้างแฟนคลับ ส่งเสริมภาพลักษณ์และการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถวัดผลได้ เนื่องจากในปัจจุบันกระแสกลุ่มวัฒนธรรมย่อยกำลังมาแรง เป็นกลุ่มที่ทรงอิทธิพลและมีศักยภาพสูง จึงมีการมุ่งเจาะกลุ่ม Subculture หลากหลายรูปแบบ ที่แตกมาจากกลุ่ม Mass และ Niche เช่น กลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่มีความสนใจใน Subculture อื่นเพิ่มเติม เช่น การเดินป่า การดูดาว ฯลฯ โดยนำเสนอสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยว ที่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม ช่วยขยายฐานให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

S : Sustainability ส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบให้มีความเข้มข้นยิ่งขึ้น โดยใช้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) สู่เกณฑ์การส่งเสริมการท่องเที่ยวยั่งยืนของประเทศไทย เพราะความยั่งยืนเป็นเรื่องที่ต้องเล็งเห็นถึงความสำคัญ ในโลกยุคปัจจุบันที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรง และส่งผลกระทบต่อทุกคน ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ททท. จึงผลักดันโครงการต่างๆ ที่มุ่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ตลอดจนนักท่องเที่ยวหันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม และสร้างกิจกรรมทางการท่องเที่ยวอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อาทิ รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย หรือ Thailand Tourism Awards, Carbon Foot print Hotels (CF Hotels), Sustainable Tourism Goals (STGs), Sustainable Tourism Acceleration Rating (STAR) เป็นต้น

ด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ทลายกรอบที่จำกัด พร้อมปฏิบัติเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายอันยิ่งใหญ่กว่าเก่า ทำให้ระหว่างการบริหารที่ผ่านมาตั้งแต่ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่ง มีโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ประสบความสำเร็จมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแคมเปญ 365 วัน มหัศจรรย์เมืองไทย เที่ยวได้ทุกวัน, การส่งเสริมการท่องเที่ยวในกลุ่มสมาชิก Greater Mekong Subregion (GMS), โครงการ Google Street View ร่วมกับ Google Thailand, นโยบาย Visa Exemption โครงการ Workation Thailand ล้วนเป็นการวางกลยุทธ์การตลาดเชิงรุก และการสร้างสรรค์แคมเปญระดับโลก ซึ่งช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ตลอดปี 2567 ที่ผ่านมา ผลลัพธ์ได้ปรากฏให้เห็นอย่างโดดเด่นแล้วว่า ภายใต้การกุมบังเหียนของคุณฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ แม่ทัพหญิงแกร่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้โลดแล่นก้าวข้ามขีดจำกัด นำพาสู่จุดหมายใหม่ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม เปลี่ยนความท้าทายให้เป็นโอกาสทองของการท่องเที่ยวไทย โดยไม่ลืมที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาคต่างๆ เพื่อกระจายรายได้และสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงาน เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวใหม่ๆ ตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป และส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนพร้อมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทยในสายตานานาชาติ ส่งผลให้เกิดการลงทุนและการพัฒนาในภาคส่วนอื่นๆ ตามมา  

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จึงสามารถก้าวสู่มาตรฐานใหม่ของความสำเร็จ พร้อมวางรากฐานสู่อนาคตที่มั่นคงและยั่งยืน สร้างแรงบันดาลใจในการสืบทอดความสำเร็จนี้ต่อไปอย่างแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ติดตามอ่านได้ในนิตยสาร HOWE ฉบับ 128


สามารถสั่งซื้อ E-Book ผ่านทาง Meb : https://www.mebmarket.com/ebook-346523-

Facebook Comments

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.