THE BEST CEO 2024 (GREEN CEO) “ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ” ประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) ผู้บุกเบิกธุรกิจพลังงานสะอาด รายแรกในไทย-อาเซียน

0
403

“พลังงานไฟฟ้า” เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญโลกในการดำรงชีวิต และสร้างการขับเคลื่อนในธุรกิจให้เติบโต ซึ่งเดิมเราอาจคุ้นชินกับการใช้พลังงานไฟฟ้าที่มาจากเขื่อน หรือ เชื้อเพลิงประเภทฟอสซิล แต่วันนี้เรามีทางเลือกใหม่ในการผลิตกระแสไฟฟ้า นั่นคือ การใช้ “พลังงานแสงอาทิตย์” หรือ “โซลาร์เซลล์ (Solar Energy) ซึ่ง ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นรายแรกในประเทศไทย และในอาเซียนก็ว่าได้

 ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า SPCG เป็นธุรกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์มานานกว่า 10 ปี “เราเป็นธุรกิจที่ขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐเป็นหลัก โดยเราได้มีการลงทุนในธุรกิจโซลาร์ฟาร์ม เพื่อขายให้กับภาครัฐมาตลอด แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ธุรกิจนี้กลับไม่มีการเติบโตในประเทศไทยเลย ทำให้เราต้องออกไปลงทุน และเติบโตในต่างประเทศ”

ล่าสุด SPCG ได้เข้าไปลงทุนด้านพลังงานโซลาร์ฟาร์มในประเทศญี่ปุ่น “เรานำเม็ดเงินจากประเทศไทยไปลงทุนในญี่ปุ่นถึง 500 เมกะวัตต์ เรียกว่าเป็นการลงทุนเพื่อให้เกิดธุรกิจพลังงานสีเขียว เพราะเราคาดหวังว่าพลังงานสีเขียว จะเป็นพลังงานสำคัญของโลก ท่ามกลางกระแสพลังงานสะอาดที่ทั่วโลกให้ความสนใจ และสนับสนุนกันมาอย่างต่อเนื่อง” ประธานกรรมการ SPCG กล่าวด้วยว่า การใช้พลังงานสะอาด ถือเป็นส่วนหนึ่งของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่จะช่วยให้การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลกลดลง

 นอกเหนือจากธุรกิจพลังงานสะอาดในวันนี้แล้ว การขยายธุรกิจในอนาคต ยังเป็นส่วนหนึ่งในแผนการดำเนินธุรกิจ ที่จะมาต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่ รวมถึงยังเป็นแผนที่ทางประธานกรรมการ SPCG วางเอาไว้ “ต้องบอกก่อนว่าวันนี้บริษัทก็มองการลงทุนในเรื่องของการพัฒนาที่ดินเอาไว้เหมือนกัน เนื่องจาก SPCG ในวันนี้ เรามีที่ดินอยู่ถึง 8,000 – 10,000 ไร่ หรือคิดเป็น 30% จากที่ดินทั้งหมดที่มี ส่วนนี้เองที่เรามองว่าจะมาช่วยเรื่องของการขยายธุรกิจของเรา และตอนนี้อยู่ระหว่างการทำแผนกันอยู่”

 ส่วนเรื่องของความคาดหวังในเรื่องของการสร้างการเจริญเติบโต ให้กับธุรกิจพลังงานสะอาด “วันนี้เรามองว่าธุรกิจสีเขียวเป็นสิ่งที่ชัดเจนมากที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่โลกวันนี้ไปไกลในเรื่องพลังงานสะอาดมากกว่าประเทศไทย ขณะที่ประเทศของเราเองก็เพิ่งประกาศความเป็น Net Zero หรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2065 ขณะที่กว่า 80% ของประเทศทั่วโลก ประกาศไว้ที่ 2050 ซึ่งก็จะทำให้หลายๆ ธุรกิจในประเทศไทยเสียโอกาส เพราะฉะนั้นในวันนี้สิ่งที่รัฐบาลไทยต้องเตรียมความพร้อมก็คือ การทำให้เกิดการใช้พลังงานสะอาด ให้พอเพียงสำหรับอุตสาหกรรมในอนาคตให้ได้” ดร.วันดีตอกย้ำอย่างหนักแน่นด้วยว่า วันนี้ปริมาณการผลิตพลังงานสะอาดในประเทศไทย ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการจริงๆ

 “หากจะให้มีพลังงานสะอาดใช้อย่างเพียงพอ ก็ต้องเปิดเสรีแบบใครใคร่ติดตั้งก็ติดตั้ง ใครใคร่ใช้ก็ใช้ เพื่อให้เกิดการแข่งขัน และนั่นก็จะทำให้ราคาของพลังงานสะอาดลดลงเอง แต่เมื่อรัฐบาลเข้าไปควบคุมในทุกเรื่อง ก็จะทำให้มีปัญหาในภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ รวมถึงภาคการส่งออก และด้วยการกดดันจากกติกาของโลกในเรื่องนี้  ดังนั้นเราเชื่อมั่นเลยว่าประเทศไทยจะต้องเดินเข้าสู่การใช้พลังงานสะอาด แต่อยากจะบอกว่าหากเรายิ่งช้า เราก็ยิ่งเสียเปรียบ” ดร.วันดี กล่าว

 “หากจะให้เรามองตัวเองในธุรกิจนี้อย่างไร สิ่งแรกเลยเราเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจพลังงานสะอาดรายแรกในประเทศไทย และเป็นรายแรกๆ ในอาเซียน ด้วยความยากลำบากกว่า 13 ปีที่ผ่านมา และวันนี้ก็จะเป็นหน้าที่ของคนรุ่นต่อไป ที่ต้องลุกขึ้นมาพูดถึง Energy Democracy หรือ ประชาธิปไตยด้านพลังงาน ในการทำให้ตัวเองมีสิทธิ์ใช้ หรือขายพลังงานสะอาดต่อไป”

 กระนั้นก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ ดร.วันดีไม่อยากให้มองข้ามในเรื่องของธุรกิจพลังงานสะอาด ก็คือ ช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน หรือที่เรียกว่า Energy Transition “ในช่วงการเปลี่ยนแปลงนี้สำคัญ หากมีการใช้พลังงานสะอาดเยอะขึ้น กลุ่มผู้ผลิตพลังงานฟอสซิลก็จะมีปัญหา และเกิดความขัดแย้งกัน แต่หากเราไม่สามารถก้าวข้ามผ่านช่วงเวลานี้ได้ ก็เท่ากับประเทศไทยเสียผลประโยชน์อย่างมาก” ดร.วันดียังทิ้งท้ายด้วยว่า วันนี้ภารกิจสำคัญอย่างที่อยากทำ และกำลังทำอยู่ก็คือ การทำให้เกิดการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า และการประหยัดพลังงานทั้งหลาย แต่ทั้งนี้ก็อยากให้ภาครัฐ หันมาทำความเข้าใจในเรื่องของความสำคัญของการใช้พลังงานสะอาด ในการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ ให้เกิดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในโปรดักส์ ที่จะมาช่วยให้ธุรกิจของประเทศไทย เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

Facebook Comments

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.