THE 50 INFLUENTIAL PEOPLE 2022 “สมชัย เลิศสุทธิวงค์” เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ขยัน ซื่อสัตย์ พัฒนาตัวเอง

0
539

การจะพาองค์กรให้ฝ่าวิกฤติ พร้อมๆ กับสร้างความเติบโตให้กับองค์กรธุรกิจไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย แต่คุณสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CHIEF EXECUTIVE OFFICER) บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส หนึ่งใน CEO แถวหน้าของเมืองไทยที่เริ่มต้นทำงานจากการเป็นพนักงานธรรมดา และเลื่อนตำแหน่ง จนได้ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของบริษัท คุณสมชัยเล่าว่า เส้นทางการเติบโตของชีวิตไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ด้วยความชอบที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ เป็นคนขยัน และไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาตัวเอง ทำให้เขาสามารถพาบริษัทเติบโตได้อย่างยั่งยืน

“ผมเริ่มงานกับกลุ่มชิน คอร์เปอร์เรชั่น ที่ปัจจุบันคืออินทัช ตั้งแต่ปี 2533 จากพนักงานธรรมดาๆ คนหนึ่ง และได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นมาเรื่อยๆ จนได้เป็น CEO ของ AIS ที่ต้องรับผิดชอบดูแลลูกค้ากว่า 45 ล้านเลขหมาย และดูแลรายได้กว่าปีละแสนล้านบาท ซึ่งผมเชื่อว่า เส้นทางของมืออาชีพไม่มีทางลัด การเรียนรู้ผ่าน Job Rotation จะมีส่วนช่วยให้เราได้เรียนรู้และเติบโตตลอดเวลา ผมจึงยินดีรับหน้าที่ต่างๆ ตามที่ได้รับมอบหมายใหม่อยู่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่คนอื่นๆ ไม่อยากรับ เพราะทำงานอยู่ที่เดิมเข้าที่เข้าทางดีแล้ว ไม่ต้องเหนื่อยมาก ผมทำทุกอย่างตั้งแต่การเป็น Sale ก่อนย้ายมาดู Business Relations ที่ต้องประสานกับ Regulator เพื่อขออนุมัติทำเรื่องต่างๆ ก่อนเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้พัฒนาบริการเสริมให้กับโทรศัพท์เคลื่อนที่ จนได้ขยับขยายมาดูงานการตลาดทั้งหมดในตำแหน่ง CMO ก่อนถูกคัดสรรมาเป็น CEO ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน”

“อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมภาคภูมิใจในการดำรงตำแหน่ง CEO ของ AIS คือการสร้าง Business Model ใหม่ๆ ของการให้บริการเสริมบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ ให้สามารถทำได้นอกเหนือจากการติดต่อสื่อสาร คือรับสายหรือโทรออกเท่านั้น หนึ่งในนั้นก็คือ การเสิร์ฟข่าวด่วนบนมือถือ ด้วยแนวคิดข่าวด่วนวันละ 1 บาท เดือนละ 29 บาท โดยที่ขณะนั้น ค่าส่ง SMร ปกติก็ครั้งละ 3 บาทแล้ว แต่นี่มีการรายงานข่าวผ่านข้อความวันละอย่างน้อย 3 -5 SMS แล้ว ซึ่งคนที่ใช้จริงๆ จะทราบว่าเป็นบริการที่ถูกและมีประโยชน์มาก ซึ่งตอนนั้นได้รับความนิยมจากลูกค้าอย่างมากและหลังจาก AIS ติดต่อเข้ามาเพื่อขอให้บริการกับลูกค้า”

“อีกเรื่องหนึ่งที่ผมรู้สึกประทับใจ และภาคภูมิใจก็คือ การปรับเปลี่ยนองค์กรจาก Telecom Operator สู่ Digital Life Service Provider และล่าสุดทางบริษัทได้เตรียมยกระดับสู่การเป็น Cognitive Tech-Co หรือองค์กรอัจฉริยะต่อไป ทำให้วันนี้ AIS ไม่ได้มีแค่บริการมือถือเท่านั้น แต่มี Fix Boardbrad, Enterprise Solution และ Digital Platform ต่างๆ ให้บริการกับลูกค้าอีกด้วย”

หลักการในการดำเนินชีวิตและธุรกิจของผมคือ ขยัน ซื่อสัตย์ พัฒนาตัวเอง ถ้าเราขยัน เราจะได้ฝึกฝนจนมีความชำนาญ ถ้าซื่อสัตย์ก็ได้รับความไว้วางใจ และได้ขยายความสามารถของเราเพิ่มขึ้น ถ้าไม่หยุดเรียนรู้ เราก็รับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้

“ถ้าถามผมว่าช่วงชีวิตที่ผ่านมามีเหตุการณ์ไหนที่ท้าทายตัวเองและองค์กร ผมว่าคงเป็นเรื่องการบริหารจัดการคลื่นความถี่ ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ แต่ AIS มีคลื่นความถี่อยู่อย่างจำกัด จึงต้องใช้ความสามารถด้านเทคนิคขั้นสูงในการจัดการคลื่นความถี่ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ทำให้เราทำงานยากกว่าคู่แข่ง ประกอบกับในช่วงที่ผมเข้ามารับตำแหน่ง CEO เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบบสัญญาร่วมการงาน มาเป็นระบบใบอนุญาตด้วย คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ซึ่งเป็น Regulator ใหม่ตามกฎหมาย แทนองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเดิม ได้เปิดให้ประมูลคลื่นความถี่เดิมที่เราใช้อยู่”

“หากยังจำกันได้ถึงการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHZ ที่ยาวนานถึง 65 ชั่วโมง 55 นาที เพราะมีหลายบริษัทเข้าประมูล โดยในรอบแรกเราประมูลมาไม่ได้ จึงต้องเสี่ยงกับสถานการณ์ซิมดับที่ลูกค้าเราจะใช้งานไม่ได้ จนต้องไปขอศาลปกครองกลางให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งท่านก็เมตตา ออกคำสั่งคุ้มครองมาอย่างเฉียดฉิว และท้ายที่สุด AIS ก็ได้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHZ มาจากการประมูลครั้งที่ 2 เพื่อนำคลื่นมาให้บริการลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องต่อไป ซึ่งกรณีทั้งหมดนี้ถือเป็นความท้าทายอย่างมาก”

“การที่ผมผ่านวิกฤตนั้นมาได้ เพราะผมมีแนวคิดในเวลาที่คับขันตอนนั้นก็คือธุรกิจมีสมหวัง ผิดหวัง เราไม่ใช่พระเจ้าที่จะควบคุมอะไรได้ทุกอย่างตามที่ต้องการ หากถึงจุดที่เราไปต่อไม่ได้แล้วก็อย่าฝืน ยอมหยุด ยอมถอย เพื่อหาทางออกใหม่ ไม่ใช่ดื้อดึงประมูลต่อไปเพื่อให้ได้มา ซึ่งบริษัทอาจเสียหายในอนาคตได้ ตัดสินใจอะไรไปแล้ว ผลจะเป็นอย่างไรก็ต้องรู้จักปล่อยวาง ต้องไม่มีคำว่าเสียใจ เพราะถือว่าได้คิดได้ทำทุกอย่างอย่างดีที่สุดแล้ว จึงตัดสินใจเช่นนั้น และเราก็ผ่านพ้นเรื่องเหล่านั้นมาได้”

“ถ้าถามผมถึงมุมมองเกี่ยวกับการบริหารของนักธุรกิจ และผู้บริหารรุ่นใหม่ ผมอยากให้มองธุรกิจแบบสลากกินแบ่ง ไม่ใช่สลากกินรวบ เราต้องเชื่อในพลังของพาร์ตเนอร์ คู่ค้า และลูกค้า เพื่อสร้างสมดุลใน Ecosystem ของอุตสาหกรรมให้เหมาะสมและลงตัว และเมื่อเราทำแบบนั้นได้ก็จะทำให้เราเติบโตได้อย่างยั่งยืน เพราะในยุคนี้สิ่งที่ต้องมองมากกว่าการเติบโตอย่างรวดเร็วและการมีกำไรมหาศาลก็คือ การเติบโตอย่างยั่งยืน และสร้างประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม เพื่อให้ทุกคนโตและอยู่รอดไปด้วยกัน ที่สำคัญคือเมื่อคุณเติบโต แข็งแรง ใหญ่โตแล้ว จงทำตัวเป็นปลาใหญ่ที่จะช่วยพาปลาเล็กให้อยู่รอดด้วย มิใช่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก แบบการทำธุรกิจด้วยวิธีคิดแบบผูกขาด การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จไม่จำเป็นต้องรอดคนเดียว แต่ต้องพึ่งพากัน เพื่อให้ทุกคนอยู่รอดจึงจะเป็นการทำธุรกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืน”

Facebook Comments

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.