วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันวาเลนไทน์หรือวันแห่งความรัก โดยมีการแสดงความรักด้วยวิธีต่างๆ ทั้งการมอบของขวัญแทนใจ เช่น ดอกกุหลาบ ช็อกโกแลต เป็นต้น นอกจากนี้อาจมีวัยรุ่นบางส่วนตัดสินใจมีเพศสัมพันธ์กัน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ทำให้เกิดปัญหาท้องไม่พร้อมหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ตามมาได้
สถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ของประเทศไทยในปี 2562 พบว่า อัตราป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 5 โรคสำคัญ มีแนวโน้มสูงขึ้น ได้แก่ หนองใน ซิฟิลิส หนองในเทียม แผลริมอ่อน และกามโรคของต่อมและท่อน้ำเหลือง ซึ่งโรคที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุดในทุกกลุ่มอายุ คือ โรคหนองใน 14.8 และโรคซิฟิลิส 13.2 โดยข้อมูลจากรายงานการเฝ้าระวังโรค ของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 พบว่ากลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี มีอัตราป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 5 โรคสำคัญสูงถึง 124.4 ต่อประชากรแสนคน และหากแยกรายโรคพบว่า มีอัตราป่วยด้วยโรคหนองในสูงถึง 69.7 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาคือ ซิฟิลิส 41.4 ต่อประชากรแสนคน นอกจากนี้ ผู้ป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีได้ง่ายกว่าคนทั่วไป 5-9 เท่า และอาจเกิดการตั้งครรภ์โดยไม่ป้องกัน
ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในวันวาเลนไทน์ปีนี้ กรมควบคุมโรค ขอให้คู่รักเลือกใช้วิธีแสดงความรัก โดยเว้นระยะห่างระหว่างกันและลดการออกนอกบ้าน เช่น ส่งของขวัญให้กัน บอกรักผ่านวีดิโอคอล เป็นต้น หากจำเป็นต้องออกนอกบ้าน ขอให้ใช้มาตรการป้องกันโรคโควิด 19 อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น ขอให้ใช้มาตรการดังกล่าวควบคู่กับการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการติดเชื้อเอชไอวี โดยตระหนักถึงการป้องกันตนเองและคู่ให้ปลอดภัย และใช้ถุงยางอนามัยให้เป็นเรื่องปกติในการดูแลสุขภาวะทางเพศ รวมถึงการมีความรับผิดชอบต่อคู่และสังคม ตามแนวคิด “New Normal New Safe SEX : ชีวิตวิถีใหม่กับเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย” ดังนี้
1.Safe SEX is No SEX วิธีการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยที่สุด คือ การไม่มีเพศสัมพันธ์ หรือเลือกใช้วิธีการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองในที่ส่วนตัว และลดการสัมผัสระหว่างกัน เพื่อปลอดภัยจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
2.One Love รักเดียวใจเดียวและมีเพศสัมพันธ์กับคู่รักที่อยู่ร่วมกันโดยใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์กับทุกช่องทาง และหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่พึ่งรู้จัก หรือคนที่ไม่รู้สถานะการติดเชื้อ
3.Testing Together หากมีอาการของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อขอรับการตรวจทันที ไม่ควรซื้อยากินเอง พร้อมทั้งชวนคู่ไปตรวจและงดการมีเพศสัมพันธ์ในระหว่างการดูแลรักษา
4.Start Condom Safe your SEX พกอุปกรณ์ป้องกันให้พร้อมตลอดเวลา เช่น ถุงยางอนามัย
5.New Normal New Safe SEX ชีวิตวิถีใหม่ โดยการใช้หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า เพื่อป้องกันการรับเชื้อโควิด 19 จากการใช้ชีวิตประจำวัน และใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ รวมถึงการทำความสะอาดร่างกายก่อนและหลังมีกิจกรรมร่วมกัน เพื่อเข้าสู่ยุคชีวิตวิถีใหม่กับเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย
ขอบคุณ ที่มา : กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค